“อธิพล ตีระสงกรานต์” นำ “ฟู้ดแลนด์” ก้าวข้ามพิษไวรัส

สัมภาษณ์พิเศษ

เกือบ 50 ปีของ “ฟู้ดแลนด์” บนเส้นทางสายค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทยที่ลูกค้าคุ้นเคย มาวันนี้ฟู้ดแลนด์ถูกส่งไม้ไปยังทายาทรุ่น 2 กับภารกิจปั้นอาณาจักรค้าปลีกแบรนด์ไทย ที่ถูกดิสรัปต์รอบด้านทั้งจากพฤติกรรมลูกค้า ความนิยมที่เปลี่ยนไป และการระบาดของโควิดที่กระทบลากยาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อธิพล ตีระสงกรานต์” ทายาทรุ่น 2 ผู้รับไม้ต่อจากผู้บุกเบิกอย่าง “สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล” ผู้เป็นพ่อ ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ถึงการปรับตัวฝ่าโควิดตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และแผนการบริหารจัดการรับมือวิกฤตนับจากนี้ไป

ค่าใช้จ่ายสวนทางรายได้

“อธิพล” เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการฉายภาพถึงสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงภาครัฐประกาศขยายล็อกดาวน์ และกำลังซื้อชะลอตัวว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงยากลำบากของหลายธุรกิจ สำหรับฟู้ดแลนด์ฯก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะร้านถูกและดี บริการอาหารตามสั่ง- ที่ขายอาหารปรุงสดก็ต้องปิดชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องรัดเข็มขัดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อพยุงธุรกิจให้เดินไปข้างหน้า

ขณะเดียวกันก็ต้องหันมาโฟกัสในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังสามารถเปิดได้มากขึ้น แม้การล็อกดาวน์จะกระทบต่อธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตไม่หนักมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหาร ผับบาร์ ฯลฯ แม้เจ้าของพื้นที่จะลดค่าเช่าให้ แต่มีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ยังคงเดิม ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ และเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง สวนทางกับรายรับที่เข้ามามาก

อีกด้านหนึ่งในช่วงล็อกดาวน์ก็ทำให้เรามีเวลากลับมาดูธุรกิจว่าสามารถปรับอะไรได้บ้าง แต่จากการระบาดที่ลากยาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนวันนี้ ยอมรับว่าตอนนี้ทำได้เพียงการรัดเข็มขัด เพื่อให้สภาพคล่องการทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ และบริหารจัดการเรื่องคนให้ดีที่สุด

ส่วนเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยส่วนตัวไม่ได้หวังว่าภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยซัพพอร์ตบริษัทหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่มองว่ารัฐบาลควรจะเข้ามาเยียวยาพนักงาน ลูกจ้าง หรือร้านค้ารายเล็กให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการลดหย่อนภาษี, การผ่อนปรนหนี้สินต่าง ๆ ที่ต้องทำให้ทั่วถึงไปยังกลุ่มคนรายเล็ก ๆ เพราะทุกคนยังต้องแบกรับหนี้สิน ค่าใช้จ่ายอยู่เหมือนเดิม

กำลังซื้อชะลอตัวปัญหาใหญ่

ทายาท “ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ระบุต่อไปว่า ตอนนี้แม้วิกฤตต่าง ๆ จะถาโถมเข้ามามากและหนักมาก แต่ก็ต้องมองบวก เพื่อให้สามารถฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ บางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน ภาวะแบบนี้ไม่ขาดทุนก็ดีแล้ว จากกำลังซื้อซบเซา รายได้ลดลงเช่นในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาบริษัทปรับตัวไปค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายหรือปรับตัวไปมากขนาดไหน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ การมีข้อจำกัดเรื่องกำลังซื้อที่ชะลอตัวจากการระบาดที่ลากยาว

ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจจะโชคดีกว่าธุรกิจอื่น ๆ อีกมากที่ถูกล็อกดาวน์ เนื่องจากรายได้ยังพอมีเข้ามาให้เห็นบ้าง แม้ตัวเลขกำไรจะลดลง โดยตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ ปรับการบริหารงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ ลดส่วนที่ไม่จำเป็น และโฟกัสส่วนที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการบุคลากร

“ตอนนี้ไม่มีอะไรยากไปกว่าการบริหารจัดการเรื่องพนักงาน เนื่องจากช่วงการระบาดนี้มีพนักงานบางส่วนเป็นกลุ่มเสี่ยง มีพนักงานต้องหยุดงานจำนวนมาก บางแห่งต้องเปลี่ยนทีมซัพพอร์ตทั้งแผนกกว่า 70 คนที่ต้องหยุดกักตัว 14 วัน ทำให้จำนวนพนักงานในบางสาขาไม่เพียงพอ และจึงจำเป็นต้องมีการหมุนเวียนการทำงานแต่ละสาขาให้เพียงพอ ตอนนี้หากพนักงานคนไหนมีอาการ หรือเข้าข่ายว่ามีความเสี่ยง บริษัทต้องสั่งหยุดงานทันที โดยไม่ต้องรอใบตรวจโรค เพื่อรักษาความปลอดภัยของส่วนรวม”

พับแผนขยายการลงทุน

คีย์แมนฟู้ดแลนด์ฯขยายความต่อไปด้วยว่า วิกฤตอย่างเช่นทุกวันนี้ ภาวะแบบนี้ การจะลงทุนอะไรใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก เช่น แทนที่จะเน้นทุ่มงบฯขยายสาขาและโฆษณา แต่ตอนนี้ต้องหันมาโฟกัสเรื่องสินค้าที่จะเน้นเติมสินค้าเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแช่แข็ง (frozen) และอาหารพร้อมทาน (ready to eat) เพื่อให้สอดรับกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่ประชาชนเน้นความสะอาด ทานเสร็จแล้วทิ้ง และไม่ต้องการขั้นตอนยุ่งยากในการทำ ขณะเดียวกันยังเป็นการรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ต่าง ๆ ที่ไปเร็วมาเร็วมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค โดยโปรโมชั่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ 1 แถม 1 และโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม

อีกด้านหนึ่ง บริษัทก็พับแผนงานเดิมที่เคยวางไว้ เช่น การร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ นำเข้าสินค้ากิฟต์ช็อปจากประเทศจีน จากเมื่อเดือนกันยายนปี 2563 ที่ได้มีการเปิดนำร่องในสาขาลาดพร้าว โดยตัดสินใจชะลอแผนการขยายสาขา 2 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะเริ่มรุกตลาดอย่างจริงจังในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าจากจีนมีอุปสรรค

“อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบาก แต่ในแง่รายได้ เรายังวางเป้าหมายไว้ใกล้เคียงกับปี 2562 หรือราว ๆ 6,000 ล้านบาท จากปี 2563 ที่เติบโต 5% แต่กำไรน้อยกว่า” ทายาทมือวาง ฟู้ดแลนด์ฯย้ำในตอนท้าย