โควิดสายพันธุ์เดลต้า ส่อทำไทยวิกฤต คาดตายสูงสุดเฉียด 3 พัน

โควิด
แฟ้มภาพ

โควิดในไทยยังหนัก นักวิชาการคาดเดลต้าขึ้นแท่นสายพันธุ์หลักใน 1 เดือน คาดแย่สุดทำยอดตายเฉียด 3,000 คน/เดือน แนะรัฐปรับแผนฉีดวัคซีน โฟกัสกลุ่มสูงวัย-โรคเรื้อรัง หวังลดอัตราการตาย เคลียร์เตียงไอซียู พร้อมเร่งนำเข้าวัคซีนทางเลือก ไฟเซอร์-ซิโนฟาร์ม-ซิโนแวค แก้ปมแอสตร้าเซนเนก้า ส่งมอบได้เดือนละ 5-6 ล้านโดส

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านระบาดวิทยาและที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปได้อย่างไร” โดยกระทรวงสาธารณสุข ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 โดยแต่เดิมมีสายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษเป็นสายพันธุ์หลัก

อย่างไรก็ดี การเข้ามาของสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย จะทำให้สถานการณ์ 3 เดือนจากนี้ไปแย่ลง สะท้อนจากพื้นที่แพร่ระบาดหนักเขตกรุงเทพฯ เป็นสายพันธุ์เดลต้ายึดครองแล้วกว่า 40% และคาดว่าในอนาคตอีกราว 1-2 เดือน จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของไทยแทน ซึ่งมีการติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.4 เท่า

หวั่นเดลต้าทำคนตายพุ่งเฉียด 3,000 คน/เดือน

“หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ที่เดือน มิ.ย. มีผู้เสียชีวิต 992 คน ในเดือน ก.ค. คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต 1,400 คน เดือน ส.ค. อัตราการเสียชีวิตเพิ่มเป็น 2,000 คน และเดือน ก.ย. จะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 2,800 คน ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขเราเดินต่อไปไม่ได้”

ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่าในกลุ่มผู้เสียชีวิตกว่า 80% เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้น หากเปลี่ยนเป้าการเปลี่ยนวัคซีนจากปกติเป็นการ “ปูพรม” ฉีดวัคซีนในทุกกลุ่ม จะฉีดกลุ่มสูงวัยได้ราวเดือนละ 10% โดยมีเป้าหมายหลักหลายจุดประสงค์ตั้งแต่การเปิดโรงเรียน โรงงาน ซึ่งหากดำเนินตามแผนเดิมจะไม่ทันวิกฤตเตียงขาด

แนะฉีดพุ่งเป้ากลุ่มสูงวัย

นพ.คำนวณ กล่าวต่อไปว่า ตนในฐานะนักวิชาการอยากเสนอให้เปลี่ยนเป้าการฉีดวัคซีน เป็นการพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุก่อน เพื่อลดการเสียชีวิตและลดการอาการเจ็บหนัก ซึ่งนำไปสู่การใช้เตียงวิกฤต ตลอดจนห้องไอซียู การนำวัคซีนที่มีในมืออยู่จำกัดมาใช้กับกลุ่มดังกล่าวจึงจะมีประสิทธิภาพที่สุด

“หากทำได้จะลดอัตราการเสียชีวิตลง โดยในเดือน ก.ค. จะเหลือราว 1,000 คน ส่วนเดือน ส.ค. เหลือ 800 คน และเดือน ก.ย. เหลือเพียงเดือนละ 600-700 คน เฉลี่ยเดือนละ 20 คน อยู่ในวิสัยที่เรายังรับได้ ในวันนี้เราไม่มีเตียงไอซียูแล้ว ควรใช้วัคซีนให้ถูกกลุ่มที่สุด กลุ่มคนสูงวัยและผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีประมาณ 18 ล้านคน ตอนนี้ฉีดไปแล้ว 2 ล้านคน ถ้าระดมฉีดกลุ่มนี้หลัก ๆ ใน 2 เดือน สถานการณ์จะดีขึ้น”

ยันซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้าพอใช้ได้

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตัวหลัก 2 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยวัคซีนซิโนแวคนำเข้ามาเฉพาะกิจรอบที่ระบาดหนัก พบว่าได้ผลในการป้องกันโรคราว 71-91% หากติดเชื้อโควิดก็จะมีอาการน้อย

ผลการศึกษาในประเทศบราซิลในกลุ่มประชาชน 70,000-80,000 คน ในสายพันธุ์บราซิล หรือ P1 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ราว 80-90% ส่วนผลการศึกษาจากประเทศอินโดนีเซียระบุว่า ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วยังสามารถติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากประเทศจีนพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เมืองกวางโจวประมาณ 166 คน ที่ฉีดซิโนแวคแล้ว สามารถลดการติดเชื้อได้ 69% ลดอาการปอดอักเสบได้ 73% และลดอาการบาดเจ็บรุนแรงไปจนถึงการเสียชีวิตได้ถึง 95%

ด้านวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะกลายมาเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยสามาถป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ได้สูงถึง 70-90% และในอินเดียพบว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 97% ส่วนการศึกษาในสายพันธุ์เดลต้าลดการติดเชื้อได้ 80-90% ประสิทธิภาพใกล้เคียงวัคซีนชนิด mrna ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงราว 94-95%

เล็งจัดหาวัคซีนอื่นเสริม หลังแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้ตามเป้า

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย ด้านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เร่งจัดหาวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส แต่ด้วยการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยสยามไบโอไซแอนซ์ เพิ่งเริ่มผลิตทำให้เดือน มิ.ย. ได้เพียง 6 ล้านโดส

ส่วนในเดือนต่อไปคาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนในประเทศมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 15-16 ล้านโดส/เดือน แต่ด้วยข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งต้องส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอื่น ๆ ทำให้ในแต่ละเดือนไทยจะได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันวัคซีนฯ จึงได้พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาเสริม หลังแอสตร้าเซนเนก้าอาจได้ไม่ตามเป้า 10 ล้านโดสต่อเดือน โดยได้จัดหาไฟเซอร์ ซึ่งได้สั่งจองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 20 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าน่าจะนำเข้ามาได้ราวไตรมาส 4 จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ไตรมาส 3 เนื่องจากรูปแบบของบริษัทวัคซีนต้องผลิตไปพร้อม ๆ กับการส่งมอบ ประกอบกับประเทศไทยสั่งจองช้า

ด้วยการติดปัญหารอบด้าน ที่ขณะนี้ดีมานด์ทั่วโลกสูง ผู้ซื้อเสียเปรียบในหลาย ๆ ด้าน จึงต้องผ่านการมองรอบด้าน และปรึกษาหลายฝ่าย อาทิ อัยการสูงสุด คณะรัฐมนตรี

“ขณะนี้วัคซีนที่จะได้ในช่วงไตรมาส 3 ได้ ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้า พร้อมกันนี้เรายังอยู่ระหว่างการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยการฉีดยี่ห้อเดียวกันรวมไปถึงการสลับฉีดกับวัคซีน mrna เพื่อหาวิธีการที่ทำให้ป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด”