พิษล็อกดาวน์ลากยาวทุบธุรกิจฟิตเนสหมื่นล้าน รายย่อยสุดทนต้นทุนท่วมทยอยม้วนเสื่อ ขณะที่ “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” พลิกตำรามุ่งรักษาฐานสมาชิก-พนักงาน รัดเข็มขัด งดโปรโมชั่น-การตลาด ค่ายใหญ่ทยอยปูพรมคลาสออกกำลังออนไลน์-คอนเทนต์สุขภาพคึกคัก ขณะที่ “ฟิตเนส เฟิรส์ท” ปิ๊งไอเดียหารายได้เสริมให้เช่าอุปกรณ์ออกกำลังกายถึงหัวบันไดบ้าน “เจ็ทส์ ฟิตเนส” เปิดแอปพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกสมาชิก
การต้องปิดบริการชั่วคราวตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาลากยาวมาจนถึงวันนี้ รวมเวลากว่า 5 เดือน และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ ทำให้วงการฟิตเนสมูลค่าราว ๆ กว่าหมื่นล้านบาทต้องสั่นสะเทือน โดยจำนวนผู้อยู่ในตลาดที่มีอยู่ราว ๆ 700-800 ราย ถึงวันนี้รายย่อยที่สายป่านไม่ยาวเริ่มทยอยปิดตัวลง ขณะที่รายใหญ่เองก็ต้องเผชิญความท้าทายและต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะการรักษาฐานลูกค้าและพนักงาน การลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการพยายามสร้างรายได้จากกิจกรรมหรือคลาสออกกำลังกายออนไลน์เสริมเพื่อประคับประคองสถานการณ์
ล็อกดาวน์ทำรายเล็กม้วนเสื่อ
ดร.วุธรวี จารุวัฒนะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด เชนฟิตเนสสัญชาติอังกฤษ ซึ่งมีสาขาใน 237 สาขาทั่วโลก อาทิ สหราชอาณาจักร อิตาลี แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ และอื่น ๆ รวมถึง 8 สาขาในไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 5 เดือน ส่งผลกระทบกับตลาดฟิตเนสอย่างหนัก เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่กว่า 50% จากผู้ประกอบการที่มีอยู่ประมาณ 700-800 ราย เปิดให้บริการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ต้องปิดบริการในช่วงล็อกดาวน์ทั้ง 2 รอบ
แต่อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการยังมีค่าใช้จ่ายในแง่ของพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ต้องหาวิธีรักษาฐานลูกค้าและทีมงานเอาไว้
ผลกระทบและโจทย์เหล่านี้ทำให้ที่ผ่านมารายย่อยสายป่านไม่ยาวเริ่มอ่อนแรงและทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถรับมือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการฟิตเนสจำนวนหนึ่ง ก็พบว่าเพียงช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่มีรายย่อยปิดตัวไปอย่างน้อย 30-40 รายแล้ว
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่แม้จะมีสายป่านที่ยาว แต่ต้องเผชิญความท้าทายด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นอกจากทำงานหรือเรียนที่บ้านทำให้ความสนใจและเวลาออกกำลังกายน้อยลง ความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดทำให้สมาชิกหยุดใช้บริการชั่วคราว สมาชิกส่วนหนึ่งไม่ต่อหรือยกเลิกสัญญาเพื่อรอดูสถานการณ์ และครูฝึก (เทรนเนอร์) จำนวนหนึ่งขาดรายได้-ต้องย้ายงาน
เวอร์จิ้นฯรัดเข็มขัด-รักษาสมาชิก
ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ กล่าวว่า สำหรับทิศทางของเวอร์จิ้นฯที่ขณะนี้เปิดให้บริการได้เพียงสาขาเดียวที่เชียงใหม่ จากทั้งหมด 8 สาขา และขณะนี้ไม่มีการเก็บค่าสมาชิกและบริการต่าง ๆ เช่น คลาสและเทรนเนอร์ออนไลน์ให้บริการฟรีทั้งหมด และมีผู้ใช้บริการประมาณ 60% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ จากนี้ไปหลัก ๆ จะมุ่งไปที่การรักษาฐานสมาชิกและพนักงานอีกกว่า 500 คนที่มีอยู่ไว้ เนื่องจากมองว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายและกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง
โดยด้านฐานสมาชิกนั้นเน้นเพิ่มเอ็นเกจเมนต์หรือเพิ่มความถี่ของการสื่อสารและกิจกรรมกับสมาชิกให้มากขึ้น เช่น จัดคลาสออกกำลังออนไลน์ 6-7 คลาสต่อวัน การเปิดบริการเทรนเนอร์แบบตัวต่อตัวผ่านออนไลน์ การร่วมมือกับแพทย์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ผลิตรายการความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ “Meet our doctor” รวมถึงการกระตุ้นให้พนักงานติดต่อพูดคุย-แนะนำการออกกำลังและรับฟังฟีดแบ็กกับสมาชิกสม่ำเสมอ
“ความท้าทายของคลาสออกกำลังกายออนไลน์ คือ ใคร ๆ ก็ทำได้และยังฟรีด้วย เราจึงต้องเน้นต่อยอดนำฟีดแบ็กของลูกค้าและพนักงานมาสร้างความแตกต่างเพื่อให้เป็นตัวเลือกแรกของสมาชิก และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องนี้จะช่วยลดการยกเลิก-ไม่ต่อสัญญาลง ส่วนพนักงานขณะนี้ยังมีการจ่ายเงินเดือนต่อเนื่อง โดยปรับเปลี่ยนจำนวนเงินตามสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดคอร์สอบรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการฝึกสอนออกกำลังหรือการบริหาร-รับมือปัญหาต่าง ๆ ในธุรกิจ”
ขณะเดียวกัน ก็จะเน้นการบริหารจัดการต้นทุน-ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่อง โดยเน้นการรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น งดทำโปรโมชั่นและสื่อโฆษณา โดยจะเน้นการสื่อสารกับสมาชิกผ่านโซเชียล-แอปเท่านั้น แม้ทางการอาจจะคลายล็อกดาวน์เร็วก่อนสิ้นปี แต่ก็จะไม่มีการทำโปรโมชั่นเพื่อดึงลูกค้าใหม่ โดยจะเน้นการรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมตัวรองรับในกรณีที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง บริษัทได้เตรียมแผนสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการ โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกโดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาด ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกอาจจะมีสมาชิกกลับมาใช้บริการไม่มากนักหรือประมาณ 10% เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดอยู่ นอกจากนี้ กำลังศึกษาโมเดลแพ็กเกจสมาชิกแบบไฮบริดและแบบออนไลน์ไว้รองรับผู้บริโภค-สมาชิกที่ต้องการใช้บริการทั้งออนไลน์และในสาขาผสมกัน หรือใช้บริการออนไลน์เพียงอย่างเดียว
“คาดว่าการล็อกดาวน์ในปีนี้จะทำให้ฐานสมาชิกของบริษัทลดลงไปประมาณ 10-20% จากปี 2563 ซึ่งนับว่าสูงเมื่อเทียบกับช่วงปกติแต่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปีนี้เรามีเป้าหมายเพียงการรักษาฐานลูกค้าและพนักงานเอาไว้เท่านั้น” ผู้บริหาร เวอร์จิ้น แอ็คทีฟย้ำ
คลาสออนไลน์แข่งหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านความเคลื่อนไหวของฟิตเนส เฟิรส์ท ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีสาขามากถึง 34 สาขา ล่าสุดเปิดบริการ Virtual Studio Class ซึ่งเป็นคลาสออกกำลังออนไลน์ทั้งแบบสด 6-7 คลาสต่อวัน และย้อนหลังบนแอป Fitness first asia รวม 1,800 คลาส และโปรโมชั่นลดราคาจาก 89 บาท เหลือ 59 บาทต่อเดือน รวมถึงเปิดให้เช่าอุปกรณ์อย่างจักรยานออกกำลัง และบาร์ยกน้ำหนัก ราคา 3,500 บาท และ 2,500 บาทต่อ 4 สัปดาห์ตามลำดับ โดยต้องวางมัดจำราคาเท่ากัน ซึ่งจะคืนให้เมื่อหมดสัญญา พร้อมโปรโมชั่นส่งฟรีในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
รวมทั้งดึงเทรนเนอร์ทั้งจากฟิตเนส เฟิรส์ท และเซเลบริตี้ ฟิตเนสมาร่วมจัดคลาสออกกำลังออนไลน์ หลากหลายรูปแบบ 5-6 คลาสต่อวัน เช่น คลาสสำหรับเด็ก คลาสเต้น มวยไทย ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ล็อกดาวน์ปี 2563
เช่นเดียวกับเจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง ที่ปัจจุบันเปิดทำการได้เพียงสาขาภูเก็ตและเชียงใหม่ จากทั้งหมด 37 สาขา ที่มีการระดมจัดคลาสออนไลน์ 8 คลาสในวันธรรมดา และ 5 คลาสในวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่าย “คอร์สเทรนเนอร์ส่วนตัว” 12 ครั้ง ราคา 9,600 บาท จากปกติ 12,000 บาท สามารถเลือกได้ทั้งใช้ทันทีหรือช่วงคลับเปิดแล้ว นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการคลาสออนไลน์ โดยมีคลาสออกกำลังแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะบนแอปด้วย
ก่อนหน้านี้นายเดน แคนท์เวล กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เจ็ทส์ ฟิตเนส ประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ฟิตเนสต้องปิดให้บริการชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กอาจทำให้ต้องปิดบริการไปจำนวนหนึ่ง สำหรับเจ็ทส์ ฟิตเนสแม้ว่าจะเปิดให้บริการได้เพียง 2 สาขา คือ ภูเก็ต และเชียงใหม่ บริษัทได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ เช่น เจรจากับเจ้าของพื้นที่เพื่อลดค่าเช่า และยืนยันว่าไม่มีแผนลดคน แต่จะใช้วิธีการลดเงินเดือนลงแทน ขณะเดียวกัน ก็จะมุ่งหารายได้มาเสริม
รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาฐานสมาชิกเดิมไว้ด้วยโมเดลไฮบริด ซึ่งเป็นแพ็กเกจครูฝึกส่วนตัวแบบใช้ได้ทั้งในสาขาและออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลในราคาจับต้องได้ หรือเฉลี่ยครั้งละ 500 บาท และภายในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการคลาสออนไลน์ การให้ความรู้ด้านสุขภาพและการออกกำลังผ่านทางโซเชียลมีเดีย และคลาสออกกำลังฟรีผ่าน live stream