โควิดระลอก 2-3 ฉุดรายได้ไตรมาสแรก บีเจซี ร่วงต่อเนื่อง

นอกจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยอดขายที่เคยพุ่งสูงเพราะการแห่กักตุนสินค้าเมื่อช่วงต้นปี 2563 ยังกลายเป็นทุกขลาภที่ทำให้ฐานการเปรียบเทียบสูงจนรายได้ปีนี้ติดลบหนักยิ่งขึ้นไปอีก

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ได้เผยแพร่ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระบุว่า การระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 ระลอก 2 และ 3 ส่งผลกระทบและทำให้รายได้ของธุรกิจต่างๆ ในเครือลดลงไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ อุปโภคบริโภคและการค้าปลีกสมัยใหม่หรือบิ๊กซีและเอเชียบุ๊ค ยกเว้นสินค้าเวชภัณฑ์และเทคนิคที่ยังคงสามารถเติบโตได้เล็กน้อย

สภาพการนี้ส่งผลให้รายได้รวมในไตรมาส 1 ของปี 2564 อยู่ที่ 35,616 ล้านบาท ลดลง 6,712 ล้านบาท หรือ 15.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2563 อย่างไรก็ตามหากเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2563 รายได้จะลดลงเพียง 7.8% 

ทั้งนี้ยักษ์ค้าปลีกให้เหตุผลของความแตกต่างนี้ว่า เป็นเพราะช่วงต้นไตรมาสแรกของปี 2563 สถานการณ์ต่างๆ ยังปกติ และการแห่กักตุนสินค้าช่วงปลายเดือนมีนาคมทำให้ฐานการเปรียบเทียบสูงผิดปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และสินค้าอุปโภคบริโภค 

โดยหากแบ่งตามรายธุรกิจแล้ว ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ บิ๊กซีและเอเชียบุ๊ค มีรายได้รวม 24,966 ล้านบาท ลดลง 5,598 ล้านบาท หรือ 18.3% เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปี 2563 แบ่งเป็นรายได้จากการขายสินค้าลดลง 4,947 ล้านบาท เหลือ 22,022 ล้านบาท หรือลดลง 18.3% เพราะการระบาดของโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่เน้นส่งเสริมค้าปลีกแบบดั้งเดิมเป็นหลัก 

ในขณะที่รายได้จากค่าเช่า ค่าบริการสถานที่และรายได้อื่น ลดลง 650 ล้านบาท หรือ 18.1% เป็น 2,944 ล้านบาท จากการลด-งดเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ 

ด้านกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น ยอดขายอยู่ที่ 4,971 ล้านบาท ลดลง 609 ล้านบาท หรือ 10.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2563 แต่หากเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยอดขายจะลดลงเพียง 17 ล้านบาท หรือ 0.4% เนื่องจากไตรมาส 1 ของปี 2563 เป็นฐานเปรียบเทียบที่สูงเพราะยอดขายจากการแห่กักตุนสินค้าเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 

สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ ยอดขายไตรมาส1 ของปี 2564 อยู่ที่ 4571 ล้านบาท ลดลง 467 ล้านบาท หรือ 9.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยนอกจากโควิด-19 และฐานเปรียบเทียบที่สูงแล้ว สถานการณ์ในประเทศเมียนมายังส่งผลกระทบต่อลูกค้าบรรจุภัณฑ์กระป๋องอีกด้วย

ในกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคนั้น ยอดขายเพิ่มขึ้น 45 ล้านบาท หรือ 2.4% เป็น 1,926 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพราะกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิคมียอดขายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2563 ยอดขายจะลดลง 233 ล้านบาท หรือ 10.8% เพราะยอดขายสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์ลดลง  

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสามัญผู้ภือหุ้นได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.78 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลแล้วหุ้นละ 0.18 บาท ทำให้เหลือการจ่ายเงินปันผลอีกหุ้นละ 0.6 บาท โดยจะจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564