ซิตี้เฟรชฯพลิกแผนฝ่าโควิด ชูออนไลน์สินค้าใหม่ปั๊มยอด

โควิดกระทบตลาดผลไม้อิมพอร์ต “ซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ต” ปรับทัพใหม่ ลุยสร้างแบรนด์ “ซิตี้ เฟรช” เจาะลูกค้าทั่วไปผ่านออนไลน์ พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่อีซี่สมูทตี้ ผลไม้แปรรูปแช่แข็งพร้อมทานตอบโจทย์ลูกค้า มั่นใจสิ้นปีปั้นยอดโต 15-20% ทะลุ 2,000 ล้าน ก่อนวางเป้าหมายระยะยาวทะยานสู่แบรนด์ แพลตฟอร์ม คอมมิวนิตี้สำหรับกลุ่มคนที่ชื่นชอบการรับประทานผลไม้

นางสาววรรณนิศา ฉัตรอมรวงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ต จำกัด บริษัทในเครือซิตี้เท็กซ์ กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลไม้จากต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และมีหลายประเทศที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อลดและป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบกับตลาดนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทต้องมีการปรับแผนการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ปรับการบริหารจัดการสต๊อก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็กลับพบว่า ช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ส่งผลให้ยอดขายทางช่องทางออนไลน์ของบริษัทโต 80-90%

สำหรับแผนงานจากนี้ยังคงให้ความสำคัญกับการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน ไม่ว่าการสั่งสินค้า การสต๊อกสินค้า การเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การมอนิเตอร์รายรับ-รายจ่าย กระแสเงินสด ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด รวมถึงการขยายห้องเย็นให้สามารถจัดเก็บสินค้าได้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนชั้นจัดวางสินค้าเพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเรียง เพื่อเพิ่มสต๊อกสินค้าอีก 30-40% ซึ่งจะช่วยลดรอบการนำเข้าได้อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็เน้นการสร้างแบรนด์ “ซิตี้ เฟรช” ให้แข็งแกร่ง ผ่านการทำตลาดในช่องทางออนไลน์ (B2C) มากขึ้น โดยจะมีการทำโฆษณาผ่านออนไลน์ควบคู่กับการสื่อสารแบรนด์ อาทิ สปอตวิทยุในศูนย์การค้า ป้าย บิลบอร์ดต่าง ๆ การจัดดิสเพลย์ ซุ้มจำหน่ายสินค้า เพื่อสร้างการรับรู้ ขณะเดียวกันก็จะมีการขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อาทิ กลุ่มที่เล่นโซเชียลมีเดียที่มีความสนใจศึกษาข้อมูลสินค้าผ่านออนไลน์ กลุ่มร้านค้าที่จำหน่ายผลไม้ออนไลน์ จากปัจจุบันที่กลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ในช่วงอายุ 30-45 ปี (เจนเอ็กซ์, เจนวาย) มีกำลังซื้อ และเน้นเรื่องคุณภาพ และใส่ใจคุณภาพผ่านสินค้าดีมีมาตรฐาน

นอกจากนี้ยังมีการนำจุดแข็งด้านบีทูบีของบริษัท ด้วยการนำสินค้าที่เป็นจุดแข็งในช่องทางโฮลเซลของมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างแบรนด์และสร้างการรับรู้มากขึ้น เช่น โดนัทพีช นอกจากนี้ยังมีการนำระบบ CRM เข้ามาใช้ในการขาย โดยเริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของลูกค้ามาใช้ในการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการให้มากที่สุด การจัดกลุ่มลูกค้าในการสร้างบริการทางการขาย ไปจนถึงระบบสมาชิกตามเทียร์ต่าง ๆ

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การระบาดโควิดทำให้มารุกออนไลน์อย่างจริงจัง และได้รับการตอบรับที่ดี แบรนด์ซิตี้ เฟรช เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีเพียงลูกค้าบีทูบี ห้าง และโฮลเซลรู้จักเท่านั้น โดยจะมีการทำตลาดควบคู่กันไปทั้งสองขาธุรกิจ และแม้เราจะขยายไปยังออฟไลน์ ตามศูนย์การค้าต่าง ๆ มากขึ้น แต่การจะสร้างแบรนด์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าจะยังอยู่ในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยชูจุดแข็งที่มีการการันตี หากพบสินค้ามีปัญหายินดีเคลมสินค้าทันทีใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและพอใจให้แก่ลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์”

ขณะเดียวกันยังมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลไม้ที่ผลเล็กกว่ามาตรฐาน แต่ยังสดใหม่ มาแปรรูปเป็นสินค้าจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอีซี่สมูทตี้ หรือผลไม้แช่แข็งพร้อมทานรสชาติต่าง ๆ โดยได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมมีแผนต่อยอดกลุ่มสินค้าใหม่ ๆ จากผลไม้สดออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าแปรรูปในการตอบโจทย์ตลาด

ด้านนายวงศกร ฉัตรอมรวงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ต กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากการระบาดของโควิด ส่งผลกระทบให้ภาคการขนส่ง (อิมพอร์ต) มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้จำเป็นต้องมีการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการเลือกซัพพลายเออร์หรือปรับเปลี่ยนสายเรือนำเข้าที่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนด ลดความเสี่ยงความล่าช้าจากสถานการณ์โควิด

อย่างไรก็ตาม จากความหลากหลายทางช่องทางจำหน่ายของบริษัทก็ถือเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบในการบาลานซ์ช่องทางจำหน่าย เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้านตัวแบรนด์ และความมีคุณภาพของสินค้ามากกว่าด้านยอดขาย จากการทำตลาดผ่านแนวคิดดังกล่าว พบว่าปัจจุบันบริษัทมีอัตราการซื้อซ้ำของลูกค้าอยู่ที่ 70% โดยวางเป้าหมายเพิ่มเป็น 80% ในสิ้นปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ขณะที่ลูกค้าใหม่ก็เปลี่ยนเป็นลูกค้าประจำค่อนข้างมาก

“สิ้นปีนี้เราตั้งเป้าในแง่ของยอดขายประมาณ 1,800-2,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 15-20% จากปีที่ผ่านมา ช่องทางบีทูบีโต 30-35% ขณะที่ช่องทางบีทูซี หรือกลุ่มลูกค้าทั่วไปจะเติบโตขึ้นกว่า 100% จากปีที่ผ่านมาที่สามารถปิดยอดขายได้กว่า 1,500 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อยจากปี 2562 แม้กำไรจะลดลง แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับสถานการณ์ โดยวางเป้าหมายระยะยาวซิตี้ เฟรช ไม่ใช่โปรดักต์แบรนด์ แต่เป็นศูนย์รวมผลไม้ที่มีคุณภาพ มีบริการในการขายสินค้า จนกลายเป็นแบรนด์ แพลตฟอร์ม หรือคอมมิวนิตี้สำหรับกลุ่มคนที่ชื่นชอบการรับประทานผลไม้มารวมกัน”