รพ.นครธนลุยเนิร์สซิ่งโฮม-ร.ร.ผู้บริบาลชิงเค้กตลาดสูงวัย

รพ.นครธนเด้งรับกระแสสังคมสูงวัยฟีเวอร์ เตรียมเปิดหลักสูตรผู้บริบาล หนุนสร้างบุคลากรป้อนธุรกิจปลายปีนี้ พร้อมตั้งคลินิกดูแลผู้สูงวัย ชูจุดเด่นหมอเฉพาะทางรักษาสุขภาพแบบองค์รวมครบจบในที่เดียว จับกลุ่มกรุงเทพฯ-สายใต้ อาทิ สมุทรสาคร เพชรบุรี ก่อนต่อยอดสร้างเนิร์สซิ่งโฮม ปั้นที่พักระยะยาวรับคนไทย-คนต่างชาติ หลังหมดโควิด คาดแล้วเสร็จปี’66

ปัจจุบันในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในปี 2563 สถิติผู้สูงอายุมีมากกว่า 11 ล้านคน เพิ่มเป็น 17.57% จากในปี 2562 ที่มีสัดส่วนราว 16.73% และคาดการณ์ได้ว่า ภายในปี 2565 ประชากรผู้สูงอายุของไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2563

ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (complete aged society) สอดคล้องกับแนวโน้มผู้สูงอายุทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะทะลุ 2,000 ล้านคนภายในปี 2593 หรืออีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนผู้สูงอายุในเวลานั้นเพิ่มเป็น 22% จากประชากรโลกทั้งหมด

มุมหนึ่งนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนระบบสาธารณสุขที่ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่นี้ ถือเป็นขุมทรัพย์มหาศาลแหล่งใหม่ของกลุ่มธุรกิจเพื่อสุขภาพ อาทิ กลุ่มสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานบริบาลผู้สูงวัย ตลอดจนสินค้าอุปโภคและบริโภคสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ สินค้าสุขภาพ เครื่องดื่มสุขภาพ เป็นต้น ทำให้ในหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับการทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโตก้าวกระโดด มีมูลค่ารวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มเนิร์สซิ่่งโฮมที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมากในขณะนี้

นายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการทำคลินิกดูแลผู้สูงวัย และการบริบาลผู้สูงอายุ เป็นกระแสมาหลายปีจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทย ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง

จึงคาดการณ์ได้ว่าอีก 14 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2578 โครงสร้างสังคมไทยแปรเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (super-aged society) หรือมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 30% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า กลุ่มผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ความสามารถในการดูแลตัวเองลดลงเมื่อเจ็บป่วยส่งผลให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น หากได้รับการดูแล หรือการจัดการไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุและผู้ดูแลในระยะยาว

ดังนั้น ในปีนี้ รพ.นครธนจึงจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุ (geriatric clinic) ขึ้น โดยเปิดให้บริการครอบคลุมทั้งการดูแลรักษา ป้องกัน และฟื้นฟูแบบองค์รวม ครบจบในที่เดียว เพื่อรักษาผู้ป่วยสูงวัยที่มีผลกระทบหรือมีภาวะเปราะบางในหลายด้าน สามารถรับการรักษากับแพทย์ได้ในครั้งเดียว โดนไม่ต้องแยกแผนกเพื่อตรวจแยก พร้อมกับใช้แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (geriatric doctor) และทีมสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ (multidisciplinary care team) โดยเฉพาะ

“เบื้องต้นคลินิกผู้สูงวัยยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยเพิ่งให้ความสนใจไม่นานนัก การทำการตลาดจึงต้องเน้นไปทางการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แบรนด์บนช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงกลุ่มคนได้มาก ในอนาคตอาจทำคอนเทนต์บนยูทูบเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ลูกค้าในพื้นที่ เนื่องจากเราตั้งใจจับกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยในโซนสายใต้ รัศมี 20 กิโลเมตรจาก รพ. หรือลากยาวไปยันจังหวัดใกล้เคียง อาทิ สมุทรสาคร เพชรบุรี”

นอกจากนี้ ในเฟสต่อไปเล็งทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือเนิร์สซิ่งโฮม เพื่อรองรับเทรนด์ในอนาคตที่จะมีผู้สูงวัยในไทยเพิ่มขึ้น และดึงชาวต่างชาติเข้าพักเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเข้าสู่สภาวะปกติ โดยตลาดนี้แม้จะมีธุรกิจโรงพยาบาลและอสังหาริมทรัพย์เริ่มลงมาขยายตลาดในกลุ่มมากขึ้น แต่ยังถือว่ายังมีโอกาสอีกมากในระยะยาว ขณะนี้ได้เตรียมพื้นที่นอก รพ.ส่วนหนึ่งไว้แล้ว เน้นบรรยากาศร่มรื่น มีสถานที่ออกกำลังกาย มีศิลปะต่าง ๆ ช่วยในเรื่องสุขภาพจิตของผู้ป่วย

ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุบางรายต้องใช้เวลาพักรักษาตัวที่ รพ.ค่อนข้างนาน อาจปรับให้มาอยู่เนิร์สซิ่งโฮมนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการพักใน รพ. ส่วนหากเกิดกรณีฉุกเฉินก็สามารถไปถึง รพ.ได้เร็ว เนื่องจากพื้นที่ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยอยู่ไม่ห่างจาก รพ.นครธนมากนัก โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 คาดเสร็จเร็วสุดปี 2566

พร้อมกันนี้ รพ.นครธนได้เล็งเปิดโรงเรียนผู้บริบาล หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชม. โดยจะรับสมัครประชาชนทั่วไปที่อยากทำงานสายวิชาชีพ หรือกลุ่มคนที่ต้องการไลเซนส์ในการทำงานผู้บริบาลเต็มตัว ภายในปลายปี 2564 ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหลักสูตร

“แม้ปัจจุบันยังมีปัจจัยโควิดส่งผลกระทบ แต่ในอนาคตเชื่อว่ากระแสผู้สูงอายุจะดันให้ตลาดโตขึ้นอีกมาก ขณะนี้ รพ.นครธนต้องค่อย ๆ สร้างการยอมรับด้านบริการให้มากขึ้นเรื่อย ๆ สั่งสมความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้มั่นคงต่อไปในอนาคต”