ส.ภัตตาคาร วอน ประยุทธ์ ผ่อนปรนนั่งกินที่ร้านได้-เยียวยาผู้ประกอบการ

สมาคมภัตตาคารไทยส่งหนังสือถึงประยุทธ์

สมาคมภัตตาคารไทย ทำหนังสือยื่น “ประยุทธ์” วอนผ่อนปรนนั่งกินอาหารที่ร้านได้ พร้อมเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และเจรจาห้างลดค่าเช่า 50%

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ประกาศให้ 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ) เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) โดยกำหนดห้ามนั่งรับประทานภายในร้านอาหาร ให้สั่งซื้อกลับบ้าน (ไม่เกิน 21.00 น.) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารค่อนข้างมาก

ล่าสุด นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เผยว่า ได้ทำหนังสือยื่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) แล้ว เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่ง ศบค. ที่ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นเวลา 14 วัน

เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมาก ซึ่งอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการจากมาตรการครั้งนี้ โดยหากปล่อยให้ประกาศดังกล่าวกินเวลาเต็ม 14 วัน จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจประเทศตามมา ซึ่งมูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยประมาณการจากคำสั่งล่าสุดนี้ อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารมีห่วงโซ่เชื่อมโยงต่อธุรกิจอื่น ๆ มากมาย โดยเฉพาะภาคการเกษตร

“สมาคมฯ และร้านอาหารทราบดีมาตลอดถึงความห่วงใยของรัฐบาล ที่มีมายังผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤตระบาดโควิด จึงให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา แม้ต้องแบกรับความเสียหายทางธุรกิจไว้โดยลำพังก็ตาม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการในส่วนของร้านอาหารและพิจารณามาตรการช่วยต่าง ๆ ตามที่ได้นำเสนอมานี้” นางฐนิวรรณกล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า สมาคมฯ มีข้อเรียกร้องยังนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา 2 ข้อ ได้แก่ 1.อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. งดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และขอให้พิจารณาอนุญาตตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 โดยเฉพาะร้านอาหารที่ได้รับตรามาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (เอสเอชเอ) ที่มีอยู่กว่า 2,000 ราย ส่วนร้านอาหารที่ยังไม่ได้ตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ ขอให้พิจารณาอนุญาตกลับมาให้นั่งทานในร้านได้เช่นกัน โดยมีข้อบังคับให้ร้านอาหารประเภทดังกล่าวดำเนินการ

นางฐนิวรรณ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอที่ 2 เป็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ถูกกระทบจากโควิดตั้งแต่รอบแรกจนมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ด้วยมีข้อกำหนด หลักเกณฑ์มากมายไม่สอดคล้องต่อสภาพความจริงของการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องประสบกับปัญหาด้านการเงินอย่างมาก

จึงขอพิจารณาเยียวยา ได้แก่ รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้าง เงินเดือน 50% งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน และพักการชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี ขอความกรุณารัฐบาลโดย ศบค.ประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% โดยเจ้าของพื้นที่ที่ให้ส่วนลดสามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป

ซึ่งเป็นการช่วยประคับประคองร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบมาตลอดทั้งปี รวมถึงการช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่มักมีทัศนคติว่า ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งที่ความเสี่ยงนั้นมีเฉพาะในช่วงเกิดโควิดแบบนี้ สะท้อนได้จากธุรกิจร้านอาหารในอดีตมีความมั่นคงมาก เพราะเป็นธุรกิจที่มีเงินสดหมุนเวียนทุกวัน