ตรุษจีน วาเลนไทน์ สุดเหงา มู้ดจับจ่ายซึมยาวอีก 3 เดือน

จับกระแสตลาด

เหลืออีกเพียง 2-3 วันก็จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน (12 กุมภาฯ) และถัดจากนั้นอีก 2 วัน จะเป็นวันวาเลนไทน์ (14 กุมภาฯ)

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ที่ผ่าน ๆ มาช่วงหน้าขายสำคัญนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท หรือบางปีที่เศรษฐกิจดี ๆ ตัวเลขนี้ก็ขยับขึ้นไปถึง 5 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว

นี่คือ หน้าขายสำคัญของธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเซ่นไหว้ การท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ

แต่สำหรับปีนี้ จากการโจมตีของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ที่ยังมีตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉียด ๆ หลักพันคน ทำให้บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ที่เดิมคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลการจับจ่ายที่สำคัญนี้ออกมายอมรับว่า ภาพรวมของเทศกาลนี้อาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร

มู้ดจับจ่ายหดหาย-ซึมยาว

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบของโควิด-19 ที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความกังวล บวกกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อที่ลดลง ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย จึงทำให้ช่วงตรุษจีนที่เป็นหน้าขายสำคัญยังเป็นอะไรที่คาดหวังยากในเรื่องของยอดขาย ส่วนกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ที่ทุกค่ายมีออกมา เป้าหมายหลักก็เพื่อกระตุ้นให้บรรยากาศคึกคักมากขึ้น

ตอนนี้แม้ว่าห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ จะกลับมาเปิดได้เต็มที่เหมือนเดิมตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ทางการมีมาตรการลดเวลาการเปิดให้บริการได้ถึง 21.00 น. แต่ตอนนี้จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ทราฟฟิกของศูนย์การค้า ห้างต่าง ๆ กลับมาเพียง 50-60 เท่านั้น ขณะที่ในแง่ของมู้ดหรืออารมณ์การจับจ่ายก็ไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร สะท้อนจากยอดการจับจ่ายและความถี่ในการเข้าร้านค้าที่ลดลง

“ข่าววัคซีนอาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง โควิด-19 ยังไม่จบ และจะยังอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง เบื้องต้นคาดว่ามู้ดจับจ่ายอาจจะซึมยาวจนถึงเดือนมีนาคม” แหล่งข่าวกล่าว

สอดคล้องกับรายงานข่าวจากสมาคมค้าปลีกไทยที่ระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มว่าความกังวลต่อการแพร่ระบาดที่อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องและลากยาวไปอีก 2-3 เดือน

ร้านอาหารกระทบเร็ว-ฟื้นช้า

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ ฯลฯ คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์นี้ บรรยากาศในภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีความคึกคักมากขึ้น และน่าจะดีกว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และถือเป็นโอกาสของธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งปกติแม้จะขายดีในช่วงวันสุดสัปดาห์ และการมีเทศกาลสำคัญมาเป็นตัวช่วย ก็จะมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งร้านอาหารทุกค่ายรอโมเมนต์นี้ รวมถึงแบรนด์ในเครือของไมเนอร์ ฟู้ด ที่ได้เตรียมคูปอง อั้งเปา โปรโมชั่น และส่วนลด

“ตอนนี้แม้ทางการจะปลดล็อกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ทราฟฟิกและยอดขายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ ซึ่งหลัก ๆ น่าจะมาจากเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย รวมถึงความกังวลเรื่องโควิด-19”

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย แสดงความเห็นว่า สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีน-วาเลนไลน์ที่จะถึงนี้ การปลดล็อกหรือขยายเวลาการเปิดให้บริการถึง 23.00 น. อาจจะไม่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายได้มากเท่าไหร่นัก

เนื่องจากในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังเหลือเวลาที่ภาครัฐจะมีการพิจารณาเหตุผลตรงนี้อยู่ เพื่อสร้างความคึกคักในช่วงเทศกาล แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดว่ามีความคลี่คลายลงมากน้อยเพียงใด จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มหรือไม่

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านอาหารและเครื่องดื่มยอมรับว่า ที่ผ่านมาร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะร้านที่เปิดให้บริการในศูนย์การค้า ส่วนหนึ่งมาจากร้านอาหารมีความไวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และได้รับผลกระทบจากมาตรการจํากัดการให้บริการทั้งในแง่ของเวลาและจำนวนผู้ใช้บริหาร รวมถึงความกังวลเรื่องอาหารที่อาจจะมีการติดเชื้อหรือปนเปื้อน และคาดว่ากว่าที่ธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัวคงใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

“ช่วงตรุษจีน-วาเลนไทน์ ร้านอาหารอาจจะคึกคักขึ้น แต่หลังจากนั้นก็จะกลับไปเหมือนเดิม เพราะคนยังกังวลเรื่องโควิด และระมัดระวังการจับจ่ายเหมือนเดิม เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-กำลังซื้อยังเป็นขาลง” แหล่งข่าวกล่าว

จากความกังวลในเรื่องของไวรัสร้าย และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว จะยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญและเร่งหาทางออกให้ได้

ถึงวันนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า โควิด-19 ที่กลับมาโจมตีระลอกใหม่นี้น่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจต่าง ๆ มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าที่เคยคาดไว้