“นพ.เฉลิม” ฟื้นเศรษฐกิจด้วยวัคซีน เร่งกระจายฉีด-ตัดวงจรระบาด

หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบตามมติ คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2109 (โควิด-19) และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดเข้ามาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนครบ 100 ล้านโดส เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ บีซีเอชในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หนึ่งในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และคณะทำงาน ทีมดี (จัดหาวัคซีนเพิ่มเติม) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนทางเลือก

Q : อัพเดตการนำเข้าวัคซีนหลังจากนำเสนอต่อท่านนายกฯ

ขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มี 3 ตัว คือ ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อย่างที่เรารับรู้กัน นอกจากนี้ รัฐบาลก็ได้เจรจากับไฟเซอร์ และสปุคนิค เพื่อซื้อวัคซีนเข้ามาเพิ่ม

ส่วนวัคซีนทางเลือกที่รัฐบาลจะอำนวยความสะดวกให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ ตอนนี้ผู้ที่มีใบอนุุญาตก็อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ หรือบางรายก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการนำเข้า เป้าหมายเพื่อให้ประเทศมีวัคซีนครบ 100 ล้านโดส เพื่อจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประชากรของประเทศซึ่งเป็นทางออกของประเทศในเวลานี้ จากเดิมที่รัฐบาลมีวัคซีนอยู่เดิม 63-65 ล้านโดส ที่กำลังเร่งฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ

ล่าสุด หอการค้าฯได้ขอจอง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประมาณ 5 ล้านโดส เป็นการสั่งจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตัวนี้คาดว่าวัคซีนน่าจะมาในช่วงไตรมาส 4 ในแง่ของราคาคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือตกประมาณ 300 บาท เมื่อได้ของมาแล้ว หอการค้าฯจะร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อฉีด โดยที่โรงพยาบาลเอกชนจะคิดค่าบริการฉีดบวกค่าประกัน เฉพาะค่าประกันตีกลม ๆ ว่าประมาณ 100 บาท เบ็ดเสร็จรวมแล้วไม่น่าจะเกิน 1,000 บาท

Q : ดีมานด์ของหอการค้าฯมีมากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้หอการค้าฯกำลังสำรวจความต้องการ เบื้องต้นคาดว่าตัวเลขจะมี 5-6.5 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีความต้องการจากบริษัทขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านโดส โดยในส่วนนี้จะเป็นการจองผ่านองค์การเภสัชฯ แต่นอกเหนือจากนั้นดีมานด์ที่มีจะต้องไปเป็นในส่วนของวัคซีนทางเลือก ที่ตอนนี้ผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อนำเข้ามาเสริมให้ครบ 100 ล้านโดส

นอกจากนี้ เบื้องต้น บริษัทเอกชนหลาย ๆ แห่ง หรือบริษัทที่มีเครือข่ายหลายบริษัท ก็ได้มีการพูดคุยหารือเพื่อขอจองวัคซีนจากบริษัทเอกชนที่มีใบอนุญาตนำเข้าวัคซีนกันไปบ้างแล้ว

Q : วัคซีนทางเลือกที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการจะเข้ามาถึงประเทศไทยเร็วสุดเมื่อไหร่

คาดว่าอาจจะเป็นช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 พอวัคซีนเข้ามาถึงก็จะต้องรีบฉีดด้วยความรวดเร็ว ซึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาที่มีวัคซีนของซิโนแวคแถมให้ไทยมาอีก 5 แสนโดส

Q : ถึงวันนี้การจัดหาวัคซีนมีอุปสรรคปัญหาอะไรหรือไม่

จริง ๆ แล้วที่ท่านนายกรัฐมนตรีลงมาบัญชาการและย้ำเรื่องนี้แล้ว ปัญหาอุปสรรคก็คงได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดี

แต่ประเด็นที่น่าสนใจจากนี้ไปก็คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิดที่มีการระบาดรุนแรงในรอบนี้ที่ทำให้มีอัตราการตายสูง จีดีพีของประเทศในภาพรวมอาจจะไม่ดีนัก

โดยส่วนตัวมองว่าเหนื่อย อาจจะโตเพียง 1-2% หรือไม่ ยังไม่รู้เลย เพราะนี่ไตรมาส 2 แล้ว และตอนนี้ลำบากกันหมด ตอนนี้การลงทุนก็ไม่มี การท่องเที่ยวไม่มี โรงแรม สายการบินไปหมด โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ถ้าเราตัดวงจรการระบาดไม่ได้ เศรษฐกิจประเทศจะเข้าสู่โซนอันตราย

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนเป็นสำคัญ หากวัคซีนเข้ามาและพยายามเร่งฉีด ทั้งวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาและวัคซีนทางเลือกเสริมกันให้ครบ 100 ล้านโดส ต้องฉีดให้ได้มากที่สุดให้ได้ 50 ล้านคน แล้วไปคาดหวังปีหน้า

Q : หลังจากมีวัคซีนทางเลือกเพิ่มเข้ามาคาดหวังอย่างไร

พุธนี้ (28 เมษายน) ท่านนายกฯจะมีการประชุมร่วมกับ 4 สมาคมธุรกิจ (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว)และเรื่องการจัดหาวัคซีนทางเลือกก็จะเป็นวาระหนึ่ง เพื่อแจ้งและย้ำให้ทุกฝ่ายทราบตรงกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาตามกรอบที่วางไว้ เพื่อให้ประเทศมีวัคซีน 100 ล้านโดส ตามที่ประกาศไว้

เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อฉีดให้คนไทย 50 ล้านคน จะได้มีภูมิคุ้มกันหมู่ ตอนนี้ทุกคน ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศ เขาก็รออยู่ เมื่อวัคซีนมา ควรที่จะเร่งรัดให้วัคซีนมาเร็ว เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และฉีดให้ครบภายในปีนี้ ถ้าฉีดได้ ปีหน้าจะเป็นคิวทอง เศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น

ถ้าฉีดครบแล้วก็จะเหมือนอิสราเอล ที่เขาไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่สำหรับไทย มองว่าถ้าฉีดแล้วก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อทำให้คนอุ่นใจ แล้วเศรษฐกิจทุกอย่างจะฟื้นขึ้นมาหมด

ถ้าวันนี้ประเทศไทยยังไม่ฉีดวัคซีนหรือยังฉีดไม่พอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะเป็นเรื่องยาก

Q : มีคนกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

สำหรับในส่วนของวัคซีนทางเลือกที่ภาคเอกชนจัดหามา หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในเรื่องของการฉีด ขณะเดียวกันก็จะประกัน ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ก็ทำเรื่องนี้ออกมาแล้ว เข้ามารับความเสี่ยงในส่วนนี้ ถ้าฉีดแล้วแพ้หรือต้องนอนโรงพยาบาล ประกันก็คุ้มครอง 1 แสนบาท หรือเสียชีวิต 1 ล้านบาท ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้อีกทางหนึ่ง

Q : ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ มียอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มทะลุ 2,000 คน/วัน มา 4-5 วัน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยส่วนตัวมองว่า ตัวเลขนี้สะท้อนว่าสถานการณ์กำลังเข้าโซนอันตรายแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ รพ.เอกชนก็เร่งช่วยกันแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องยาเป็นตัวแปรด้วย เพราะวัคซีนสายพันธุ์อังกฤษ ลงปอดได้เร็ว และอัตราการตายอาจจะสูงมาก หากระบาดเร็ว ห้องไอซียูจะไม่เพียงพอ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องให้ยาทันที และจะทำให้อัตราความต้องการไอซียูจะน้อยลง ที่สำคัญ เรื่องนี้ต้องร่วมมือกันจริงจัง

ที่ผ่านมาจากการสำรวจ รพ.เอกชนใน กทม.พบว่า มีการขยายเตียงไอซียูเพิ่มขึ้น บางแห่ง 20% บางแห่ง 100% ขยายเพิ่มมาก็จะเต็มหมดแล้ว และต้องมีการส่งต่อไปในจังหวัดที่มีการระบาดน้อย อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือ ต้องยอมรับว่าบุคลากรที่จะดูแลผู้ป่วยเริ่มมีไม่เพียงพอ

สิ่งที่เป็นห่วงและจะต้องพยายามเร่งทำในตอนนี้ก็คือ การตัดวงจรการระบาดให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องวางแผนให้ดีทั้งเรื่องเตียง เรื่องยา เรื่องคน (บุคลากรทางการแพทย์) รวมทั้งวัคซีน