อาณาจักรเครื่องสำอาง “ลอรีอัล” ตอนนี้มีกี่แบรนด์ในตลาดไทย

ภาพจากเฟซบุ๊ก L'Oréal Paris

หลังจากเครื่องสำอางแบรนด์ NYX Professional Makeup ในเครือ “ลอรีอัล” ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘NYX Professional Makeup Thailand’  ว่า ช็อปนิกซ์ทุกสาขาจะปิดให้บริการ โดยจะให้บริการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นี้ เป็นวันสุดท้าย

พร้อมกันนี้ ได้ปรับช่องทางขายด้วยการขายผ่านออนไลน์เต็มตัว โดยจำหน่ายผ่านช่องทางอีมาร์เก็ตเพลส และอินสตาแกรม @nyxcosmetics

“ประชาชาติธุรกิจ” พาสำรวจอาณาจักความงามในเครือ “ลอรีอัล ประเทศไทย” ว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ความงามทั้งหมดกี่แบรนด์

ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ ลอรีอัล ไทยแลนด์ พบว่า ลอรีอัลฯ แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่ม Consumer Products (คอนซูเมอร์ โปรดักส์) มีทั้งหมด 9 แบรนด์ ได้แก่
  • L’oreal Paris
  • Garnier
  • Maybelline New York
  • NYX Professional Make up
  • Stylenanda
  • Essie
  • Niely
  • Dark & Lovely
  • Magic Mask

2. กลุ่ม L’Oreal Luxe (ลอรีอัล ลักซ์) มีทั้งหมด 16 แบรนด์ ได้แก่

  • Lancome
  • Yves Saint Laurent
  • Armani
  • Kiehl’s Since 1851
  • Biotherm
  • Urban Decay
  • Shu Uemura
  • IT Cosmetics
  • Helena Rubinstein
  • Ralph Lauren Fragrances
  • Viktor&Rolf
  • Cacharel
  • Diesel
  • Yue Sai
  • Atelier Cologne
  • Valentino

3. กลุ่ม Professional Products (โปรเฟสชั่นแนล โปรดักส์) มีทั้งหมด 5 แบรนด์

  • L’Oreal Professionnel
  • Redken
  • Kerastase
  • Matrix
  • Pureology

4. กลุ่ม Active Cosmetics (แอคทีฟ คอสเมติกส์)

  • La Roche-Posay
  • Vichy
  • Skin Ceuticals
  • Cerave
  • Decleor

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา “อินเนส คาลไดรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพผลกระทบจากโควิด-19 ระบุว่า อุตสาหกรรมความงามในปีนี้ มีแนวโน้มว่าจะไม่เติบโต หรือ มีมูลค่า 2.18 แสนล้านบาท เท่ากับปี 2562 อาจเติบโตหรือหดตัวเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับความช้า-เร็วในการฟื้นตัวของผู้บริโภค

แผนการรับมือของลอรีอัลในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะโฟกัสแคทิกอรี่สกินแคร์ก่อน ตามด้วยเมกอัพในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรองพื้นและดวงตา พร้อมกับการเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดในช่องทางอีคอมเมิร์ซ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับความงาม

ด้วยกลยุทธ์ “นิวอีเวิลด์” (new e-World) ที่ประกอบด้วย e-BA (e-Beauty Advisor) การเพิ่มสกิลและสนับสนุนให้บิวตี้แอดไวเซอร์หรือบีเอขายสินค้า-ให้คำแนะนำลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งออนไลน์ ไปจนถึงโทรศัพท์ เพื่อเพิ่มโอกาสขาย

e-Service สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรมอำนวยความสะดวก เช่น แอปโมดิเฟซ (ModiFace) สำหรับทดลองเมกอัพแบบเสมือนจริงผ่านกล้องหน้าของมือถือ ซึ่งตอบโจทย์ความปลอดภัยช่วงโควิด-19 ได้ โดยเตรียมเพิ่มสินค้าจากแบรนด์อื่น ๆ ในเครือเข้าไปจากปัจจุบันที่มี 11 แบรนด์

e-Commerce เดินหน้าเพิ่มช่องทางขายบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ Kerastase ซึ่งเป็นสินค้าสำหรับร้านทำผม บนแพลตฟอร์มลาซาด้าไปแล้ว ขณะเดียวกันยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ของแบรนด์ต่าง ๆ ในเครืออีก 17 แบรนด์ และ e-Learning

“อย่างไรก็ตาม แม้จะโฟกัสช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่เราจะไม่ทิ้งช่องทางออฟไลน์เพราะเป็นหนึ่งในช่องทางที่สำคัญ แต่จะใช้การผสานช่องทางทั้ง 2 เข้าด้วยกับแบบออนไลน์+ออฟไลน์”