ไวรัส…ทุบอีกรอบ โรงพยาบาลหวั่นฟื้นยาก-ซบยาว

จับกระแสตลาด

แม้โรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์จุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/2563 จากจำนวนคนไข้ที่กลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ในประเทศ จากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยต่างประเทศจะเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นไป และจะเป็นปัจจัยหนุนให้โรงพยาบาลเอกชนมีการเติบโตดีขึ้น

แต่ล่าสุดจากสถานการณ์การกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่มีดีกรีความหนักหน่วงและรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา จนถึงวันนี้ยังมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่สูงเป็นหลักพันคนต่อเนื่องนานนับสัปดาห์

โควิดทำคนไข้แหยง รพ.

นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) ในเครือบางปะกอก ฮอสพิทอล กรุ๊ป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ตอนนี้ภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชนเริ่มกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยหรือคนไข้ส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะมาโรงพยาบาล ทำให้ปริมาณคนไข้นอกคนไข้ในลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากก่อนหน้านี้ที่หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายและจำนวนคนไข้เริ่มกลับเข้ามาในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งจากกระแสโควิดที่เกิดขึ้นทำให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะบริการตรวจโควิดแบบไดรฟ์ทรูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงวอร์ดผู้ป่วยโควิดที่เริ่มไม่เพียงพอ และโรงพยาบาลมีแผนจะขยายจำนวนเตียงในกรณีของ hospitel เพิ่มอีก 3-4 แห่ง ให้ครบ 1,000 เตียง

“ตอนนี้การบริหารจัดการโรงพยาบาลในสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ เป็นอะไรที่ยากมาก และคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ต้องพยายามบริหารวิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมกับควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องหารายได้ รับเป็นสถานที่กักตัว การตรวจโควิด ช่วงนี้คนไข้น้อยลง ต้องหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ มาประคอง”

เช่นเดียวกับนายแพทย์กฤติวิทย์ เลิศอุตสาหกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด และรักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้คนไข้ไม่อยากเข้าโรงพยาบาล และขณะนี้คนไข้ต่างประเทศก็ยังไม่มา ตอนนี้เหนื่อยกันทุกโรงพยาบาล เพราะคนไข้ถ้าไม่หนักจริง ๆ เขาก็ไม่อยากเข้าโรงพยาบาล หรือหากจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็จะรีบไปรีบกลับ

ทางออกในเรื่องนี้หลัก ๆ โรงพยาบาลจะมีบริการให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ หรือเทเลเมดิซีน เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ที่ไม่อยากมาโรงพยาบาล รวมถึงการมีบริการส่งยาถึงบ้าน-ฉีดวัคซีนถึงบ้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่า บริการในลักษณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

“นอกจากบริการดังกล่าวแล้ว อีกด้านหนึ่งโรงพยาบาลก็จะเน้นในเรื่องของ prevention เน้นการป้องกันตัวเอง การดูแลสุขภาพ เพื่อทำให้ตัวเองแข็งแรง เน้นการให้ความรู้ ให้วัคซีน การตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อจะได้ดูว่าป่วยเป็นอะไรหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งการเน้นเรื่องเฮลท์โปรโมชั่นเข้ามาเสริม”

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนอีกรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดรอบใหม่ของโควิดครั้งนี้อาจจะทำให้โอกาสการฟื้นตัวของธุรกิจโรงพยาบาลล่าช้าออกไปอีก และโอกาสที่จะกลับไปเติบโตเหมือนช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดคงยากและต้องใช้เวลา หากสังเกตจะพบว่าตอนนี้ทุกรายต่างหันมาโฟกัสลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนไทย โดยมีการใช้กลยุทธ์ราคาอย่างหนักหน่วงเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ 1 แถม 1 การลดราคาแพ็กเกจการตรวจ-รักษาต่าง ๆ

“ที่เป็นห่วงในตอนนี้ก็คือ ผลกระทบจากโควิดจะทำให้กำลังซื้อที่มีปัญหาอยู่แล้วเป็นปัญหาซ้ำหนักขึ้นไปอีก และจะทำให้คนระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น รวมทั้งการรักษาพยาบาล และหากโควิดยังยืดเยื้อ ปัญหาเศรษฐกิจกำลังซื้อก็จะหนักขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ตรวจโควิดช่วยเพิ่มรายได้

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า แม้ช่วงนี้การแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่จะทำให้คนไข้ไม่อยากเข้าโรงพยาบาล และคนไข้ต่างประเทศก็ไม่มีเข้ามา รวมถึงโรงพยาบาลส่วนใหญ่ต้องยกเลิกบริการที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งการผ่าตัด คลินิกทำฟัน แต่สำหรับโรงพยาบาลธนบุรีเองธุรกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น และในช่วงเกิดการระบาดโควิดระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายน เอื้อให้รายได้เพิ่มขึ้นราว 70% จากการเสริมบริการตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด

ขณะที่ นายธานี มณีนุตร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ในฐานะผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิดครั้งล่าสุดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาส่งผลให้ภาพรวมทั้งเครือ รพ.พริ้นซ์ฯที่มี 12 แห่ง มีตัวเลขคนไข้รายวัน Campus Visit/Day (1-18 เม.ย.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค-มี.ค.เล็กน้อย หรือเฉลี่ยประมาณ 6% โดยเฉพาะ รพ.พริ้นซ์ ลำพูน, รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่การระบาด ที่เติบโตกว่า 100% ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการมีผู้เข้าตรวจโควิดเฉลี่ยวันละ 400-500 เคส

ขณะที่สาขาอื่น ๆ กลับมีจำนวนผู้ป่วยลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการบริการเพื่อรองรับความคาดหวังและความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาทิ Medical Delivery บริการแพทย์เคลื่อนที่ อาทิ ทำแผล ล้างแผล เพื่อรองรับคนไข้ที่มีความกังวลเมื่อมาโรงพยาบาล ตลอดจนมีบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ผ่าน @Dr.PRINC ไม่มีค่าใช้จ่าย และยังมีบริการจัดส่งยาในพื้นที่รัศมีโดยรอบของโรงพยาบาล