ฟาวิพิราเวียร์ส่อขาดซ้ำรอยวัคซีน จี้เปิดโรงพยาบาลนำเข้า-จ้างผลิต

หวั่น “ฟาวิพิราเวียร์” ขาด เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่งไม่หยุด ดันยอดการใช้ยาต้านไวรัสกระฉูด เดือนเดียวพุ่ง 5-6 เท่า ทะลุวันละกว่า 7 แสนเม็ด รพ.ต้องวิ่งยืมฝุ่นตลบ ชมรมแพทย์ชนบทจี้เลิกระบบรวมศูนย์ เปิดช่อง รพ.-สปสช.จัดซื้อได้เอง ไม่ต้องผ่านองค์การเภสัชฯ เชื่อราคาไม่แพง สภาเภสัชกรรมแนะจ้างโรงงานคุณภาพช่วยผลิต

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในจังหวัดภาคกลาง เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ผลจากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่งขึ้นในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันที่มากกว่า 2 หมื่นคน/วัน และมีตัวเลขผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษารวมมากกว่า 210,000 ราย

ทั้งที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมทั้งโฮมไอโซเลชั่น (HI) และคอมมิวนิตี้ไอโซเลชั่น (CI) เริ่มส่งผลให้ยาต้านไวรัส โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์มีปริมาณไม่เพียงพอกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น

“เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 สิงหาคม) เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางโทร.มาแจ้งว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่กำหนดจะส่งถึงโรงยาบาลในวันที่ 5 สิงหาคม มีเหตุขัดข้อง และจะมีการส่งมาในวันที่ 7-8 สิงหาคม

ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มียาจ่ายให้คนไข้ และต้องไปขอยืมจากจังหวัดใกล้เคียงมาจ่ายให้คนไข้ก่อน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเมื่อได้รับยาจากองค์การเภสัชกรรมมาก็นำมาใช้คืนกลับไป”

จับตาฟาวิพิราเวียร์ขาด

แหล่งข่าวรายนี้ยังเปิดเผยตัวเลขการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในขณะนี้ด้วยว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ยอดรวมการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ของทุกเขตสุขภาพ (1-12) ตัวเลขอยู่ที่ 693,696 เม็ด

ทั้งนี้เป็นยอดที่ไม่นับรวมยอดของกรุงเทพมหานคร ที่คาดว่าตัวเลขน่าจะอยู่วันละประมาณ 1 แสนเม็ด ขณะที่ตัวเลขยอดคงเหลือ หรือสต๊อกยาที่แต่ละเขตเหลืออยู่มีรวมทั้งสิ้น 2,230,822 เม็ด

โดยเขตสุขภาพที่มีการใช้มากสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย เขตสุขภาพที่ 4 (นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง) จำนวน 172,799 เม็ด

รองลงมาเป็น เขตสุขภาพที่ 6 (ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว) จำนวน 129,228 เม็ด และเขตสุขภาพที่ 5 (กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี) จำนวน 107,898 เม็ด ส่วนยอดสต๊อกยาที่แต่ละเขตเหลืออยู่มีรวมทั้งสิ้น 2,230,822 เม็ด

ขณะที่ยอดการใช้ยา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ยอดรวมการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ของทุกเขตสุขภาพ (1-12) อยู่ที่ 719,200 เม็ด และมียอดคงเหลือ 2,914,171 เม็ด

ทั้งนี้ จากตัวเลขการใช้ยาในแต่ละวันที่สูงประมาณ 700,000 เม็ด และสต๊อกยาที่เหลืออยู่เพียง 2.23 ล้านเม็ด หากองค์การเภสัชฯไม่ส่งยามาเพิ่ม สต๊อกยาที่เหลืออยู่คาดว่าจะมียาจ่ายให้คนไข้ได้ประมาณ 3-4 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละเขตจะมีสต๊อกยาเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด

“ตอนนี้ นอกจากผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามที่ต้องใช้ยาต้านไวรัสแล้ว ช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สธ.ได้กำหนดให้มีการใช้ยากับกลุ่มผู้ป่วยที่กักตัวในโฮมไอโซเลชั่น และคอมมิวนิตี้ไอโซเลชั่นด้วย จึงทำให้การใช้ยามีเพิ่มขึ้นมาก และมีแนวโน้มว่าจะขาด โดยเพียงเดือนเดียว ยอดการใช้ยามีตัวเลขเพิ่มขึ้นมากมาถึง 5-6 เท่าตัว จากเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ตัวเลขการใช้ยามีเพียงประมาณ 122,425 เม็ดเท่านั้น”

จี้เปิดช่อง รพ.-สปสช.ซื้อเองได้

แหล่งข่าวจากชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาปัญหายาฟาวิพิราเวียร์ขาดมีเกิดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ และเป็นที่รับรู้กันดีของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน

ซึ่งปัญหานี้หลัก ๆ เกิดมาจากระบบที่มีการรวมศูนย์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อไว้ที่รวมไว้ที่องค์การเภสัชกรรมเพียงแห่งเดียว และทำให้เกิดการผูกขาดในการจัดซื้อ และในทางปฏิบัติก็ไม่มีใครรับทราบข้อเท็จจริงว่า มียาอยู่ในสต๊อกเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด และไม่สามารถคาดการณ์หรือประเมินสถานการณ์ได้

ทางออกในเรื่องนี้ หลัก ๆ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรจะต้องแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และควรอนุญาตให้โรงพยาบาลสามารถซื้อหรือนำเข้าได้เอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกับกรณีของวัคซีนโควิดที่ตอนนี้ก็ยังหาทางออกไม่ได้

“หรือกรณีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ควรจะสามารถจัดซื้อยาหรือวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่าง ๆ ได้เองโดยไม่ต้องรวมศูนย์การจัดซื้อไว้ที่องค์การเภสัชฯ ไม่ต้องห่วงว่า สปสช.จะทำไม่ได้

องค์กรนี้เป็นองค์การที่มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และถือเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูง ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศผลิตได้ และราคาไม่แพง อย่างของอินเดีย ราคาไม่น่าจะเกินเม็ดละ 20 บาท หรืออาจจะต่ำกว่านี้ บวกค่าบริหารจัดการก็ไม่น่าจะเกิน 30 บาท หากซื้อมาก ๆ ราคาก็จะต่ำลงมาเอง”

แนะจ้าง รง.ยาใน ประเทศช่วยผลิต

ก่อนหน้านี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์สภาเภสัชกรรม เรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ด้วยการให้เร่งปรับขั้นตอนการอนุมัตินำยาออกสู่ตลาดของ อย. ให้ทำคู่ขนานไปกับการกระจายยาสู่ตลาด เพื่อให้สามารถเร่งยาออกสู่ตลาดเร็วขึ้น และในสถานการณ์ฉุกเฉินและเร่งด่วน

เร่งรัดให้มีการผลิตยาทั้งหมดภายในประเทศแทนการนำเข้า โดยให้องค์การเภสัชกรรมจ้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศที่มีศักยภาพให้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การเภสัชฯที่ได้ขึ้้นทะเบียนตำรับยาแล้ว เพื่อให้ได้เดือนละ 30 ล้านเม็ด

ในแถลงการณ์ฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีรุนแรงมากขึ้น ทำให้ความต้องการยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มมากขึ้น ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันละ 2 หมื่นคน ซึ่งต้องใช้ยาฟาวิพาราเวียร์ 50-60 เม็ดต่อคน จึงต้องการยาประมาณ 1 ล้านเม็ดต่อวัน หรือ 30 ล้านเม็ดต่อเดือน และจะมีความต้องการจะเพิ่มขึ้นถ้ายังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

และปัจจุบันเริ่มมีปัญหาความตึงตัวของปริมาณยาในประเทศ ทำให้ต้องทยอยกระจายยาให้ผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า องค์การจะเริ่มผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใต้ชื่อฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะผลิตแบบบรรจุแผง จำนวน 2.5ล้านเม็ด และจะเพิ่มการผลิตแบบบรรจุขวด ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติแบบบรรจุขวด จาก อย. ภายในเดือนสิงหาคมนี้

โดยในเดือนกันยายนจะผลิตยาได้ 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน และในส่วนของการจัดหาจากต่างประเทศนั้นในเดือนกรกฎาคม 2564 ได้มีการจัดหาเข้ามาแล้ว 13 ล้านเม็ด และในเดือนสิงหาคมจะนำเข้ามาเพิ่มอีก 43.1 ล้านเม็ด

ส.ค.กระจายวัคซีน 10 ล้านโดส

ในส่วนของแผนบริหารจัดการวัคซีน หลังภาครัฐปรับแผนบริหารจัดการและการกระจายวัคซีนใหม่ ภายในเดือน ส.ค.นี้ กรมควบคุมโรคระบุว่าจะเร่งกระจายวัคซีนให้จังหวัดต่าง ๆ รวม 10 ล้านโดส กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุ

กลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา

แผนการจัดส่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ระหว่างวันที่ 4-7 ส.ค. ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ลอตแรกส่งถึงปลายทางแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ กทม., จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สมุทรปราการ, นครนายก, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในช่วงที่ 2

ทั้งนี้ ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ณ วันที่ 5 ส.ค. 2564 รวม 19,632,537 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 รวม 397,275 ราย เข็มที่ 2 รวม 98,369 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 175,190 ราย

ขณะ กทม.รายงานผลการฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม. ณ วันที่ 6 ส.ค. เข็มที่ 1 รวมทั้งสิ้น 4,129,989 โดส ครบ 2 เข็ม 1,150,702 โดส ยอดสะสมรวม 6,431,393 โดส