เกรียงไกร กาญจนะโภคิน “ธุรกิจอีเวนต์ต้องรอเวลา”

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผลพวงของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้หลาย ๆธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงธุรกิจอีเวนต์ แต่ล่าสุดจากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายขึ้น ธุรกิจอีเวนต์จะกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิมหรือไม่ หรือเมื่อไหร่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีเวนต์รายใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในตลาดนี้มายาวนานทั้งในประเทศและเวทีโลก

โดยมีผลงาน “เวิลด์เอ็กซ์โป” และ “อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็กซ์โป” เป็นการันตีได้ฉายภาพธุรกิจอีเวนต์ในวันที่โควิด-19 คลี่คลายลง

Q : ขณะนี้ภาพรวมของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น และโอมิครอนไม่รุนแรง สถานการณ์ธุรกิจอีเวนต์จากนี้ไปเป็นอย่างไร

คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ตอนนี้ไตรมาส 1 ย่างเข้าเดือนที่ 2 (กุมภาพันธ์) แล้วอีเวนต์หลาย ๆ งาน ถูกเลื่อนออกไปตั้งแต่รัฐบาลประกาศ Test & Go ช่วงแรก (พฤศจิกายน 64) ที่เปิดมาระยะหนึ่งก็ยุติลง เอฟเฟ็กต์ไปเรียบร้อย จริง ๆแล้ว สำหรับธุรกิจอีเวนต์ที่จะกลับมาต้องใช้เวลา 2-3 เดือน

ที่ผ่านมา โควิดทำให้มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจอีเวนต์ราว ๆ 1.4 หมื่นล้าน ได้รับผลกระทบ สูญเม็ดเงินกว่า 60% คาดว่าหลังจากไตรมาส 2 เป็นต้นไป สถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้น

แต่ทั้งนี้ คงเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากไตรมาส 2 ปกติก็จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจอีเวนต์อยู่แล้ว และคงต้องรอดูช่วงสงกรานต์ว่าบรรยากาศจะเป็นอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ คือ ความยากของการทำธุรกิจ ผู้จัดงานเตรียมตัวระยะยาวไม่ได้ ต้องเตรียมตัวระยะสั้น ซึ่งเป็นตัวแปรต่อความมั่นใจของลูกค้า คนที่เตรียมจัดงานจะลำบากใจ หากเกิดคลัสเตอร์จะรับมืออย่างไร เพราะทุกครั้งที่เริ่มเตรียมตัวจัดงาน มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายขึ้นทันที และหากเกิดเอฟเฟ็กต์ต้องกดปุ่มหยุด หรือสเกลดาวน์ ก็จะส่งผลกระทบทั้งหมด

Q : ตอนนี้สปอนเซอร์เริ่มกลับมาบ้างหรือยัง

ถ้าอีเวนต์ยังไม่เกิด และสถานการณ์อยู่บนความเสี่ยง ในแง่สปอนเซอร์ก็เสี่ยงและยังไม่อยากลงทุน เบื้องต้นคงต้องรอดูไตรมาส 4 เป็นต้นไป

หากสังเกตจะเห็นว่า งานอีเวนต์ที่จัดในไตรมาส 1 ส่วนใหญ่เป็นงานของภาครัฐ หรือการใช้งบฯของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นจัดงาน ส่วนภาคเอกชนการจัดงานจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ที่ต้องใช้อีเวนต์เป็นแม็กเนตดึงคนเข้าห้าง

เพื่อให้เกิดทราฟฟิก ส่วนงานเปิดตัวสินค้ายังเบา ๆ เจ้าของแบรนด์ต้องหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมรวมตัวเพราะไม่อยากตกเป็นจำเลยของสังคม ขณะเดียวกัน ยังเจอกับอุปสรรค เรื่องกำลัง

ซื้อ ที่ไม่ได้ดีมาก ผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่ใช้โหมดเพลย์เซฟ ในแง่ของงบฯลงทุน ทำได้เท่าที่ทำได้

เช่นเดียวกับอินเด็กซ์ มองว่าปีนี้จะเป็นอีก 1 ปีที่ธุรกิจอีเวนต์ต้องรอเวลา แต่ต้องไม่มีสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดใหญ่ และไตรมาส 4 ถ้าจะกลับมาจะเป็นฤดูที่เป็น high season ของธุรกิจอีเวนต์ โดยเริ่มจากเรื่องไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอนเสิร์ตที่ไม่ได้มีมานาน

Q : หากเทียบกันระหว่างคอนเสิร์ตกับอีเวนต์ อะไรกระทบหนักกว่ากัน

วันนี้ธุรกิจคอนเสิร์ต ทั้งประเภทอินดอร์และเอาต์ดอร์ รับผลกระทบมากสุด ด้วยสเกลการจัดงานขนาดใหญ่ การรวมคนจำนวนมาก คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น ปรับตัวยากด้วย

แม้จะปรับตัวมาจัดผ่านออนไลน์ก็ไม่ตอบโจทย์ ประกอบกับ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ยังไม่มีการผ่อนคลาย ตอนนี้ข้อจำกัดยังกำหนดที่ 500 คน

และจำนวนต่อตารางเมตรยังเท่าเดิม ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำให้งานคอนเสิร์ตที่เตรียมจัดในไตรมาส 1 เลื่อนออกไปทั้งหมด เม็ดเงินและโอกาสหายไปเลย

Q : ตอนนี้ผู้จัดอีเวนต์รายเล็ก ๆ เป็นอย่างไร จะช่วยไดรฟ์ตลาดได้มากน้อยแค่ไหน

อยู่ที่ว่าจะอยากกลับมาทำธุรกิจอีเวนต์หรือเปล่า ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก บางรายปรับตัวหันไปทำธุรกิจอื่นเพื่อหารายได้ไปก่อน เพื่อรอจังหวะให้ธุรกิจกลับมา ถึงจะกลับมาทำ

และถ้าเมื่อไหร่กลับมาแล้วยังมี passion มีโอกาสอยู่ก็น่าจะทำ เมื่อก่อน industry นี้มีผู้เล่นเยอะมากแต่ในแง่ซัพพลายเชนเปลี่ยนไปการกลับเข้ามาอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อผู้เล่นลดลง การที่จะไดรฟ์ตลาดคงต้องอาศัยเวลา เพราะขณะนี้องค์ประกอบหลัก ๆ หรือแม้แต่สปอนเซอร์ชิปก็กลับมาจุดเดิมไม่ได้ โอกาสเกิดก็ไม่มี ทุกอย่างเป็น factor ที่ต้องรอเวลาให้ทุกอย่างลงตัว

ทั้งเรื่องกำลังซื้อต้องให้ดีขึ้นกว่านี้ สปอนเซอร์ต้องสนใจมากขึ้น และต้องไม่มีเรื่องโควิดกลับมารบกวน ถึงจะสร้างความมั่นใจทั้งคนไปงาน ผู้จัดงาน สปอนเซอร์ ถึงจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจนี้ไปได้

Q : ปกติแล้วสินค้ากลุ่มไหนที่ใช้งบฯมากสุด

แล้วแต่ปี ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจไหนจะโตมากโตน้อย แต่ปกติแล้วเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการลงทุน ไปโฟกัสช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และอีกธุรกิจที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงซีซั่นนอลฤดูร้อน ฝั่งเบฟเวอเรจก็จะใช้เงินอยู่บ้าง

แต่ที่หายไปชัดเจนเลย คือ แอลกอฮอล์ เพราะธุรกิจกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบหนัก ถูกปิดมากว่า 2 ปีเต็ม และการปิด ๆ เปิด ๆ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักกว่าปิดยาว และเมื่อจะกลับมาเปิด ต้องมีการลงทุนรีโนเวตร้าน หาพนักงานใหม่ ทำให้คอสต์สูงขึ้นมาก

Q : สำหรับปีนี้ อินเด็กซ์วางยุทธศาสตร์และแผนงานไว้อย่างไร

แผนงานหลัก ๆ จากนี้ไป จะมุ่งให้น้ำหนักไปที่ new experience สิ่งที่เราพยายามทำคือ exclusive หรือการจัดงานที่มีความแปลกใหม่ และต่อยอด experience and content สร้างสรรค์งานใหม่ ๆ

ตลอดจนการทรานส์ฟอร์มนำดิจิทัลเวิลด์เข้าไปอยู่ในอีเวนต์มากขึ้น ซึ่งอยูู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อดึงคนเข้าชมงาน โดยปีนี้เตรียมจัดงานราว ๆ 20 งาน เฉพาะงานที่เราครีเอตขึ้นมาเอง งบฯลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท

ส่วนงานอีเวนต์ เช่น งาน KINGDOM OF LIGHTS นำเสนอในรูปแบบเดอะมิวสิคอล ผ่านแสง สี เสียง และมัลติมีเดีย (16 มีนาคม-16 พฤษภาคม) ตามด้วยงานแข่งวิ่ง V Runner 5 จังหวัดเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน

และช่วงปลายปี งาน “ThailandInternational Lantern & Food Festival” เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ (2 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2565) ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

และงาน DOUBLE FESTIVAL AT SINGHA PARK 2 เทศกาล ได้แก่ งาน Cambodia Architect & Decor (5-7 สิงหาคม) ที่ประเทศกัมพูชา และงาน Virtual Exhibition Architect & Decor, Virtual Exhibition FoodBev Retail, Health & Beauty (25-26 พฤศจิกายน) และงานเทรดแฟร์ Bangkok Beauty Show 2022 (14-16 กรกฎาคม) ไบเทค บางนา เป็นต้น

หลัก ๆ เป็นการเน้นการจัดงานให้แตกต่างคนอื่นในตลาด ซึ่งจะช่วยให้เรามีแต้มต่อในธุรกิจมากขึ้น โดยตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมงาน 200,000 คน มากขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายปี 2565 ต้องการให้สัดส่วนรายได้ own project เพิ่มขึ้น 30% ให้เติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว78% ส่วน creative business development มีสัดส่วนรายได้ไม่ต่ำกว่า 30% และสัดส่วนรายได้จาก marketing service ลดลงเป็น 40%

และมีอยู่ประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากไปถึง ศบค. คือ ควรมีการปรับมุมมองที่เกี่ยวกับโควิดใหม่ เพราะวันนี้ได้ฉีดวัคซีนไป 120 ล้านโดส คนรับวัคซีนไปเข็ม 3 เข็ม 4 แล้ว แต่มาตรการต่าง ๆ ยังเข้มข้น เหมือนตอนที่ยังไม่เคยฉีด ขณะที่ฝั่งประเทศยุโรปกลับมาสู่นอร์มอลไลฟ์แล้ว

ดังนั้น ต้องเปลี่ยนมาตรการเพื่อให้ธุรกิจมันกลับมาสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ยิ่งตอนนี้ factorตัวอื่น ๆ ที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น อย่างภาคโลจิสติกส์ น้ำมันขึ้นราคาก็แย่อยู่แล้ว ภาครัฐน่าจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น