เครื่องใช้ไฟฟ้าลุ้นตลาดฟื้น “ฟูลฟังก์ชั่น-สุขภาพ-ไซซ์ใหญ่” มาแรง

ค่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า “ญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน” มั่นใจตลาดปี’64 ฟื้นแน่ ประกาศมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ไฮเอนด์ ชี้งานโครงการรัฐช่วยสร้างดีมานด์ทั้ง “ตู้เย็น ตู้แช่ แอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก” พร้อมปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์ความคุ้มค่า-ฟังก์ชั่นสุขภาพ-ไซซ์ใหญ่ หวังปั้นยอดขาย-ชิงส่วนแบ่งตลาด

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายทั้งจากวัคซีนหลายขนาน และการไม่สั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล ทำให้หลายบริษัทคาดหวังว่าในปี 2564 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเริ่มฟื้นตัวประมาณ 3-8% จากการหดตัว 5-10% ในปี 2563 ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โรคระบาด การเมืองทั้งในและนอกประเทศ เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งต่างส่งผลกับเศรษฐกิจและกำลังซื้อ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของสภาพกำลังซื้อและความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ

รวมถึงการช็อปปิ้งออนไลน์เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่แต่ละแบรนด์ต้องหาคำตอบให้ตรงจุดเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันช่วงตลาดเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น

เชื่อปี 2564 ตลาดเริ่มฟื้น

นายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แม้ในแง่ของภาวะเศรษฐกิจอาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวประมาณ 1-2 ปี หรืออาจจะเป็นในช่วงปี 2565-2566 แต่เชื่อว่าในปี 2564 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท มีโอกาสฟื้นตัวประมาณ 8-10% เนื่องจากบางหมวดสินค้ามีแนวโน้มเติบโต อาทิ ตู้เย็น, ตู้แช่ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาตลอดตั้งแต่ช่วงการระบาดและน่าจะต่อเนื่องไปในปีหน้า ในขณะที่แอร์และทีวีมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อย ส่วนเครื่องซักผ้าน่าจะทรงตัว

นอกจากนี้ บริษัทยังมั่นใจว่าในตลาดยังมีกำลังซื้ออยู่ อาทิ ผู้บริโภคระดับกลางล่างขึ้นมาหรือกลุ่มพนักงานออฟฟิศและราชการ

“กำลังซื้อยังมีอยู่แน่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของธุรกิจที่จะต้องหาให้เจอ”

สำหรับบริษัทจะใช้โอกาสที่ตลาดเริ่มฟื้นตัว และคู่แข่งอาจชะลอการทำธุรกิจนี้ขยายฐาน และชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มด้วยการทุ่มลงทุนไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งขยายไลน์อัพสินค้าซึ่งจะเข้าสู่ตลาดครบตั้งแต่ไตรมาสแรก พร้อมเพิ่มพนักงานเซลส์จาก 80 คน เป็น 120 คน เพื่อชิงส่วนแบ่งยอดขายในร้านค้าด้วยการเข้าไปดูแลให้ทั่วถึงทั้งด้านเซลส์อิน-เซลส์เอาต์ ไปจนถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ รวมถึงขยายช่องทางจำหน่ายในจุดที่ยังไม่เข้มแข็ง เช่น โมเดิร์นเทรดที่ยังขาดอีกหลายสาขา และเปิดแบรนด์ช็อปเพิ่มอีก 20 สาขา รวมเป็น 30 สาขา

นอกจากนี้ ยังรับมือการแข่งขันบนอีคอมเมิร์ซด้วย “แคนดี้” แบรนด์ย่อยที่มีจุดแข็งด้านราคาจับต้องง่ายและดีไซน์สไตล์วัยรุ่น ซึ่งจะนำมาจำหน่ายผ่านออนไลน์โดยเฉพาะเพื่อรักษา-เพิ่มส่วนแบ่งตลาดตามเป้า มียอดขายออนไลน์ 600 ล้านบาท หรือเติบโต 2 เท่า เช่นเดียวกับยอดขายรวมที่วางเป้าไว้ 8,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%

โควิด-19 ปลุกดีมานด์ “บีทูบี”

สอดคล้องกับความเห็นของนายฮิโรยูกิ มูโต้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอ.พี. เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นอีกในปี 2564 ตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวโดยอาจสามารถเติบโตได้ประมาณ 3% หลังจากปี 2563 หดตัวประมาณ 5% โดยกลุ่มลูกค้าองค์กรหรือบีทูบีเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและโอกาสเข้าทำตลาด เพราะรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ส่วนเอกชนมีโครงการขนาดเล็ก เช่น การปรับปรุงอาคารสถานที่

ในขณะที่ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจสนใจเรื่องคุณภาพอากาศในอาคาร และการประหยัดพลังงานมากขึ้น เช่น ธุรกิจอสังหาฯที่ต้องการเทคโนโลยีมาเป็นจุดขายให้โครงการของตนแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งบริษัทจะใช้จุดแข็งของการมีสินค้าครอบคลุมครบทุกหมวด และเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้มาสร้างโซลูชั่นแบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้

ส่วนฝั่งลูกค้าทั่วไปจะยังคงมุ่งเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม ซึ่งสร้างกำไรและเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัทได้มาก รวมถึงยังเป็นการเลี่ยงสงครามราคากับสินค้าจากจีนที่เข้ามาในตลาดเยอะ หลากหลายและเร็ว พร้อมจุดขายด้านราคาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สินค้าต้องคุ้มค่า-ฟังก์ชั่นจัดเต็ม

นายบุนยรัตน์ ไตรสิริสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัดกล่าวว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จะทำให้ปี 2564 ผู้บริโภคจะให้น้ำหนักกับความคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไปมากขึ้น ดังนั้น สินค้าจะต้องมีฟังก์ชั่นครบจัดเต็ม เช่น เครื่องซักผ้า แม้จะเป็นไซซ์เล็กก็ต้องมีฟังก์ชั่นทั้งประหยัดน้ำ ซักด่วน ทำความสะอาดตัวเอง ต่างจากเดิมที่แต่ละแบรนด์จะเน้นใส่ฟังก์ชั่นจัดเต็มเฉพาะในรุ่นขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์ทำอาหารที่จะฮิตต่อเนื่องจากปี 2563 ที่พัฒนาจากแค่ทำอาหารกินเอง ไปเป็นการโชว์ในหมู่เพื่อน การโฆษณา จนถึงเป็นอาชีพ

ทั้งนี้ โตชิบามีแผนจะทยอยลอนช์สินค้าใหม่ในสไตล์นี้ออกมารับเทรนด์ และรุกเซ็กเมนต์ไฮเอนด์ที่ยังเป็นจุดอ่อนอย่างต่อเนื่อง เช่น ตู้เย็น แบบทำความเย็นแยกส่วน, เครื่องซักอบผ้าฝาหน้า พร้อมสร้างการรับรู้แบรนด์และความครบครันของสินค้าผ่านกิจกรรมสาธิตในสถานที่ต่าง ๆ และสื่อออนไลน์ รวมถึงหนุนคู่ค้าระดับซับดีลเลอร์เพื่อเจาะตลาดลงลึกระดับท้องถิ่น

“ตลาดระดับท้องถิ่นมีศักยภาพ โดยผู้บริโภคจะซื้อสินค้าจากร้านค้าในพื้นที่มากกว่าจะไปห้างหรือร้านขนาดใหญ่ เนื่องจากความคุ้นเคยของคนในท้องถิ่นเดียวกัน และความเชื่อมั่นด้านบริการหลังการขาย”

เทรนด์สินค้าไซซ์ใหญ่มาแรง

สำหรับแอลจีปีหน้าเตรียมผลักดันเครื่องปรับอากาศเต็มที่เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด โดยนายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์หมวดภาพและเสียง เครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า ผู้บริโภคระดับกลางและบนรวมถึงพรีเมี่ยมซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทยังคงมีกำลังซื้ออยู่สะท้อนจากยอดขาย 11 เดือนของปี 2563 ที่ยังสามารถเติบโตในระดับเลขหลักเดียวตามเป้าที่วางไว้ โดยเชื่อว่าปี 2564 ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อต่อเนื่องเช่นเดิม

โดยเทรนด์หลักจะเป็นความต้องการสินค้าไซซ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นไซซ์ใหญ่กว่า 14 คิว หรือเครื่องซักอบผ้า ขนาด 13 กิโลขึ้นไป รวมถึงมีฟังก์ชั่นสมาร์ทและสุขภาพ เช่น ฆ่าเชื้อ ต่อเนื่องจากปี 2563 สะท้อนจากพนักงานขายที่ระบุว่าลูกค้าต้องการสินค้าในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น เพื่อเก็บอาหารเมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้น รวมถึงความสนใจความสะอาดที่ทำให้ซักผ้ามาก-บ่อย

โดยบริษัทจะลอนช์สินค้าที่มีคุณสมบัติและฟังก์ชั่นล้อกับเทรนด์เหล่านี้ เริ่มจากเครื่องปรับอากาศในช่วงต้นปีเพื่อรองรับหน้าขายช่วงฤดูร้อน พร้อมเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนสำรองในกรณีโรคโควิดกลับมาระบาดซ้ำไว้แล้ว เช่น นำประสบการณ์ของปี 2563 มาปรับใช้เพื่อหนุนคู่ค้าให้บุกตลาดอีคอมเมิร์ซเต็มที่ เป็นต้น