“นิคอน” ลุ้นครึ่งปีหลังตลาดฟื้น ชี้ถ่ายวิดีโอกระแสแรง-ตรึงราคาปลุกยอด

‘นิคอน’ลุ้นครึ่งปีหลังตลาดฟื้น ชี้ถ่ายวิดีโอกระแสแรง-ตรึงราคาปลุกยอด

จับตาตลาดกล้อง 2.5 พันล้าน ลุ้นฟื้นตัวครึ่งหลังปี’65 หากคุมโควิดได้ หลัง 2 ปีหดตัวไปเกินครึ่ง “นิคอน” เชื่อดีมานด์ระดับบน-ไฮเอนด์ยังมี งัดกลยุทธ์แฟนฟีเจอร์สร้างดีมานด์เลนส์ รับมือวิกฤตซัพพลายเชน พร้อมรุกสร้างฐานลูกค้าวิดีโอรับเทรนด์มาแรง มั่นใจปิดปีงบฯ 64 มี.ค.นี้ รายได้เติบโต-กำไรดีขึ้นแน่

นายวีระ เฉลียวปิยะสกุล รองประธาน บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพแบรนด์นิคอน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและยังมีความไม่แน่นอน

ประกอบกับปกติช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จนถึงเดือนสิงหาคมจะเป็นโลว์ซีซั่นของกล้องอยู่แล้ว จะทำให้ภาพรวมของตลาดในช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ในภาวะทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีโอกาสจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

หากการระบาดหยุดลงหรือสามารถควบคุมได้ จนสามารถเปิดการท่องเที่ยวในและนอกประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมากได้ จะทำให้ดีมานด์กล้องดิจิทัลกลับมาอีกครั้ง

เพราะช่วงปลายปีจะมีปัจจัยบวกทั้งการเป็นจังหวะยอดนิยมของกิจกรรมต่าง อาทิ งานแต่ง งานรับปริญญา การท่องเที่ยว รวมไปถึงงานแฟร์กล้องอีกด้วย

“เชื่อว่าปัจจุบันยังมีดีมานด์ที่อั้นอยู่ สะท้อนจากการพูดคุยกับลูกค้าพบว่าจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาโอกาสเดินทางท่องเที่ยว เช่นเดียวกับยอดขายของบริษัทในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา

ที่ยังเป็นไปตามเป้า จึงมั่นใจว่า ตลาดจะไม่หดตัวลงไปมากกว่านี้แล้ว เพราะการหดตัวรุนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้ปี 2564 เป็นฐานต่ำสุดของวงการแล้ว”

2 ปี ตลาดหดเหลือ 2.4 พันล้าน

นายวีระกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตลาดกล้องในปี 2564 ที่ผ่านมา ยังคงถูกกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้มูลค่าตลาดลดลงไปอีก 15% ต่อเนื่องจากการหดตัว 45% เมื่อปี 2563 ทำให้รวมแล้วในระยะเวลา 2 ปี มูลค่าตลาดกล้องดิจิทัลในไทยหายไปเกินครึ่งจากมากกว่า 5,000 ล้านบาท

เหลือเพียง 2,460 ล้านบาท เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้งานกล้อง อาทิ การท่องเที่ยว, งานแต่งงาน, งานรับปริญญา ฯลฯ หายไปหรือลดจำนวนลงมาก ทำให้ดีมานด์กล้องและอุปกรณ์

และกำลังซื้อของกลุ่มช่างภาพมืออาชีพลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ร้านค้าไม่กล้าสต๊อกสินค้าหรือทำแคมเปญ แม้จะมีกระแสไลฟ์ขายสินค้า หรือการทำคอนเทนต์วิดีโอเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะถ่วงดุลได้

พร้อมกันนี้ นายวีระยังให้ข้อมูลด้วยว่า กล้องระดับกลางราคา 2-4 หมื่นบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้องที่มีเซ็นเซอร์เล็กกว่าฟิล์ม 35 มม. เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยฐานผู้ใช้หายไปกว่า 70-80% เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มักซื้อกล้องเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านไลฟ์สไตล์ เช่น ถ่ายภาพอาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ

ดีมานด์วิดีโอแซงภาพนิ่ง

รองประธาน บริษัท นิคอน เซลส์ ได้กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดในปีนี้ว่า การถ่ายวิดีโอกลายเป็นเทรนด์หลักของตลาดในปัจจุบันและจะต่อเนื่องไปในอนาคต เช่น การทำคอนเทนต์เพื่อใช้ในเมตาเวิร์ส เห็นได้จากทั้งฝั่งลูกค้าที่ซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำวิดีโอแบบครบชุด ตั้งแต่กล้อง เลนส์ ไฟ ฉาก ฯลฯ

ส่วนร้านค้าหันมาขายสินค้าและโซลูชั่นเกี่ยวกับวิดีโอ เช่น การเข้าไปเซตสตูดิโอไลฟ์สด-ถ่ายทำวิดีโอให้ลูกค้า เป็นต้น ด้านค่ายกล้องจะเน้นการส่งอุปกรณ์-โปรแกรมสำหรับวิดีโอออกมารองรับดีมานด์

พร้อมโปรโมตฟังก์ชั่นวิดีโอของกล้องและเลนส์มากขึ้น หลังแพลตฟอร์มสำหรับวิดีโอแพร่หลาย การถ่ายทำ-ตัดต่อสะดวก และอุปกรณ์มีหลากหลายเข้าถึงง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเทรนด์อื่น ๆ เช่น ความนิยมกล้องฟูลเฟรมหรือกล้องที่มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาดเท่าฟิล์ม 35 มม. การแข่งขันซึ่งชัดเจนและดุเดือดขึ้น ด้วยการส่งสินค้ารุ่นใหม่ที่จัดเต็มด้านฟังก์ชั่นยิ่งขึ้นเพื่อจูงใจลูกค้า

เช่นเดียวกับการสนับสนุนร้านค้าดีลเลอร์ในด้านต่าง ๆ เพื่อชิงพื้นที่จำหน่าย ไปจนถึงการรุกเข้าสู่อีคอมเมิร์ซของร้านค้าและค่ายกล้อง ทั้งการเข้าร่วมแพลตฟอร์มรายใหญ่และการเปิดช่องทางของตนเอง ทำให้สัดส่วนยอดขายกล้องทางอีคอมเมิร์ซซึ่งปี 2562 มีเพียง 5% ก้าวกระโดดเป็น 22-25% ในปี 2563-2564

“เดิมผู้บริโภค ร้านค้าและค่ายกล้อง ไม่เน้นช่องทางออนไลน์มากนัก แต่ช่วงโควิด-19 ร้านกล้องต่างปรับตัว โดยการลดสาขาลงเหลือเพียงทำเลที่มีลูกค้าสม่ำเสมอ พร้อมกับเปิดร้านบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ซึ่งมีการทำโปรโมชั่นกระตุ้นการขายสม่ำเสมอ ในขณะที่ลูกค้าเชื่อมั่นในการชำระเงินผ่านออนไลน์ และความปลอดภัยของการขนส่งสินค้ามากขึ้น”

กระตุ้นซื้อซ้ำรับวิกฤตซัพพลายฯ

ส่วนทิศทางของนิคอนจากนี้ไป นายวีระระบุว่า แนวทางการทำตลาดจะโฟกัสด้านวิดีโอตามเทรนด์ของวงการ พร้อมกับรับมือวิกฤตซัพพลายเชนที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งสินค้าพุ่งสูงขึ้น เพื่อตรึงราคาสินค้าและรักษาสัดส่วนรายได้ โดยโฟกัสสินค้ากลุ่มบน-ไฮเอนด์

เช่น กล้องฟูลเฟรมหรือกล้องที่มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาดเท่าฟิล์ม 35 มม. และเลนส์ที่ใช้ร่วมกัน เนื่องจากมีมูลค่าสูง ฐานลูกค้าเป็นกลุ่มบนที่ยังมีกำลังซื้อ รวมถึงมีอัตรการซื้อเลนส์เพิ่มสูงประมาณ 3 ชิ้น ต่อกล้อง 1 ตัว ในขณะที่ผู้ใช้กล้องตัวคูณมักซื้อเลนส์เพิ่มประมาณ 1.5 ชิ้น ต่อกล้อง 1 ตัวเท่านั้น

“เลนส์ได้รับผลกระทบจากปัญหาซัพพลายเชนน้อยกว่ากล้องมาก เนื่องจากมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์น้อยและนิคอนยังผลิตชิ้นแก้วเอง การโฟกัสการจำหน่ายเลนส์จึงสามารถช่วยเฉลี่ยรายได้-ต้นทุนได้ดี เมื่อร่วมกับกล้องที่มีโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้สัดส่วนกำไรดีขึ้น และตรึงราคาสินค้าไว้ได้ต่อไป”

พร้อมกันนี้ จะกระตุ้นการซื้อเลนส์เพิ่มด้วยกลยุทธ์แฟน ฟีเจอร์(Fan Feature) ซึ่งเป็นการคัดเลือกและขอภาพจากผู้ใช้กล้องนิคอนมาโพสต์โปรโมตบนช่องทางออนไลน์ของแบรนด์ โดยจะเลือกรูปจากเลนส์รุ่นต่าง ๆ กันมาใช้

เพื่อสร้างการบอกต่อและสร้างดีมานด์เลนส์ในกลุ่มลูกค้าและผู้สนใจการถ่ายภาพ รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นสนับสนุนในรูปแบบที่ไม่ใช่การลดราคาโดยตรง เช่น ส่วนลดเมื่อซื้อเลนส์ชิ้นที่ 2-3 เพิ่ม

และกำลังศึกษาการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล เช่น วิเคราะห์ข้อมูลอินไซต์เพื่อส่งอีโวเชอร์ที่ตรงกับความสนใจของลูกค้าแต่ละคน

นอกจากนี้ยังขยายฐานลูกค้าด้านการถ่ายวิดีโอ ด้วยการจับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สถาบันการศึกษา ทีมฟุตบอล จัดเวิร์กช็อป-อบรม และให้ยืมอุปกรณ์การถ่ายวิดีโอแก่นักศึกษา-ทีมวิดีโอของสโมสรเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ตามแผนลดอายุฐานลูกค้าให้เด็กลง

โดยกิจกรรมเหล่านี้ รวมไปถึงการสื่อสารและกิจกรรมการตลาดยังคงเป็นออนไลน์แบบ 100% ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นการระบาด เพื่อให้สอดรับกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ด้วยกลยุทธ์และการปรับตัวนี้รวมถึงการลดงบฯการตลาดลง 30% ในปีงบฯ 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2565 นี้ บริษัทจะมีการเติบโตและมีผลกำไรดีขึ้น และจะสามารถตรึงราคาสินค้าในช่วงที่เหลือของปี 2565 ไว้ ส่วนปีงบฯ 2565 นั้น ยังต้องจับตาสถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลัง” รองประธาน บริษัท นิคอน เซลส์ ย้ำในตอนท้าย