สินค้าอายุรเวทอินเดียบูมสุดๆ ธุรกิจ “อาหาร-เครื่องดื่ม” โดดลุยเพียบ

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน-แผนโบราณในหลายประเทศกลับมาเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่อีกครั้ง โดยอายุรเวทศาสตร์การแพทย์ของชาวฮินดู เป็นหนึ่งในศาสตร์ที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวอินเดียรุ่นมิลเลนเนียล หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2525-2543 ปัจจุบันมีอายุประมาณ 20-38 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

ความนิยมนี้กระตุ้นให้บรรดาธุรกิจในแดนภารตต่างนำสูตรยาอายุรเวทมาผลิตเป็นสินค้า ทั้งอาหาร-เครื่องดื่ม อาทิ เครื่องดื่มชูกำลังผสมสมุนไพรหิมาลัย สมุนไพรอายุรเวทแบบผงสำหรับชงดื่ม ขนมกัมมี่ เมนูอาหาร ไปจนถึงสินค้าความงามและเสื้อผ้า ออกมาวางขายกันอย่างคึกคัก นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากภาพลักษณ์ของศาสตร์อายุรเวทเดิมที่อยู่คู่กับชาวอินเดียมานานในฐานะความเชื่อพื้นบ้านคล้ายยาหม้อของไทย

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียนรายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นชาวอินเดียรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น โดยตามการสำรวจของรัฐบาลพบว่า ในกลุ่มชาวอินเดียอายุ 20-38 ปีนั้น 45% ให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นเรื่องหลัก โดยยอมลงทุนเป็นพิเศษกับสินค้า-บริการที่ตอบโจทย์สุขภาพของตน

สอดคล้องกับผลของบริษัทวิจัยรีเสิร์ช แอนด์ มาร์เก็ต ที่ระบุว่า ชาวอินเดียกลุ่มเดียวกันนี้ซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่มีกำลังซื้อสูง จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดอายุรเวทในอินเดียให้มีมูลค่าแตะ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่าจากมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2561

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังเดินหน้าสนับสนุนอายุรเวทด้วยการเพิ่มงบฯให้กับกระทรวงศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน หรือ AYUSH เป็น 2 เท่าในช่วงปี 2563-2564 นี้

แนวโน้มที่ตลาดจะเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ดึงดูดให้ภาคธุรกิจพากันมาร่วมกระแสเพื่อสร้างการเติบโต จนมีสินค้าอายุรเวทสไตล์โมเดิร์นเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกอม, น้ำสมุนไพร, ผงสำหรับชงดื่ม และอื่น ๆ

โดย “ดาบัว” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของอินเดีย เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมกระแสนี้ด้วยการเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าด้วยการนำสูตรอายุรเวทมาผลิตเป็นสินค้าหลากหลาย อาทิ น้ำมะขามป้อม ลูกอมกะเพรา น้ำกะเพรา รวมไปถึงชุดเสริมภูมิคุ้มกันที่โฆษณาว่ามีส่วนผสมของสมุนไพรที่เป็นยาอายุวัฒนะ ในขณะที่ “ฮิมาลายา ดรั๊ก” ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร เร่งเข็นสินค้าอายุรเวทออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงบางบริษัทนำสมุนไพรในตำราอายุรเวทไปผลิตเป็นซูเปอร์ฟู้ดแบบผงสำหรับชงดื่มด้วย

“ชเล บาดานี” ผู้ร่วมก่อตั้ง “คาพิวา” แบรนด์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอายุรเวทสไตล์โมเดิร์นรายแรกของอินเดีย กล่าวว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมารูปแบบของอาหารที่ชาวอินเดียกินเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีความทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งบริษัทรับเทรนด์นี้ด้วยการนำอายุรเวทมาผลิตเป็นสินค้า อาทิ น้ำมันทำอาหารแบบออร์แกนิก เนย โทนิก เครื่องดื่ม และปีหน้าเตรียมเพิ่มขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มสำหรับเด็ก และกลุ่มสินค้าเกี่ยวกับอาหารเช้า เชื่อว่าจะช่วยให้รายได้ปี 2564 เพิ่มเป็น 14 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากแบรนด์สินค้าแล้ว ร้านอาหารเป็นอีกธุรกิจที่จับกระแสอายุรเวทมาใช้สร้างจุดขายด้วยเมนูสุขภาพ เครื่องดื่มค็อกเทล และม็อกเทลสไตล์อายุรเวท โดยปัจจุบันหากดูเมนูในร้านอาหารหลายแห่งในอินเดียจะเห็นการเน้นโปรโมตอาหารสุขภาพอย่างชัดเจน อาทิ สลัดขมิ้น เกี๊ยวมะรุม รวมไปถึงอาหารอื่น ๆ ที่มีสมุนไพร-ธัญพืชเป็นวัตถุดิบ

โดยเทรนด์อาหารสไตล์อายุรเวทนี้ไม่เพียงได้รับความนิยมในตลาดแมสเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปถึงผู้บริโภคระดับบนด้วยเช่นกัน เห็นได้จากในเชนร้านอาหารหรูระดับรางวัลอย่าง “ดารีอากัน” ในกรุงนิวเดลี เมนูอายุรเวท ทั้งชาเมล็ดยี่หร่า และเครื่องดื่มน้ำตาลโตนดผสมมะนาว-ขมิ้น ยังได้รับความนิยมไม่ต่างจากเมนูอย่างของหวานผสมสมุนไพร 15 ชนิด หรือค็อกเทล-ม็อกเทลสมุนไพรที่มีเสิร์ฟในร้านอาหารทั่วไป

“อมิท แบ็กกา” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง “ดารีอากัน ฮอสพิทัลลิตี้” ผู้บริหารเชนร้านอาหาร ดารีอากัน อธิบายว่า บริษัทลงทุนเต็มที่กับการพัฒนาสูตรอาหารสุขภาพที่ไม่เพียงแค่มีสมุนไพรเป็นส่วนผสม แต่ต้องอร่อย หน้าตาดูน่ากิน รวมทันสมัย เช่น เคบับทันดูรี

แน่นอนว่ากระแสนิยมนี้ทำให้มีกลุ่มมิจฉาชีพที่เล็งฉวยโอกาสจากผู้บริโภคที่ไม่ระวังตัวไม่ว่าจะด้วยการขายสินค้าปลอม หรือโฆษณาเกินจริง โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้บริโภคระบุว่า ชาวอินเดียจำนวนมากยังไม่สามารถแยกแยะการโฆษณาเกินจริงได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งหน่วยงานรัฐของอินเดียได้พยายามรับมือ ด้วยการออกตรารับรองคุณภาพ “AYUSH Mark” แบ่งเป็นระดับพื้นฐาน และระดับพรีเมี่ยม มาเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก

กระแสนิยมอายุรเวทของชาวอินเดียรุ่นใหม่นี้ถือเป็นหนึ่งในโอกาสของธุรกิจในอินเดียที่จะสร้างรายได้ชดเชยกับสภาพเศรษฐกิจช่วงโควิด รวมถึงอาจต่อยอดเป็นเทรนด์หลักได้ในอนาคตอีกด้วย