Entertainmerce กลยุทธ์ “อาร์เอส” สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

มองเผิน ๆ เหมือนการรีแบรนด์ของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เมื่อไม่นานผ่านมา อาจเป็นเพียงแค่การปรับตัวทางธุรกิจ เพราะอย่างที่ทราบโลกธุรกิจในปัจจุบันถูกดิสรัปต์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจของอาร์เอสทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับเพลง, วิทยุ, ทีวี, โปรดักต์คอมปะนี และอาร์เอส มิวสิค

ที่ล้วนอยู่ในวังวนของการดิสรัปต์ทางธุรกิจทั้งสิ้น

แต่กระนั้น ถ้ามองให้ลึกลงไป กลับพบว่าการเดินทางของอาร์เอส กรุ๊ปนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2525 มาจนถึงปัจจุบันในปี 2563 เพื่อจะก้าวต่อไปในอนาคต “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) คงไม่คิดแค่นำพาองค์กรให้เติบโตทางธุรกิจในระยะสั้น และระยะกลางเท่านั้น

แต่เชื่อแน่ว่าเขาคงมองการดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

เพียงแต่การเดินทางไปถึงจุดนั้น ๆ ไม่เพียงต้องมีทีมงานที่ดี หากยังจะต้องมีการดำเนินกลยุทธ์ที่มีแบบแผนอย่างชัดเจน ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “สุรชัย” หันมาใช้กลยุทธ์ “entertainmerce” ด้วยการนำ “entertainment” กับ “commerce” เข้ามาผนึก หรือผสมผสานกันในการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ไป

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

ชูกลยุทธ์ Entertainmerce ขับเคลื่อนธุรกิจ

ฉะนั้น ในทุก ๆ business unit ของอาร์เอส กรุ๊ป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ entertainment อาทิ ช่อง 8, Coolism และ RS Music หรือธุรกิจ commerce อาทิ RS Mall และ Life Star ฯลฯ จะต้องใช้ commerce เข้าไปขับเคลื่อนในทุก ๆ ธุรกิจ

เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในธุรกิจ entertainment อยู่ที่ 35% ขณะที่ธุรกิจ commerce มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 65% ดังนั้น หลังจากนำกลยุทธ์ entertainmerce เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ จึงเชื่อแน่ว่าสัดส่วนรายได้ในอนาคต เฉพาะกลุ่มหลังน่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 80%

เพราะ “สุรชัย” มองว่าธุรกิจต่อจากนี้จะเติบโตใน 2 มิติ ดังนี้

หนึ่ง เติบโตใน (แนวตั้ง) คือรุกจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่

สอง เติบโตใน (แนวราบ) ด้วยการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ JV (joint venture) หรือ M&A (mergers and acquisitions) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

อาร์เอสเจรจาพาร์ตเนอร์ต่อยอดธุรกิจ

โดยเฉพาะในมิติที่ 2 “สุรชัย” ยอมรับว่า…การทำธุรกิจวันนี้ไม่มีกรอบ ไม่มีโจทย์ แต่ต้องมีเป้าหมาย และไม่ต้องชัดเจนมาก ขอแค่เพียงนัว ๆ ก็พอ แต่เมื่อเราเข้าไป ภาพของธุรกิจจะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ ว่าต่อจากนี้ไปถ้าอาร์เอสจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องเน้นการต่อยอดทางธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว

“ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์อยู่ 2-3 ราย จริง ๆ เราคุยกันมา 1 ปีแล้ว แต่ติดช่วงโควิด-19 ระบาด จึงหยุดการเจรจาก่อน แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาเวิร์กกันต่อ ซึ่งมีทั้งธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน และธุรกิจที่เข้ามา synergy กับธุรกิจเดิม แต่ทั้งนั้นต้องเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ด้วย ฟังดูตอนนี้อาจกว้างไปหน่อย แต่คอนเซ็ปต์ของผมคือเราจะ full feel lifestyle ด้วยการเติมเต็มชีวิตของผู้คน เพียงแต่ตอนนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ ผมเชื่อว่าประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 การเจรจาน่าจะแล้วเสร็จ โดยผมจะใช้เม็ดเงินส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อต่อยอดธุรกิจ”

“จริง ๆ มีความเป็นไปได้ทั้งหมด เพราะเราไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ถ้าคุยกันแบบเปิดอกคือผมยังไม่รู้ว่าเราจะไปในธุรกิจใดต่อจากนี้ แต่วิธีคิดของผมคือเราต้องทำองค์กร และคนให้พร้อมอยู่เสมอ ฉะนั้น แทนที่จะมานั่งคิดว่าอะไรจะมา disruption อีก เราก็แค่เตรียมความพร้อมทุกอย่างให้จบ และเราจะปรับตัว และตั้งรับเร็วกว่าคนอื่น ยิ่งถ้าโอกาสมาเร็ว เราก็คว้า เพื่อลงมือทำทันที”

ดึงค่านิยม 4 ประการสร้างทีมคุณภาพ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “สุรชัย” ให้ความสำคัญกับ “ค่านิยมองค์กร” 4 ประการค่อนข้างมาก เพราะ “ค่านิยม” ไม่เพียงเป็นตัวตนของเขานับแต่ก่อตั้งบริษัทโรสซาวด์สมัยเมื่อยังหนุ่ม ๆ

หากยังเป็นหมุดหมายของ “อาร์เอส กรุ๊ป” เพื่อให้ทุกคนเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วย

หนึ่ง แรงบันดาลใจ (inspiring)

สอง แรงผลักดัน (passionate)

สาม ใฝ่เรียนใฝ่รู้ (inquisitive)

สี่ แน่วแน่ที่เป้าหมาย (goal-oriented)

“ผมต้องบอกว่าตลอดเวลาผ่านมาอาร์เอสเปลี่ยนแปลงตลอด แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมักสร้างแรงกดดันให้กับคนในองค์กรเสมอ และผ่านมาผมยอมรับว่าในระหว่างทางอาจมีคนอาร์เอสหายไปบ้าง บางคนยอมยกธงขาว ขณะที่บางคนกลับรู้สึกสนุกต่อการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง เอาง่าย ๆ อย่างตอนที่อาร์เอสทำคอมเมิร์ซ ผมพบว่าพนักงานของเรามีความสนุกในการทำงาน ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะเขาเข้าใจในค่านิยมองค์กรทั้ง 4 ประการ และเขารู้อยู่แล้วว่าค่านิยมนี้คือตัวผมที่อยากจะปลูกฝังให้ลงไปอยู่ในตัวพวกเขาด้วย”

ปัดฝุ่นค่ายเพลงลอนช์ตลาดตุลาคมนี้

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “สุรชัย” จะปรับธุรกิจ RS Music ที่มีค่ายเพลงในตำนานอย่าง Rsiam, Kamikaze และ Rose Sound ให้เป็น new business model โดยใช้กลยุทธ์ entertainmerce เข้ามาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แม้เขาจะยอมรับว่าผ่านมาธุรกิจค่ายเพลงค่อนข้างอยู่ยาก แต่เมื่อถึงจังหวะนี้ เขากลับมีความเชื่อมั่นว่า…ถึงเวลาแล้ว

“การที่ผมกลับมาทำค่ายเพลงอีกครั้งเพราะมี business model มารองรับเท่านั้นเอง ผมเชื่อว่าเพลงไม่เคยซบเซา คนฟังเพลงไม่เคยน้อยลง เพียงแต่ธุรกิจกับเพลงมันอยู่ตรงกันข้ามเท่านั้นเอง ผมรู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ เมื่อไหร่ควรรุก และเมื่อไหร่ควรถอย ตรงนี้คือหัวใจของนักธุรกิจที่ดี ดังนั้น การปัดฝุ่นค่ายเพลงครั้งนี้ ผมจึงวางตำแหน่ง Rsiam ให้เป็นลูกทุ่งร่วมสมัย มีความเป็นเมืองมากกว่าที่ผ่านมา และคนฟังจะจับต้องได้มากขึ้น ส่วนค่าย Kamikaze กลุ่มผู้ฟังจะมีอายุตั้งแต่ 25 ปีลงมา เป็นค่ายเพลงที่จับตลาดวัยรุ่น แต่ไม่ใช่วัยทีน พูดง่าย ๆ ว่า position ของเราต้องวางให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ส่วน Rose Sound จะเป็นกิมมิกของผมที่จะทำเพลงให้กับคนรุ่นอายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะเพลงจะเป็นตัวสะท้อนวัฒนธรรมของคนในแต่ละรุ่น”

“ดังนั้น ราวเดือนตุลาคมทุกคนจะเห็นศิลปินของทั้ง 3 ค่าย ซึ่งเป็นศิลปินเดี่ยวทั้้งหมด ชาย และหญิง ที่สำคัญ การทำธุรกิจเพลงในวันนี้เราต้องต่อยอดธุรกิจจากศิลปินที่เรามี เพื่อไปเติมเต็มกับธุรกิจในกรุ๊ป เพราะเรามี RS Mall ที่ผนวกเรื่องธุรกิจช็อปปิ้งกับความบันเทิงเข้าด้วยกัน ส่วนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่เรามีอยู่แล้วในสื่อออนไลน์ก็ถือเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของเขา แต่รายได้หลัก ๆ ของศิลปินคงมาจากการต่อยอดทางธุรกิจที่อยู่ภายใต้ entertainmerce ซึ่งก็ win win game ระหว่างเขากับเรา”

“ดังนั้น ศิลปินใน RS Music ตอนนี้ นอกจากจะต้องร้องเพลงเพราะ ยังจะต้องเก่ง มีไลฟ์สไตล์ และมีบุคลิกเฉพาะตัว เพื่อเราจะสร้างตัวตนของเขาให้มีคุณค่าเพิ่มเพื่อไปต่อยอดในทุก ๆ community ที่เขามี พูดง่าย ๆ ศิลปินของเราต้องเป็น star ภายใต้ entertainmerce และที่สำคัญ ศิลปินยุคนี้ไม่จำเป็นต้องทำงานกับอาร์เอสเพียงอย่างเดียว เขาสามารถไปทำงานให้กับค่ายอื่น ๆ หรือวงการอื่น ๆ ก็ได้ เพื่อเขาจะมีรายได้จากมูลค่าเพิ่มของตัวเองไปต่อยอด ผมว่าการทำธุรกิจสมัยใหม่ต้องคิดแบบนี้แล้ว”

เป็นการคิดเพื่อมองไปข้างหน้า

เป็นการคิดของ “อาร์เอส กรุ๊ป” ที่ “สุรชัย” เชื่อว่า…โลกธุรกิจวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ?