“ซีเอ็มซี” ลุยธุรกิจสุขภาพ ลงทุนรพ.-ศูนย์การแพทย์

‘ซีเอ็มซี’ ลุยธุรกิจสุขภาพ ลงทุนรพ.-ศูนย์การแพทย์

CMC ยักษ์อสังหาฯแตกไลน์ธุรกิจ เปิดเกมรุกธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ ผุดบริษัทลูก “เทเลด็อค” ลุยนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ATK วัคซีนไข้หวัดใหญ่-เข้าลงทุน รพ.ใหญ่ส่วนภูมิภาคพร้อมกางแผนปี 2565 จ่อทุ่มงบประมาณ 2 พันล้าน เปิดศูนย์การแพทย์-ศูนย์ดูแลสูงวัย ต่อจิ๊กซอว์โตระยะยาว ตั้งเป้า 3-5 ปี พอร์ตรายได้สุขภาพการแพทย์กินสัดส่วน 50%

บริการทางการแพทย์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ new S-curve แห่งอนาคต หลังจากการเข้ามาโควิด-19 จุดประกายการเกิดเมกะเทรนด์การดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ประกอบกับประเทศไทยนับว่าเป็นเบอร์ต้นด้านการแพทย์โลก

จึงเป็นโอกาสของหลายธุรกิจที่จะลุยธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่อย่างธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อได้เปรียบด้านการเฟ้นหาทำเลศักยภาพ ตลอดจนเงินทุนในการเนรมิตสถานบริการทางการแพทย์ขึ้นมา

เพื่อกระจายความเสี่ยง หลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและกำลังซื้อที่ลดลง

นายแพทย์วิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC ผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจทางการแพทย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ เป็นธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานปัจจัย 4 ของมนุษย์

และมีมูลค่าสูงติดท็อป 10 ของธุรกิจในประเทศ ประกอบกับไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางการแพทย์โลก (medical hub) ซึ่งในแต่ละปีทำรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท ผนวกกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย

และการก้าวเข้าสู่ประเทศผู้มีรายได้ปานกลางของไทย ทำให้ผู้บริโภคจะหันมาให้น้ำหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดสุขภาพและการแพทย์มีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูง

นายแพทย์วิเชียรกล่าวว่า การแตกไลน์จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาสู่ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์มาจากวิสัยทัศน์หลักของบริษัทที่ตั้งเป้าการเป็น living development provider พัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ผ่านการทำบริการด้านสุขภาพขึ้นใต้การบริหารงานของบริษัท เทเลด็อค จำกัด

ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มทุนไปเรื่อย ๆ เพื่อดำเนินธุรกิจบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพ เช่น ศูนย์การแพทย์ทางเลือก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น

โดยเฟสแรกบริษัทได้เข้าลงทุน 25% ในธุรกิจโรงพยาบาลภูมิภาค ได้แก่ โรงพยาบาล ป.แพทย์ 1 และ ป.แพทย์ 2 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 325 เตียง ภายใต้งบฯลงทุน 200 ล้านบาท เข้าไปดูแลและพัฒนาด้านการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ควบคู่กับการนำศักยภาพธุรกิจโรงแรมในเครือมาคอลแลบส์กับกลุ่ม รพ.อื่น ๆ เพื่อทำ hospitel รับผู้ป่วยโควิดอีกด้วย ตลอดจนการเดินหน้าธุรกิจเมดิคอลซัพพลาย นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเดิมด้วยผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิดอย่างเร็ว (Antigen Test Kit : ATK)

ส่วนเฟสถัดไปจะเริ่มนำเข้าสินค้าเพื่อสุขภาพและการแพทย์รายการอื่น เช่น เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5, วัคซีนไข้หวัดใหญ่, สายยางทางการแพทย์ เป็นต้น

ส่วนในเฟสถัดไปจะเริ่มลงทุนด้านการแพทย์ที่มีความเฉพาะทาง โดยอาจคอลแลบส์กับกลุ่มอื่น ๆ ร่วมกันทำขึ้นมา ภายใต้งบฯลงทุนของปี 2565 ที่ตั้งไว้ 2,000 ล้านบาท แบ่งงบฯออกเป็น 2 ส่วน คือ

ลงทุนเข้าถือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคเพิ่ม 250 ล้านบาทและส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนพัฒนาและเปิดศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ โดยเริ่มจากการทำศูนย์ดูแลผู้สูงวัยในรูปแบบซีเนียร์เชน รับเทรนด์ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะเดียวกันจะนำบริการทางสุขภาพมาซินเนอร์ยีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งการทำซีเนียร์พร็อพเพอร์ตี้ เวลเนสคอนโด ศูนย์สปอร์ตฟิตเนส และสร้างเฮลท์โปรโมชั่นให้แก่กลุ่มลูกบ้านโดยเฉพาะ นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งได้เตรียมลงทุนด้านธุรกิจกัญชง-กัญชา ที่เป็นเทรนด์การเติบโตในไทย

ภายใต้บริษัทลูก บริษัท แคนนาบิเทค จำกัด สกัดและแปรรูปทางวัตถุดิบทางการเกษตร พืชสมุนไพรกัญชงและกัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งคาดว่าแผนทั้งหมดจะสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี

“การเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์เป็นการต่อจิ๊กซอว์การเติบโตระยะยาวของบริษัท ช่วยลดการพึ่งพิงธุรกิจเดิม โดยใน 3-5 ปี ตั้งเป้าพอร์ตรายได้พร็อพเพอร์ตี้เหลือ 50% และอีก 50% เป็นกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ทั้งเวลเนส เมดิคอลและซีเนียร์เชน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMC กล่าวทิ้งท้าย