นิคอน ชี้ ตลาดกล้องวูบ 50% บุกออนไลน์อัดโปรแรงโค้งท้าย

โควิด-19 ทุบตลาดกล้องวูบกว่า 50% “นิคอน” เดิมพันปั้นยอดโค้งท้าย ผนึกคู่ค้าทุ่มงบฯลุยมหกรรมอีคอมเมิร์ซทั้ง 11.11 12.12 อัดโปรฯแรงทุกรูปแบบ ทั้งลด ผ่อน แถม แลกซื้อ ฯลฯ หลังปีนี้ไม่มีงานโฟโต้แฟร์ พร้อมเดินหน้าทำตลาดผ่านออนไลน์ทั้งสื่อสาร-กิจกรรม ชูกล้องฟูลเฟรม ฟังก์ชั่นวิดีโอเป็นหัวหอก

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 นายวีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดกล้องดิจิทัลได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก มูลค่าตลาดทั้งในเชิงเม็ดเงินและจำนวนกล้องลดลงไปกว่าครึ่ง

โดยระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายนมูลค่าตลาดเหลือเพียง 2.29 พันล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 4.1 พันล้านบาท ส่วนจำนวนกล้องลดจาก 1.24 แสนตัว เหลือ 6.53 หมื่นตัว เนื่องจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นดีมานด์ของตลาดนี้อยู่ในสภาพชะงักงันเหลือเพียงการท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบกับปัญหากำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อ

เช่นเดียวกับการจัดอีเวนต์กีฬา งานแต่ง ฯลฯ ที่ลดลง ทำให้ช่างภาพต่างไม่อัพเกรดอุปกรณ์ของตนในปีนี้ แม้จะมีดีมานด์จากกลุ่มผู้สร้างคอนเทนต์อย่างยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ ที่หันมาใช้กล้องดิจิทัลกันมากขึ้นแต่ไม่สามารถชดเชยได้

“อาจเรียกได้ว่าตลาดกล้องปี 2564 นี้มีเพียงช่วง low season และ very Iow season เท่านั้น”

ทั้งนี้เทรนด์หลักของตลาดยังเป็นกล้องแบบมิเรอร์เลสหรือกล้องที่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพ และกล้องฟูลเฟรมที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพขนาดเท่าฟิล์ม 35 มิลลิเมตร โดยมีส่วนแบ่งตลาด 74% และ 43.3% ตามลำดับ เนื่องจากราคาจับต้องได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปหันมาซื้อไปใช้งานมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นช่างภาพอาชีพ

จึงเชื่อว่าเซ็กเมนต์กล้องฟูลเฟรมปีนี้จะยังทรงตัวได้ในขณะที่เซ็กเมนต์อื่นหดตัวและปีหน้าอาจเติบโตจนมีสัดส่วนเกิน 50% ของตลาดรวมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างยอดขาย เนื่องจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ต่างมีกำหนดจัดงานเซลใหญ่ อย่าง 11.11 และ 12.12 รวมถึงงานย่อย เช่น แบรนด์เดย์

อีกทั้งภาครัฐยังมีมาตรการช็อปดีมีคืนมากระตุ้น จึงน่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ เช่น แพทย์ เจ้าของธุรกิจ ผู้สร้างคอนเทนต์ และอื่น ๆ ตัดสินใจซื้อกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์เสริมเพิ่มในช่วงนี้

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ซื้อกล้องผ่านออนไลน์กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ ที่ช่วงเดือนเมษายน มีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 52.3% และยังคงมีการซื้อผ่านช่องทางนี้อย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 30.6% ในเดือนกันยายน นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับก่อนการระบาดที่ช่องทางนี้มีสัดส่วนเพียง 10-15% เท่านั้น

และคาดว่าปี 2564 ช่องทางออนไลน์จะมีสัดส่วนสูงถึง 30-40% เพื่อสร้างรายได้ในช่วงโค้งท้ายนี้ บริษัทจึงมีแผนรุกช่องทางการจำหน่ายออนไลน์มากขึ้นให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และชดเชยกับการที่ปีนี้ไม่มีงานโฟโต้แฟร์หลังผู้เข้าร่วมแต่ละรายไม่พร้อมร่วมงานด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ

พร้อมเน้นกล้องฟูลเพรมและฟังก์ชั่นถ่ายวิดีโอเป็นหัวหอก เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ที่มีดีมานด์และยังเป็นสินค้ามูลค่าสูง ในขณะที่การถ่ายวิดีโอเป็นเทรนด์มาแรงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จากกระแสผลิต-แชร์วิดีโอบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

รวมถึงการประชุมผ่านวิดีโอในการทำงานที่บ้าน โดยจับมือคู่ค้า รวมถึงทุ่มงบฯการตลาดเพื่อทำโปรโมชั่นในช่องทางออนไลน์แบบเต็มกำลัง เริ่มตั้งแต่งานวันที่ 11 เดือน 11 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเตรียมโปรโมชั่นเข้มข้นและสำรองสต๊อกสินค้าเอาไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับงานวันที่ 12 เดือน 12

ด้านการสื่อสารและจัดกิจกรรมก็จะไปในทิศทางเดียวกันนี้ด้วย โดยเน้นใช้แพลตฟอร์มออนไลน์หลากหลาย ชูฟังก์ชั่นการถ่ายวิดีโอเป็นหลัก และการสร้างชุมชนออนไลน์ของกลุ่มผู้รักการถ่ายภาพตั้งแต่นักเรียนเยาวชนไปจนถึงช่างภาพอาชีพ โดยใช้แคมเปญ “Z CREATOR” ซึ่งเป็นการสร้างคอนเทนต์จากกลุ่มผู้บริโภคในการสื่อสาร

เชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นช่วงโค้งท้ายจะช่วยให้รายได้ของบริษัทหดตัวประมาณ 30% ซึ่งน้อยกว่าตลาดรวมตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ รวมถึงสร้างความได้เปรียบในปีหน้าที่คาดว่าตลาดจะกลับมาหดตัวประมาณ 25% ใกล้เคียงกับปีก่อน ๆ