“มาร์เก็ตเพลส” แสนล้านเดือด สู้รอบใหม่เทงบหนุนราคาต้านยักษ์ใหญ่บุก

ออนไลน์มาร์เก็ตเพลสแสนล้านแข่งเดือด หลังรายใหญ่อัดงบฯ 500-700 ล้านบาทต่อปี เปิดสงครามราคาเฉือนเนื้อขายต่ำกว่าทุนหวังชิงฐานลูกค้า ดันรายเล็ก-แบรนด์ไทยสายป่านสั้นตกขอบ 11 สตรีท-ช้อปปี้-24 ช็อปปิ้ง-ตลาดดอทคอม เร่งปรับกลยุทธ์สร้างจุดแข็งป้องตลาดสู้ยักษ์ใหญ่ต่างชาติล้อมบุกทุกทาง ด้าน “บิ๊กซี” ชะลอแผนลุยซีมาร์ท

ร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการแข่งขันของตลาดมาร์เก็ตเพลสที่มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท และกำลังเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากการเข้ามาของยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ทั้งอาลีบาบา เจดีดอทคอม ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อรายใหญ่จากอเมริกาอย่าง “อเมซอน” เตรียมจัดทัพเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดมาร์เก็ตเพลสในไทยเร็ว ๆ นี้ ทำให้ผู้เล่นรายเก่า-ใหม่ที่อยู่ในตลาดนี้ต่างแลกหมัดกันแบบไม่ยั้ง โดยเฉพาะการระดมทุนรอบใหม่ป้องมาร์เก็ตแชร์และดึงฐานลูกค้าในตลาด

เฉือนเนื้อเถือกระดูก

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้เล่น 3-4 ราย อาทิ อีเลฟเว่นสตรีท (11 street) เพิ่มงบฯสำหรับทำตลาดไทยถึง 4 เท่า จาก 2,000 ล้านบาท เป็น 8,000 ล้านบาท หลังจากถอนตัวจากตลาดอินโดนีเซีย เพื่อทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอย่างเข้มข้นจนถึงระดับขายต่ำกว่าทุน ด้วยการช่วยเหลือด้านการเงิน (subsidy) โดยมาร์เก็ตเพลสยอมจ่ายส่วนต่างจากการลดราคาให้เจ้าของสินค้า เพื่อให้สามารถนำสินค้าจำนวนมากมาลดราคาได้อย่างต่อเนื่องและลดด้วยสัดส่วนสูงกว่าปกติ

สอดรับกับแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซ SHOP AT 24 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตลาดถูกกระตุ้นด้วย 2-3 รายใหญ่ที่แข่งกันจัดโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม หั่นราคากันแบบยอมขายสินค้าต่ำกว่าราคาต้นทุน เรียกว่ายอมเฉือนเนื้อตัวเอง

เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาด ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเองก็ถูกกระตุ้นให้ซื้อสินค้าด้วยโปรโมชั่นราคา และส่งผลเสียต่อโครงสร้างของตลาดอีคอมเมิร์ซในระยะยาว เพราะผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ก็จะไม่สามารถอยู่ได้เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

อย่างไรก็ตาม แม้การแข่งขันจะสูงแต่ก็ยังมีแบรนด์ใหม่ ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้อีกมาก เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตและพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่ให้การตอบรับกับการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับแบรนด์อีคอมเมิร์ซต่างประเทศ ในลักษณะของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน คาดว่าต้นปี 2561 จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยโตเร็ว โดยช่องทางการซื้อขายผ่านสมาร์ทโฟนเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต และเปิดตัวแอปพลิเคชั่น SHOP AT 24 ขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าเน้นสะดวก พร้อมเสริมด้วย 5 จุดแข็งของบริษัท ได้แก่ สินค้าต้องโดดเด่น ทำการตลาดให้เป็นที่รู้จัก ช่องทางขายที่หลากหลาย สะดวกซื้อ มีโปรโมชั่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการบอกต่อบนโลกออนไลน์ เช่น รีวิวของบล็อกเกอร์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตได้แทนการแข่งขันด้านราคา”

ยักษ์ใหญ่บุกไทย

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการมาร์เก็ตเพลส “ตลาดดอทคอม” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันตลาดมาร์เก็ตเพลสดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ โดยตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท และเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหญ่ทั้งอาลีบาบา เบอร์ 1 จากตลาดจีนที่เข้ามาร่วมกับลาซาด้า

ขณะที่เจดีดอทคอม ผู้เล่นเบอร์ 2 จากจีนก็จับมือกับเซ็นทรัล ล่าสุด อเมซอนรายใหญ่จากอเมริกา ก็เริ่มเข้ามาทำตลาดในสิงคโปร์ และมีแนวโน้มจะรุกประเทศอื่น รวมถึงไทยด้วยในเร็ว ๆ นี้

ทำให้บรรดาผู้เล่นระดับรองต้องเร่งเก็บเกี่ยวส่วนแบ่งตลาดก่อน ด้วยการอัดโปรโมชั่นราคาแบบดุเดือด เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุดก่อนที่ยักษ์ใหญ่จะระเบิดศึกกันเต็มตัว

“รายใหญ่ ๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทยก่อน เริ่มทุ่มเม็ดเงินจัดโปรโมชั่นมากขึ้น หรือเฉลี่ยสูงถึง 700 ล้านบาทต่อปีต่อราย ด้วยการเพิ่มความเข้มข้นจัดโปรโมชั่นราคาหวังดึงดูดลูกค้า ซึ่งโปรโมชั่นราคาดังกล่าวส่งผลลบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเสพติดการลดราคา ขณะเดียวกันเสี่ยงที่จะเกิดการผูกขาดตลาด เพราะผู้เล่นรายย่อยรวมถึงมาร์เก็ตเพลสสัญชาติไทยซึ่งมีเงินทุนต่ำกว่ามากล้มหายตายจากไปหมดและส่งผลเสียระยะยาวต่อตลาดได้”

สำหรับแนวทางการรับมือของมาร์เก็ตเพลสสัญชาติไทย “ตลาดดอทคอม” นั้นจะเน้นกลยุทธ์สเปเชียลิสต์หรือการมีจุดขายเฉพาะตัวที่แตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อสร้างความแตกต่างและจุดยืนที่มั่นคงในระยะยาว ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มต้นได้ต้นปีหน้า

11 สตรีทไม่หวั่น ตั้งเป้าเบอร์ 1

นายฮง โซล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย กล่าวว่า การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ถือเป็นการกระตุ้นตลาดมาร์เก็ตเพลสให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอีเลฟเว่นสตรีทก็พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ด้วยการเร่งสร้างจุดแตกต่างด้านสินค้า โดยปีหน้าจะนำสินค้าเข้ามาขายเองด้วยและโฟกัสบริการฟูฟิลเมนต์มากขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวก พร้อมจับมือคู่ค้าไทยนำสินค้าท้องถิ่นออกไปขายในต่างประเทศ รวมถึงอัดงบ 1,000 ล้านบาทต่อปี ทำโปรโมชั่นราคา โฆษณาประชาสัมพันธ์ครบวงจร โดยตั้งเป้ามีผู้ค้า 2 หมื่นรายในปีนี้และเพิ่มเป็น 1.5 แสนราย ในปี 2563 เช่นเดียวกับจำนวนสินค้าที่จะขยับจาก 6.5 แสนรายการ เป็น 10 ล้านรายการ และคว้าส่วนแบ่งตลาด 40% ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ใน 4 ปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าไทยจำนวน 6.9 แสนราย มีมูลค่าช็อปเฉลี่ย 1,400 บาทต่อครั้ง สูงเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีและคาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็นเท่าตัว

“บิ๊กซี” ปรับแผนหลังแข่งเดือด

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจค้าปลีกในเวลานี้ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาตีตลาดด้วยเรื่องราคาถูก ความสะดวกสบายในการซื้อและการชำระเงิน ทำให้บิ๊กซีต้องปรับตัวด้วยการเชื่อมช่องทางการขายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ของบิ๊กซีเข้าด้วยกัน ตลอดจนพัฒนาระบบการจ่ายเงินออนไลน์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

โดยเฉพาะมาร์เก็ตเพลสมีการแข่งขันสูงจากผู้เล่นต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาจำนวนมาก เป็นตลาดที่แข่งกันด้วยเรื่องราคา ซึ่งสร้างความแตกต่างได้ยาก ดังนั้นบิ๊กซีจึงชะลอการขยายธุรกิจ

“ซีมาร์ท” อีคอมเมิร์ซในรูปแบบมาร์เก็ตเพลสที่มีอยู่ในปัจจุบัน หันมาเน้น “บิ๊กซีช้อปปิ้งออนไลน์” ให้มากขึ้น ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการเป็นค้าปลีกในรูปแบบออมนิแชนเนลที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ในหลากหลายช่องทาง

MBK โดดร่วมวง

นายยศสันธ์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม บี เค ดิจิตอล จำกัด บริษัทในเครือ เอ็ม บี เค กรุ๊ป กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็วโดยคาดการณ์ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซปี 2561 ในหมวดการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์จะมีมูลค่าประมาณ 740,000 ล้านบาท เติบโต 9% บริษัทจึงได้เปิดตัวเว็บไซต์ MBKgo.com ที่มีรูปแบบ “อี-เอ็กซิบิชั่น” ซึ่งเป็นการช็อป

ดีลรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้าผ่านงานแสดงสินค้าและบริการออนไลน์ ประเภทท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์และร้านอาหาร โดยจะจัดงานครั้งแรกแคมเปญ “go go go..! รวบรวมดีลที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทดลอง 3 เดือนที่ผ่านมามีกลุ่มลูกค้าประจำที่เข้ามาซื้อดีลซ้ำกว่า 40% และจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 100% ทุกเดือน