“โควิด” ทุบมู้ดจับจ่ายส่งท้ายปี ห้างเลิกอีเวนต์-ท่องเที่ยวระงม

ตลาดค้าปลีก
Mikkel Berg Pedersen/Ritzau Scanpix/via REUTERS

โควิด-19 รอบใหม่ลามค้าปลีก ทุบมู้ดจับจ่ายโค้งท้ายกระเจิง ทราฟฟิกสะดุด ยอดร่วงเบาะ ๆ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% หวั่นลากยากถึงต้นปีหน้า ห้างสรรพสินค้า-ร้านอาหารค่ายใหญ่ไหวทัน ชูออนไลน์-ดีลิเวอรี่ปั๊มรายได้ ห้างหรูขานรับประกาศ ศบค. ยกเลิกเคานต์ดาวน์-ปรับกิจกรรม ลดความเสี่ยง “เชียงใหม่” เลื่อนอีเวนต์ใหญ่หลายงานหลบไวรัสร้าย ขณะที่ ททท.ชี้ท่องเที่ยวหยุดยาว 4 วัน ออกอาการแผ่ว

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และแพร่กระจายไปในหลาย ๆ จังหวัดมากกว่า 30 จังหวัด ในช่วงตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่้งสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง บวกกับการงดการจัดกิจกรรมรื่นเริงปีใหม่-เคานต์ดาวน์ ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีการแบ่งพื้นที่ควบคุมเป็น 4 ระดับ แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว (24 ธันวาคมที่ผ่านมา) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับบรรยากาศและมู้ดการจับจ่าย ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี

ทุบยอดปลายปีหาย 20%

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการมอนิเตอร์ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อธุรกิจค้าปลีกมาเป็นระยะ ๆ พบว่า หลังจากที่มีข่าวโควิดระบาดรอบใหม่ในประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้ทราฟฟิกและการจับจ่ายเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในเกณฑ์สูง

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า ตัวเลขการจับจ่ายในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ลดลงโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% สินค้าบางกลุ่มอาจจะลดลง 30-40% บางกลุ่มอาจจะมากกว่านี้ แต่ที่จะกระทบมากน่าจะเป็นกลุ่มน็อนฟู้ด ตัวเลขอาจจะหายไปสัก 60-70% และคาดว่าบรรยากาศแบบนี้อาจจะลากยาวไปจนถึงช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็นสำคัญ

“ต้องยอมรับว่าจากความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น คาดว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการเดินห้าง ไม่เข้าร้านอาหาร หากสังเกตจะเห็นว่า ผู้ประกอบการทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้วจากการระบาดครั้งแรก ต่างก็ทยอยนำเอาโมเดลการขายผ่านช่องทางออนไลน์-ดีลิเวอรี่มาใช้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า”

ขณะที่นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า โควิด-19 ที่ระบาดครั้งใหม่นี้ ยอมรับว่ากระทบต่อภาพรวมค้าปลีกบ้าง โดยเฉพาะศูนย์การค้าในย่านกลางเมืองและหัวเมืองใหญ่ รวมถึงเมืองท่องเที่ยว เฉพาะทำเลในย่านนักท่องเที่ยวที่มีผลกระทบค่อนข้างมากจากจำนวนลูกค้าที่หายไป และอาจจะต่อเนื่องยาวไปจนถึงต้นปีหน้า ล่าสุดบริษัทได้ยกเลิกงานเคานต์ดาวน์ที่เป็นอีเวนต์ใหญ่ และลดสเกลการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์หลาย ๆ งาน เช่น การลดอีเวนต์ที่มีดารา-นักแสดงที่จะเป็นแม็กเนตในการดึงประชาชนเข้าร่วมงาน ขณะเดียวกันก็หันมาเน้นการจัดโปรโมชั่นทางการตลาดแทน

ร้านอาหารปลุกดีลิเวอรี่รับมือ

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, ปิ้งย่าง อากะ, อาหารตามสั่ง เขียง, ร้านอาหารไทยอีสาน ตำมั่ว ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ผู้คนเริ่มมีพฤติกรรมกังวลและหวาดกลัว ไม่กล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ทราฟฟิกและการจับจ่ายตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ลดลง เช่นเดียวกับร้านอาหารในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยยอดขายช่องทางไดรฟ์อิน หรือการนั่งรับประทานในร้านเริ่มลดลงประมาณ 5-10%

แต่อีกด้านหนึ่งช่องทางขายดีลิเวอรี่เริ่มกลับมาเติบโตขึ้น 20-30% ทำให้บริษัทต้องปรับแผนด้วยการหันมาเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายดีลิเวอรี่ และช่องทางซื้อกลับบ้าน โดยที่ทุกแบรนด์จะหันมาให้ความสำคัญกับเมนูชุดเซตอาหารพร้อมทาน ราคาเข้าถึงง่าย ตลอดจนนำเมนูอาหารพร้อมทาน สินค้ารีเทล สินค้าสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส น้ำพริก มาจำหน่ายหน้าร้าน ควบคู่กับการทำคอนเทนต์แหล่งที่มาของวัตถุดิบ สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ถ้าเทียบกับการแพร่ระบาดรอบแรก ซึ่งช่วงนั้นยอดขายลดลง 40-50% แต่รอบนี้อาจจะลดลงเพียง 10-15%

เช่นเดียวกับ นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหารซิซซ์เล่อร์, พิซซ่า คอมปะนี, แดรี่ ควีน, สเวนเซ่นส์ เป็นต้น เปิดเผยว่า กระทบกับร้านอาหารของไมเนอร์ฟู้ดไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการปิดบริการเฉพาะบางจุด โดยเฉพาะในสมุทรสาคร ซึ่งบริษัทมีเปิดอยู่ 5 สาขา แต่สิ่งที่กังวลในตอนนี้คือ ผู้คนเริ่มกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน และออกมาเดินห้างลดลง กระทบต่อช่องทางขายหน้าร้าน ขณะเดียวกัน อัตราการสั่งอาหารผ่านดีลิเวอรี่เริ่มกลับมาเติบโตขึ้น ซึ่งบริษัทก็ได้ปรับตัวมาให้น้ำหนักกับช่องทางดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ศบค.กำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาด ศูนย์การค้าต่าง ๆ ที่มีแผนจะจัดกิจกรรมเคานต์ดาวน์ในช่วงคืนส่งท้ายปี ต่างทยอยประกาศยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว เช่น เครือเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ได้ยกเลิกงานเคานต์ดาวน์ที่จะมีขึ้นที่เซ็นทรัล 11 สาขาทั่วประเทศ แต่ยังคงไฮไลต์การจุดพลุนับ 6,000 ดอก และสร้างเคานต์ดาวน์รูปแบบใหม่ผ่านการไลฟ์สดทางทีวีและไลน์ จากก่อนหน้านี้ยกเลิกงานคอนเสิร์ตที่จะมี 7 วัน (24-30 ธ.ค. 63) ด้านไอคอนสยาม ได้ปรับรูปแบบการจัดงานเคานต์ดาวน์ ยกเลิกคอนเสิร์ต แต่ยังคงมีพลุเฉลิมฉลองส่งท้ายปี โดยจะมีการถ่ายทอดสดทั้งทางโทรทัศน์ และช่องทางออนไลน์ให้ชมแทน

เช่นเดียวกับสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่งดการจัดเคานต์ดาวน์ และได้ปรับรูปแบบการจัดงาน ด้วยการขยายการให้ใช้บริการถึงเที่ยงคืนเท่านั้น ขณะที่เครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ทั้งเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ ต่างก็ขานรับนโยบายงดการจัดงานเคานต์ดาวน์ แต่ยังคงจัดกิจกรรมบางส่วน อาทิ งาน Winter Wonderland : The Candy Colony และเปิดให้บริการบางโซนของศูนย์การค้า จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2563

เชียงใหม่เลื่อนอีเวนต์ใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของจังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดได้ประกาศยกเลิกและเลื่อนการจัดกิจกรรมออกไปโดยไม่มีกำหนดหลายงาน อาทิ เชียงใหม่ แอร์โชว์ 2021 (15-17 มกราคม 2564), งาน Botanic Festival 2021 วันที่ (25 ธันวาคม 2563-3 มกราคม 2564), งานอุตสาหกรรมแฟร์ เชียงใหม่ (29 มกราคม-7 กุมภาพันธ์ 2564), งานถนนคนเดินย่านนิมมานเหมินท์ (8 มกราคม 2564) ส่วนงานฤดูหนาวและงาน OTOP ของดีเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2564 (30 ธันวาคม 2563-10 มกราคม 2564) คณะผู้จัดงานอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะจัดต่อหรือไม่อย่างไร

ททท.ชี้กระทบท่องเที่ยว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า คาดว่าบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กระจายไปในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของนักท่องเที่ยว ซึ่ง ททท.คาดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วัน (31 ธันวาคม 2563- 3 มกราคม 2564) จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 2.75 ล้านคน-ครั้งมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 10,700 ล้านบาท

มีอัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยที่ 37% แบ่งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ 3.87 แสนคน-ครั้ง มีการใช้จ่าย 1,490 ล้านบาท ภาคกลาง 4.72 แสนคน-ครั้ง มีการใช้จ่าย 1,310 ล้านบาท ภาคตะวันออก 5.40 แสนคน-ครั้ง มีการใช้จ่าย 2,544 ล้านบาท ภาคเหนือ 4.03 แสนคน-ครั้ง มีการใช้จ่าย 2,078 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.02 แสนคน-ครั้ง มีการใช้จ่าย 1,371ล้านนบาท และภาคใต้ 3.46 แสนคน-ครั้ง มีการใช้จ่าย 1,946 ล้านบาท (หน้า 1, 4)