ทุกคนคืออาจารย์

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

วันก่อน ไปบรรยายที่บริษัทหนึ่ง ช่วงท้ายเขาเปิดให้พนักงานในบริษัทซักถาม

มีคำถามหนึ่งที่ชอบมาก

น่าจะเป็นคำถามแห่งยุคสมัย

เขาถามว่าจะแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างไร เพราะในทีมเดียวกันจะมีทั้งผู้อาวุโสและเด็กรุ่นใหม่

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของทุกองค์กรเท่านั้น

แต่กำลังเป็นปัญหาของสังคมไทย

ในอดีต “ช่องว่าง” ระหว่าง “วัย” จะไม่ห่างกันเหมือนกับวันนี้

อายุ 50 กับ 25 ห่างกัน 25 ปีเท่ากัน

แต่ “ช่องว่าง” ของวันนี้มากกว่าในอดีต

ทำไม ?

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “เทคโนโลยี” ที่เปลี่ยนแปลงโลก

“เทคโนโลยี” ได้แบ่งโลกออกเป็น 2 กลุ่ม

คือ กลุ่มที่รู้เทคโนโลยี

และกลุ่มที่ไม่รู้เทคโนโลยี หรือรู้น้อย

สมัยก่อน เทคโนโลยีค่อย ๆ เปลี่ยน และมีพื้นฐานจากเทคโนโลยีเดิม

โทรศัพท์ตามบ้าน พัฒนาเป็น โทรศัพท์มือถือ

เรียนรู้ไม่ยาก

แต่เทคโนโลยียุคใหม่ มันแตกต่างจากเดิมเยอะมาก

แค่ “โซเชียลมีเดีย” ก็เปลี่ยนโลกแล้ว

การขายของหน้าร้าน กับการขายของผ่านโซเชียลมีเดียก็แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ทำการตลาดก็แตกต่างกัน

และเทคโนโลยีใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

เหมือนที่ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ของ “อาร์เอส” บอกว่า สมัยก่อนคนอายุ 50 ถือว่าพร้อมทั้งประสบการณ์และคอนเน็กชั่น

แต่วันนี้ “ประสบการณ์” ในอดีตของคนอายุ 50 ใช้ได้ในวันนี้เพียงแค่ครึ่งเดียว

“คนรุ่นใหม่” วันนี้จึงมีพลังมากกว่า “คนรุ่นใหม่” ในอดีต

ทั้งที่อายุเท่ากัน

แต่เมื่อคน 2 รุ่นมาอยู่ร่วมกันเป็นทีม

“ความแตกต่าง” ทางความคิดและความรู้เรื่องเทคโนโลยี ทำให้คน 2 วัยเริ่มมีปัญหา

ผมบอกน้อง ๆ ว่าสำหรับผู้ใหญ่ เรื่องแรก ที่เราต้องไม่ลืม คือ เราเคยผ่านอายุ 25 มาแล้ว

แต่คนรุ่นใหม่ที่อายุ 25 เขาไม่เคยอายุ 50

เมื่อเราเคยผ่านวัยนั้นมาแล้ว เราต้องอย่า “ขี้ลืม”

อย่าลืมความรู้สึกของวัยนั้น

อาจจะไม่เหมือนกัน 100%

แต่อารมณ์ความรู้สึกมักคล้ายกัน คือ ตั้งคำถามกับระบบงานเดิม หรือสงสัยว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้

เขาอยากเปลี่ยนแปลง

เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน

และเรื่องที่สอง เราต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่รู้เรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างดี

เขาเก่งกว่าเรา

เราต้องยอมรับ “ความเก่ง” ของเขาก่อน

ผู้ใหญ่ที่รับฟังเด็ก เด็กจะรัก

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ ต้องยอมรับประสบการณ์เรื่อง “คน” ของเขาสู้ผู้ใหญ่ไม่ได้

ผู้ใหญ่รู้จักคน เคยเจอคนมามากกว่าเรา

รู้ว่าคนแบบนี้ควรจะพูดอย่างไร

รู้จักคนมากกว่าเรา

ทั้งคนในบริษัทและคนนอกบริษัท

เราอาจต้องใช้เวลานานมากในการติดต่อเข้าพบผู้บริหารบริษัทอื่น

แต่ผู้ใหญ่อาจแค่ยกโทรศัพท์กริ๊งเดียว

หรือรู้ว่าการเจรจากับคนแบบนี้ควรใช้วิธีไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องประสบการณ์ล้วน ๆ

วิชาเรื่อง “คน” สอนยากมากครับ

เราต้องเริ่มต้นด้วยการมองหา “ข้อดี” ของอีกฝั่งหนึ่งก่อน

แทนที่คิดว่าเราเก่งกว่าเขาเรื่องอะไร

ถ้าคน 2 วัย ยอมรับ “ความเด่น” ของอีกฝั่งหนึ่ง

“รู้” ในสิ่งที่เรา “ไม่รู้”

“มี” ในสิ่งที่เรา “ไม่มี”

แค่นั้น ความเป็นทีมก็จะเกิดขึ้นทันที

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เคยเล่าให้ฟังว่า ทุกปีเขาจะไปพบ “คนเก่ง” ในเรื่องต่าง ๆ

“คนเก่ง” อยู่ที่ไหน เขาจะไปคุย

ถามว่าทำไม “คนเก่ง” เหล่านั้นยอมเล่าหรือถ่ายทอดวิชาให้

“เพราะผมเรียกเขาว่า อาจารย์” คุณธนินท์บอก

ชื่นชมเขาอย่างจริงใจ

ไม่ใช่ไปคุยข่มเขา

แต่เคารพความเก่งของเขา

ถามแบบอยากรู้ ไม่ใช่ถามแบบลองวิชา

แค่นี้เขาก็พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่

คนทุกคนล้วนมี “ข้อดี” ของตัวเอง

ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหน ก็ต้องมีสักเรื่องหนึ่งที่คนอื่นเก่งกว่าเรา

ถ้าจะให้ใครยอมรับเรา

เราต้องยอมรับ “ความเก่ง” ของคนอื่นให้ได้ก่อน