รพ.เอกชน ปฏิเสธการรักษา เก็บค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิด มีโทษอย่างไร?

เปิดโทษรพ.เอกชนคิดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิด
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

หลังมีประชาชนร้องเรียนเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาโรคโควิดจากโรงพยาบาลเอกชน ผ่านสายด่วน 1130 ล่าสุดเพจไทยคู่ฟ้าของรัฐบาลออกมาชี้แจงเรื่องนี้ พร้อมระบุโทษสถานพยาบาลเอกชน ที่ปฏิเสธการรักษา-เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐบาล โดยสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยรายละเอียดเรื่องนี้ว่า จากกระแสข่าวมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาใน รพ. เอกชน แล้วต้องจ่ายส่วนต่างค่าห้องพัก ค่ายา ฯลฯ ขอยืนยันนะครับว่า “ไม่เป็นความจริง”

เพราะผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในทุก รพ. ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน จะได้รับการรักษาฟรี ยกเว้นผู้ป่วยหรือญาติขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น

ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 ที่ประกาศออกมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงขอให้ประชาชนวางใจได้ว่า หากเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ก็สามารถเข้ารับการรักษาจาก รพ. เอกชน ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากพบการเรียกเก็บค่ารักษาโรคโควิด-19 สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 หรือ สนง.สาธารณสุขจังหวัด

ป่วยโควิดรักษาฟรี รัฐพร้อมดูแล
.
จากกระแสข่าวมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาใน รพ. เอกชน แล้วต้องจ่ายส่วนต่างค่าห้องพัก ค่ายา…

โพสต์โดย ไทยคู่ฟ้า เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2021