อาจารย์โกร่ง

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

เวลาที่อยู่บนโต๊ะอาหารที่มี “อาจารย์โกร่ง” ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นั่งหัวโต๊ะและมีสื่อมวลชนรุ่นพี่นั่งรายล้อม

ผมจะทำตัวเป็น “นักเรียนน้อย” นั่งฟังและถามบ้างในบางจังหวะ

และทำเป็น “แม่บ้าน” คอยเก็บกวาด “เกร็ดธุรกิจ” หรือเศษประวัติศาสตร์การเมืองเพื่อนำมาทำมาหากินในคอลัมน์

“อาจารย์โกร่ง” เป็นผู้ใหญ่ใจดี มีความเป็น “ครู” สูงมาก

ถามอะไรโง่ ๆ ไป ท่านจะหันมาดุ

Advertisment

ดุเสร็จก็อธิบายให้ฟัง

นักข่าวเศรษฐกิจรุ่นเก่าโดยเฉพาะสายการเงินการคลังล้วนแต่เป็น “ลูกศิษย์” ของ “อาจารย์โกร่ง”

Advertisment

เพราะตอนนั้นนักข่าวส่วนใหญ่มีพื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจน้อย

“อาจารย์โกร่ง” ต้องชวนไปคุย ไปนั่งเล็กเชอร์เพื่อให้เขียนข่าวเศรษฐกิจได้ถูกต้อง

ผมมีโอกาสได้ร่วมวงกับ “อาจารย์โกร่ง” บ่อยขึ้นตอนที่ท่านมาเป็นกรรมการอิสระบริษัทมติชน

พี่ชลิต กิติญาณทรัพย์ จะเป็นตัวหลักในการเชิญ “อาจารย์โกร่ง” มากินข้าวกับสื่อมวลชนรุ่นใหญ่ที่คุ้นเคยกัน

นั่งคุย นั่งเมาท์กันสนุกสนาน

แต่ทุกครั้งจะได้ “ความรู้” กลับมาด้วยทุกครั้ง

ผมได้รู้เกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจจาก “อาจารย์โกร่ง” เยอะมาก

อย่างเช่น เรื่องของ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คุณสมหมาย เป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่น

“ป๋าเปรม” เป็นทหาร

คุณสมหมาย จะถือหลักว่า ถ้า “หัวหน้า” ไม่เรียกหา ก็จะไม่ไปรบกวน

ส่วน “ป๋าเปรม” ถือหลักทหารว่า ถ้า “ลูกน้อง” ไม่มารายงาน แสดงว่าไม่มีปัญหา

พอเกิดเรื่องทางเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การตัดสินใจลดค่าเงินบาท

คุณสมหมายก็ไม่ยอมไปหา “ป๋าเปรม” ที่บ้าน

“ป๋าเปรม” ก็ถือว่าเมื่อ “ลูกน้อง” ไม่มาก็ถือว่าไม่มีปัญหา

“อาจารย์โกร่ง” ต้องเป็น “ตัวกลาง” คอยประสานระหว่างคุณสมหมาย กับ พล.อ.เปรม

หรือเกร็ดเรื่องการลดค่าเงินบาท

“อาจารย์โกร่ง” รับรู้ปัญหาเรื่องนี้ พยายามจะขอเข้าพบ “ป๋าเปรม” เพื่ออธิบายความจำเป็นที่ต้องลดค่าเงินบาท

ตอนนั้น พล.อ.เปรม เพิ่งผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ พักอยู่ที่บ้าน

“อาจารย์โกร่ง” ตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาป๋าที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

ตอนนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นที่รู้กันว่าหนักมาก และแบงก์ชาติพยายามจะผลักดันเรื่องการลดค่าเงินบาท

พล.อ.เปรม ไม่อยากลดค่าเงินบาท เพราะรู้ว่าจะนำมาซึ่งปัญหาทางการเมืองอีกมากมาย

พอ “อาจารย์โกร่ง” โทร.มา ท่านก็รู้เลยว่าเป็นเรื่องอะไร

ประโยคแรกที่ “ป๋า” พูดกับ “อาจารย์โกร่ง” ก็คือ “รู้ใช่ไหมว่าป๋าป่วยอยู่”

ดักคอไว้ก่อนเลย

แต่ “อาจารย์โกร่ง” ก็ดึงดันที่จะพูดเรื่องนี้

สุดท้าย “ป๋าเปรม” ก็ตัดบทด้วยการบอกให้เขาไปพบกับ คุณศุลี มหาสันทนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่คุมเรื่องพลังงาน

คุณศุลีเป็นเพื่อน “ป๋า” ที่เรียนโรงเรียนสวนกุหลาบมาด้วยกัน

เช้าวันที่นัดกัน “อาจารย์โกร่ง” ก็ไปนั่งรอที่ห้องทำงานของคุณศุลี

รออยู่เกือบชั่วโมง “ศุลี” ก็ยังไม่มา

พักหนึ่ง รัฐมนตรีศุลีก็เปิดประตูห้องเข้ามา รีบขอเข้าห้องน้ำก่อน

มารู้ตอนหลังว่าคุณศุลีลืมว่านัด “อาจารย์โกร่ง” ไว้

กำลังจะไปสภา

แต่ท้องเสียเลยให้รถวกมาที่ห้องทำงานเพื่อเข้าห้องน้ำ

“อาจารย์โกร่ง” จึงมีโอกาสได้อธิบายให้คุณศุลีเข้าใจว่าทำไมประเทศไทยต้องลดค่าเงินบาท

จากนั้น “ศุลี” ก็ไปเล่าให้ “ป๋าเปรม” ฟัง

เป็นที่มาของการลดค่าเงินบาทครั้งประวัติศาสตร์

ครับ ถ้าคุณศุลีไม่ท้องเสียในวันนั้น

อาจไม่มีการลดค่าเงินบาทที่ทำให้เศรษฐกิจพ้นจากวิกฤต

เกร็ดแบบนี้ ผมได้จาก “อาจารย์โกร่ง” เยอะมาก

นำมาเขียนบ้าง

หล่นหายไปตามกาลเวลาบ้างก็ไม่น้อย

ช่วงหลัง “อาจารย์โกร่ง” จะเปลี่ยนมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองเป็นหลัก

ท่านเป็นนักประชาธิปไตยที่น่าเคารพ

หลักการชัดเจน จุดยืนมั่นคง

อายุ 78 ปี แต่เข้าใจความรู้สึกของคนหนุ่มสาว

น่าเสียดายที่เมืองไทยต้องสูญเสีย “อาจารย์โกร่ง” ปราชญ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมืองไทยไป

ผมมีโอกาสไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ยังคุยกันสนุกสนาน จนเลขาฯต้องแอบสะกิดเพื่อให้อาจารย์พักผ่อน

ไม่คิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ “อาจารย์โกร่ง”

เสียใจที่อาจารย์จากไป

แต่ดีใจที่ท่านไม่ต้องได้ยินคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันก่อน

เพราะรู้เลยว่า “อาจารย์โกร่ง” จะพูดว่าอย่างไร