ธุรกิจเหล้า-เบียร์ร้องรัฐเร่งแก้มาตรา 32 ห้ามโฆษณา-ยกเลิกการห้ามขายออนไลน์

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายมาตรา 32 ห้ามโฆษณา-ยกเลิกการห้ามขายออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ได้จัดงานวิเคราะห์ปัญหา พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในห้วข้อ “เศรษฐกิจ-โควิด กับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในประเด็นที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่เป็นธรรม พร้อมขอให้ยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งประกาศไปล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา

ธนากร คุปตจิตต์
ธนากร คุปตจิตต์

“กฎหมายดังกล่าวล้วนส่งผลเสียและกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม เป็นการซ้ำเติมความบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและจากการระบาดของโรคโควิด-19 ให้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว”

นายธนากร ระบุว่า มาตรา 32 มีความล้าสมัยเนื่องจากถูกบังคับใช้มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ โดยอาศัยการตีความและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าปรับที่กำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผลตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท รวมถึงเรื่องสินบนรางวัลที่เจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแส จะได้ส่วนแบ่งพร้อมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับ ในขณะที่จะมีเงินเข้ากระทรวงการคลังเพียงร้อยละ 20 ของค่าปรับเท่านั้น

สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการชักจูงโดยตรงหรือโดยอ้อม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

ด้านปัญหาของกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ นายธนากรระบุว่า มาตราดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่อาจต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีช่องทางในการทำธุรกิจและการแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการผูกขาด เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายสามารถใช้ประโยชน์จากการปิดกิจการของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง อีกทั้งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ส่วนการอ้างเหตุในการออกประกาศการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกินจำเป็น และถือว่าไม่เป็นการควบคุม แต่มุ่งกำจัดเพราะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์นั้นสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อ การทำธุรกรรมซื้อขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าย้อนหลังได้

“จึงไม่มีเหตุจำเป็นในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ แต่ควรให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากช่องทางอื่นได้ แม้ไม่มีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เช่น สินค้าปลอม สินค้าหนีภาษี และการพนันออนไลน์ เป็นต้น” นายธนากรกล่าว