“ล็อกซเล่ย์” จัดทัพรุกเทรดดิ้ง ลุยสินค้ากัญชา-เพิ่มคู่ค้าดันยอดหมื่นล้าน

“ล็อกซเล่ย์” จัดทัพใหม่ลีนองค์กร โละธุรกิจกำไรน้อย เบนเข็มโฟกัส กลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งเพิ่ม หลังกระแส work from home-ประชาชนกักตัว-งดทานอาหารนอกบ้าน ดันตลาดเครื่องปรุงโตเท่าตัวรอบหลายปี พร้อมเร่งจัดทัพผนึกพันธมิตร มองหาความร่วมมือจ่อปิดดีลใหม่เพิ่ม 3-4 รายการในปี 2565 หลังผนึกบุญรอดเทรดดิ้งนำร่องกระจายสินค้าช่วงที่ผ่านมา หวังเสริมแกร่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด วางเป้าโกยยอดขายกลุ่มเทรดดิ้ง 10,000 ล้านบาทในอีก 3-4 ปี

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างภายในด้วยการลดหน่วยงานที่ไม่ทำกำไรมากนัก โดยจะลดและยกเลิกการดำเนินธุรกิจในบางกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอที มือถือลงในบางส่วนและจะหันมาโฟกัสการทำธุรกิจใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.สายธุรกิจบริการ 3.สายธุรกิจพลังงาน 4.สายธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่นส์ และ 5.สายธุรกิจเทรดดิ้ง โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ภายใต้บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภค-บริโภค

เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน หันมาประกอบอาหารรับประทานเอง ทำให้บริษัทหันมาโฟกัสมาในส่วนของกลุ่มอาหารมากขึ้น พร้อมทั้งชะลอแผนงานการขยายเข้าไปยังธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ day care ออกไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงนี้อีกด้วย เพื่อให้บรรลุวิชั่นที่ต้องการ 3-4 ปี นับจากนี้ในการเป็นธุรกิจเทรดดิ้งที่มีรายได้ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3,667 ล้านบาท

“เรามีการโลว์เทรดพนักงานกว่า 25% จากพนักงานที่มี ทั้งการรับเข้าทำงานใหม่และการปรับออกในบางส่วน พร้อมทั้งมีการดำเนินงานบริหารจัดการทางการเงิน ลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น ในการบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถลดต้นทุนการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานลง 27% จากปีก่อนหน้า หลังจากเดิมบริษัทขาดทุนสะสมมานาน แต่เมื่อ ต.ค.ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้และมีการเติบโตอย่างชัดเจน ซึ่งนับจากนี้บริษัทก็พร้อมที่จะเดินหน้าเชิงรุกเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด”
ลุยสินค้ากัญชา

ซีอีโอบริษัท ล็อกซเล่ย์ระบุด้วยว่า สำหรับแผนงานในส่วนของกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งนับจากนี้จะเน้นการมีการปรับตัวหลายด้านเพื่อกระจายความเสี่ยง และรวมถึงมองหาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) กับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเสริมแกร่งโดยมองหาพันธมิตรที่มีความพร้อมในการทำตลาด และโฟกัสการทำตลาดไปยังส่วนของจัดส่งสินค้าอุปโภคภายใต้การจัดจำหน่ายของล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง เพื่อรองรับตลาดที่มีความต้องการสูง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะได้เห็นดีลใหม่ ๆ และมีมูลค่าสูงเกิดขึ้น

พร้อมทั้งเพิ่มพอร์ตโฟลิโอสินค้าใหม่ ๆ ในกลุ่มเทอร์พีน วอเตอร์ ในการจัดส่ง รวมถึงสินค้ากัญชา-กัญชงในอนาคตหากพันธมิตรมีการผลิตออกมา เพื่อกระจายสินค้าไปยังร้านค้าต่าง ๆ จากปัจจุบันที่มีสินค้าหลีก คือ แปรงสีฟัน ยาสีฟันจอร์แดน เพื่อกระจายสู่ร้านค้าต่าง ๆ โดยปัจจุบันสินค้าหลักน้ำมันกุ๊ก กรีนนัท ฯลฯ ทำยอดขายถึง 90%

ขณะเดียวกัน หน่วยรถขายสินค้าหรือแคชแวนได้ยุติการทำเอง และไปร่วมกับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เพื่อกระจายสินค้าสู่ร้านต่าง ๆ แทน โดยเพิ่งนำสินค้าที่มีไปใช้บริการบุญรอดเทรดดิ้งในการกระจายสินค้าก่อน ในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังสินค้าในกลุ่มอื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเป็นพันธมิตรครั้งนี้ทำให้เข้าถึงร้านค้าและผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมบริษัทมีเครือข่ายร้านราว 40,000 แห่งทั่วประเทศ

“บริษัทหันมาโฟกัสการทำตลาดในกล่มเทรดดิ้งมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการและสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากปีที่ผ่านมา เราได้พันธมิตรใหม่ในกลุ่มน็อนฟู้ดครั้งแรกในกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากแบรนด์จอร์แดนเข้ามา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นในการขยาย (spin off) ไปยังธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้ขยายการร่วมมือออกไป หลังจากปีที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด น้ำมันพืชกุ๊กหนึ่งในสินค้าที่เราจัดส่งโตขึ้น 37% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงปกติ นั่นสะท้อนถึงการเติบโตในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องมีแผนงานการบริหารการจัดส่งสินค้า เพิ่มจำนวนสินค้า และมองหาพันธมิตรมากขึ้น”

นายสุรชกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการเติบโตด้วยการมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ ในการสร้างการเติบโตและขยายธุรกิจ เบื้องต้นมีการเจรจากับ 3 รายใหญ่ในกลุ่ม FMCG โดยคาดการณ์ว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในปี 2565 อย่างแน่นอน ซึ่งการขยับตัวดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีรายได้และการเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้านธุรกิจร้านอาหารที่บริหารงานโดยบริษัทลูกชื่อ แอลฟู้ด โซลูชั่น ในเครือล็อกซเล่ย์ กับร้าน “ร้านวาคิว ยากินิคุ (WaQ Yakiniku)” เป็นร้านอาหารสไตล์บุฟเฟต์ที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 9 ปี ก็มีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่จากการระบาดของโควิดก็ทำให้แผนงานบางส่วนต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป

โดยปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ 1.สาขาสยามพารากอน 2.สาขาดิ เอ็กซ์เพลส กาญจนาภิเษก 3.สาขาดิ การ์เด้น คลองเตย (ข้างอาคารล็อกซเล่ย์ คลองเตย) และ 4.สาขาเอสพลานาด ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 200 ตารางเมตร เน้นรองรับลูกค้าในย่านรัชดาฯ ห้วยขวาง และลาดพร้าว โดยตั้งเป้าจะมีรายได้ 20 ล้านบาทในปีหน้า

“ร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทอยากจะทำตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้มีความพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก แต่ทว่าในช่วงหลังกลับสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ปีหนึ่งสามารถทำยอดขายได้ 400 ล้านบาทแล้วในขณะนี้ และยังเติบโตอยู่ในอนาคตอย่างแน่นอน โดยช่วงที่ผ่านมาเราได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท สยามสมุทร วาริน จำกัด ในการเป็นเซ็นเตอร์สำหรับกลุ่มธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสและร้านอาหาร ซึ่งในส่วนของร้านอาหารยังดำเนินการอยู่ปกติ และธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสที่จัดส่งเข้าโรงแรม ร้านอาหาร อาจมีชะลอบ้างเล็กน้อย”

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งสามารถสร้างยอดขายเติบโตได้กว่า 40% ขณะที่ยอดขายในปัจจุบัน (Y to D) เติบโตไปแล้วกว่า 20% มั่นใจว่าแม้เศรษฐกิจและกำลังซื้อจะค่อนข้างชะลอตัว แต่ในส่วนของการจัดส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคก็จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีนี้วางเป้าหมายการเติบโตในกลุ่มเทรดดิ้งไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของสินค้าที่อยู่ภายใต้การจัดจำหน่ายของล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.grocery เช่น น้ำมันพืชกุ๊ก กะปิ-น้ำปลาตราชั่ง ผงปรุงรสทิพรส ปลากระป๋องซูมาโก สัดส่วน 80% 2.snack and beverage เช่น กรีนนัท ทาบิ กู๊ดไทม์ น้ำตาลสดเน็กตร้า สัดส่วน 12% 3.personanl care และอื่น ๆ เช่น แปรงสีฟันจอร์แดน มีสัดส่วน 8%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์มีรายได้รวมทั้งสิ้นที่ 14,311 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 13% จากปี 2562 ที่มีรายได้ 12,645 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตเพิ่มขึ้นของทางกลุ่มส่วนใหญ่มาจากการรับรู้งานขนาดใหญ่กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของสายธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่นส์ และการเพิ่มขึ้นของโครงการต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นรายได้ที่มาจาก 1.ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ 21.45% 2.สายธุรกิจบริการ 12.44% 3.สายธุรกิจพลังงาน 10.75% 4.สายธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่นส์ 32.40% และ 5.สายธุรกิจเทรดดิ้ง 24.57% และสายธุรกิจพิเศษอื่น ๆ 1.48%