“โอสถสภา” ย้ำแชมป์ชูกำลัง เดินหน้าบุก “ซีวิท” รับตลาดโต

M150 ของกลุ่มโอสถสภา ที่ครองใจบรรดาคนใช้แรงงาน ในวันนี้ได้เริ่มต้นหันมามองกัญชาบ้างแล้ว

“โอสถสภา” กางแผนยุทธศาสตร์ปี 2564 เน้นสร้างกำไร-ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น เผยปีหน้าเตรียมงบฯ 2,500 ล้าน มุ่งดูแลเมนเทนแนนซ์โฟกัสพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกเซ็กเมนต์ เพิ่มช่องทางขายรองรับดีมานด์ลูกค้า ประกาศรุกหนักตลาดเพอร์ซันนอลแคร์รับโอกาสตลาดโต ด้านโรงงานผลิตขวดแก้วในเมียนมาขณะนี้เดินสายผลิตเรียบร้อย มั่นใจปีหน้าสร้างกำไรโตดับเบิลดิจิต

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแบรนด์เอ็ม-150 เบบี้มายด์ เปปทีน เปิดเผยว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วน รวมถึงภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาทอยู่ในช่วงติดลบ

โดยเฉพาะไตรมาส 2 ลดลง 10% แม้ขณะนี้จะเริ่มดีขึ้นเล็กน้อย โดยปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์ไวรัสโควิดทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และคาดว่าจะต้องรออีก 2-3 ปีตลาดถึงจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ดังนั้นบริษัทได้นำสินค้ามาจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ และการผสานกับช่องทางออฟไลน์ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านค้าปลีกทั่วไป เพื่อสอดรับกับวิถีนิวนอร์มอล แต่ยังเป็นสัดส่วนที่ยังน้อย

ขณะเดียวกัน ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา โอสถสภาได้ปรับตัวเพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนผ่านโครงการ Fit Fast Firm ตามด้วยการสร้างการเติบโต เน้นแบรนด์หลัก อาทิ เอ็ม-150 และซี-วิท ควบคู่กับการขยายช่องทางจำหน่าย เน้นการบริโภคในครัวเรือนและอีคอมเมิร์ซ และรักษากระแสเงินสด

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 3/2563 (กรกฎาคม-กันยายน 2563) บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมาย มีกำไรสุทธิ 923 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ได้เตรียมทั้งการผลิต การตลาด การขาย การขนส่ง เพื่อรองรับดีมานด์ในช่วงนั้น

Advertisment

โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในประเทศ 85% ต่างประเทศ 15% และมาจากกลุ่มเครื่องดื่ม 80% และอีก 20% เป็นสินค้าอื่น ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเบบี้มายด์ และลูกอมโอเล่ เป็นต้น

ด้านนางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา กล่าวถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทจะเน้นกลยุทธ์สร้างกำไรมากกว่ายอดขาย ตลอดจนการปรับวิธีการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และการลงทุนจากนี้จะต้องระมัดระวังมากขึ้น

โดยปีหน้าเตรียมงบประมาณสำหรับลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท หลัก ๆ จะใช้ดูแลด้านเมนเทนแนนซ์เพื่อให้มีคุณภาพดี ควบคู่กับการเพิ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ครบทุกเซ็กเมนต์

เริ่มจากการสร้างการเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และขยายตลาดเครื่องดื่มซี-วิทให้สอดรับกับภาพรวมของตลาดวิตามินซี ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโต 14% และเครื่องดื่มซี-วิทยังคงเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มวิตามินซี ด้วยส่วนแบ่ง 32.0%

Advertisment

โดยปีนี้ได้เพิ่มไลน์การผลิตให้สามารถรองรับการขยายตัวของตลาดฟังก์ชั่นนอลดริงก์และตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลแบรนด์เบบี้มายด์ยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสบู่เหลวสำหรับเด็ก

“บริษัทยังครองความเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง ด้วยส่วนแบ่ง 54.4% โดยเอ็ม-150 ยังคงเป็นผู้นำตลาด ขณะที่แบรนด์ซี-วิท เป็นผู้นำของตลาดเครื่องดื่มวิตามินซี โดยมีส่วนแบ่งตลาด 32% และยังช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดฟังก์ชั่นนอลดริงก์ในประเทศด้วย”

นางวรรณิภากล่าวว่า โดยแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์จะมีกลยุทธ์การทำตลาดแตกต่างกัน โดยกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังจะเน้นสร้างความแข็งแกร่งของตราสินค้าในพอร์ต พร้อมสินค้าใหม่ที่มีนวัตกรรมและการทำตลาดที่สร้างความผูกพันกับลูกค้า ส่วนฟังก์ชั่นนอลดริงก์จะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายของซี-วิท และเปปทีนให้ครอบคลุมมากขึ้น

ด้านผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลเน้นชูนวัตกรรมทั้งด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน และรูปแบบสินค้าของแบรนด์เบบี้มายด์ให้ทันสมัยและเหมาะกับการใช้งาน ควบคู่กับการทำตลาดเพื่อสื่อสารแบรนด์อยู่เป็นระยะ ๆ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสนใจตลาดเพอร์ซันนอลแคร์ทั้งในรูปแบบการซื้อแบรนด์หรือการร่วมทุน แต่ต้องมองในเรื่องของความคุ้มค่า และเปิดกว้างทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ เนื่องจากตลาดนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูงตามเทรนด์ตลาดที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ ตลอดจนสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ โดยเริ่มเห็นสัญญาณว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนกำไรสูง

ด้านธุรกิจในประเทศเมียนมาต้นปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนโรงงานประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายขวดแก้วในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันกับพันธมิตรในเมียนมา ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี และสามารถเดินสายการผลิตได้แล้ว

โดยโรงงานขวดแก้วในเมียนมานั้นจะเป็นการรับจ้างผลิตและจำหน่ายให้กับผู้ผลิตสินค้ารายอื่น ๆ เพราะปกติแล้วเมียนมาได้นำเข้าขวดแก้วไม่ได้ผลิตเอง ทำให้เป็นโอกาสสร้างการเติบโตได้ และโรงงานดังกล่าวถือว่าจะเป็นโรงงานผลิตขวดแก้วแห่งแรกในเมียนมา

พร้อมกันนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้มุ่งสร้างแบรนด์เอ็ม-150 และชาร์ค พร้อมขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุม แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การทำตลาดมีความท้าทายมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ยังไม่แน่นอน ผู้คนยังมีความตื่นกลัวอยู่ ดังนั้น ปีหน้าจะต้องให้ความสำคัญในการทำตลาดที่เมียนมามากขึ้น

สำหรับธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือเวนดิ้งแมชีน ยังอยู่ระหว่างหาโมเดลที่เหมาะสม คาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 2-3 ปี แต่เป้าหมายหลัก ๆ ยังต้องการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีทำเลติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย และที่พักอาศัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปรับแนวทางการทำธุรกิจเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อให้รับมือปัจจัยลบที่อาจเกิดขึ้นได้ บริษัทเชื่อมั่นว่าในปี 2564 จะสามารถรักษาเป้าการเติบโตของรายได้และผลกำไรในระดับตัวเลข 2 หลักได้