พานาโซนิคควบรวม 3 บริษัท เสริมแกร่งชิงผู้นำตลาดงานโครงการ

พานาโซนิคเผยแผนรุกงานโครงการรัฐ-เอกชน โดยอาศัยความแข็งแกร่งจากการควบรวมนี้

วันที่ 23 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พานาโซนิคได้ประกาศทิศทางใหม่ ที่จะเสริมแกร่งการรุกตลาดลูกค้าองค์กรและงานโครงการ หลังการปรับโครงสร้างใหญ่ด้วยการควบรวมกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในไทย 3 แห่งเข้าด้วยกัน พร้อมวางเป้ารายได้โตเท่าตัวเป็น 2.8 หมื่นล้านบาท ในปีงบฯ 2573

นายฮิเดคาสึ อิโตะ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท พานาโซนิค ในประเทศไทย อธิบายว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ได้ควบรวมบริษัท พานาโซนิค ซิวเซลล์ ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้ากลุ่มทีวี เครื่องเสียง กล้องดิจิทัล กล้องวงจรปิด อุปกรณ์แสงสว่าง และบริษัท พานาโซนิค แมเนจเมนท์ ที่เป็นสำนักงานส่วนภูมิภาค เข้ากับพานาโซนิค โซลูชั่น ผู้จำหน่ายโซลูชั่นที่อยู่อาศัย เช่น ระบบระบายอากาศ

ทำให้หลังวันที่ 1 เมษายน 2565 กลุ่มบริษัท พานาโซนิค ในประเทศไทย จะมีทั้งหมด 16 บริษัท ในจำนวนนี้มีโรงงาน 9 บริษัท

เพิ่มงบฯ ขยายทีมขาย

ทั้งนี้เพื่อเสริมแกร่งให้กับการทำตลาดลูกค้าองค์กรและงานโครงการ ด้วยการรวมศูนย์ทรัพยากรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณงบฯการตลาดที่จะเพิ่มขึ้น ทัพทีมขายที่ร่วมเป็นทีมใหญ่ทีมเดียว การออกแบบโซลูชั่นด้วยสินค้าจากพอร์ตของซิวเซลล์-ไลฟ์โซลูชั่น รวมถึงความคล่องในการประสานงานและติดต่อลูกค้า

โดยโซลูชั่นหลักที่บริษัทจะเน้นแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ โซลูชั่นการประหยัดพลังงานเพื่อตอบสนองสังคมปลอดคาร์บอน, โซลูชั่นเพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ และโซลูชั่นด้านสมาร์ทโฮมและความปลอดภัย สำหรับตอบรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal

“การรวมตัวครั้งนี้ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำธุรกิจ ทำให้บริษัทสามารถรับมือกับต้นทุนทางธุรกิจที่พุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ได้ดีขึ้นอีกด้วย”

เชื่อโครงการที่อยู่อาศัย-โรงงานจะเริ่มฟื้น

นายฮิเดคาสึย้ำความมั่นใจต่อสภาพตลาดงานโครงการองค์กรเอกชน-รัฐหลังจากนี้ว่า แม้ปัจจุบันผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้ตลาดดูซบเซา แต่หลังจากนี้ตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย และกลุ่มที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาเติบโต เนื่องจากมีดีมานด์สินค้าและอุปกรณ์ต่างๆ ยังคงสูงต่อเนื่อง

“สะท้อนจากผลประกอบการปีงบฯ 2564 (เม.ย. 64 – มี.ค. 65) ซึ่งกลุ่มโรงงานของบริษัทมีรายได้มากขึ้น สวนทางกับยอดขายสินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ดีนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาด”

ทั้งนี้จึงมุ่งเจาะลูกค้าทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัย และกลุ่มที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย อย่า โรงแรม สำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า โรงพยาบาล และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ไปจนถึงโครงการภาครัฐ

ในตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัย จะเน้นชู Total Living Solution โดยอาศัยโชว์รูม ‘Experience Center’ ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2564 นำเสนอการออกแบบและการติดตั้งโซลูชั่นเพื่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ระบบประหยัดพลังงาน ระบบควบคุมคุณภาพอากาศ โซลูชั่นเพื่อการพักผ่อนและการนอน โซลูชั่นเพื่อความบันเทิงในบ้าน เป็นต้น

ส่วนตลาดในกลุ่ม ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ในปีนี้จะเปิดตัวโซลูชั่นสำนักงานอัจฉริยะ ที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า ใน 3 หมวดหลัก คือ Stress-Free Solutions ซึ่งมี Smart Box หรือตู้รับพัสดุและปลดล็อกด้วยระบบบลูทูท, Anti-Virus Solutions สร้างพื้นที่ปลอดไวรัสและแบคทีเรียด้วยอุปกรณ์ เช่น เครื่องฟอกอากาศ “Ziaino” ระบบปรับอากาศ “Air-E” วัสดุต้านแบคทีเรียสำหรับปูพื้นห้อง และ Energy Saving Solutions คลอบคลุมอุปกรณ์แสงสว่างรวมถึงเซนเซอร์อัตโนมัติและการบริหารจัดการด้านพลังงาน

เป้าปี 2573 โตเท่าตัว แตะ 2.8 หมื่นล้านบาท

ซีอีโอ กลุ่มบริษัท พานาโซนิค กล่าวต่อไปว่า ความแข็งแกร่งจากการควบรวมนี้ จะช่วยให้ปีงบฯ 2565 (เม.ย. 65 – มี.ค. 66) รายได้ของพานาโซนิค โซลูชั่น เติบโต 10% เป็นประมาณ 15,000 ล้านบาท

และในระยะยาวจะทำให้บริษัทสามารถขึ้นเป็นผู้นำในฐานะ Professional Solution Provider ของไทยได้ภายในปี 2573 พร้อมกันนี้ได้วางเป้ายอดขายปี 2573 ไว้ที่ประมาณ 28,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 200% เมื่อเทียบกับปีงบฯ 2564