ความเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ ซึ่งมี digital disruption เป็นตัวเร่งสำคัญ ส่งผลให้ “รูปแบบ-แลนด์สเคป” โลกธุรกิจเปลี่ยนไป เกิดคู่แข่งหน้าใหม่ที่คาดไม่ถึงแบบไม่ทันตั้งตัว ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจทั่วโลกกำลังก้าวสู่บริบทใหม่ ๆ อาทิ การเข้ามามีบทบาทของ big data, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), เศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (sharing economy) ฯลฯ
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ผู้นำธุรกิจโรงภาพยนตร์ และธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ถึงภาพรวมธุรกิจ การปรับตัว ทิศทางธุรกิจในอนาคต ตลอดจนการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนี้
น่าสังเกตว่าในขณะที่หลาย ๆ ธุรกิจถูกเปลี่ยน “ภูมิทัศน์” ไปโดยสิ้นเชิง หลายธุรกิจออกอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ขณะที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ถูกตั้งคำถามเช่นกัน กลับกลายเป็นว่า “จำนวนคนดูหนัง” ของเมเจอร์ฯยังเติบโตต่อเนื่องทุกปีเช่นเดียวกับแผนการลงทุนของเครือเมเจอร์ที่ยังไปข้างหน้า ทั้งการเปิดตลาดใหม่ ๆ รูปแบบการลงทุนใหม่ ๆ และการใช้แผนการตลาดที่ “สร้างการซื้อซ้ำ” ในกลุ่มลูกค้าขาประจำที่มีอยู่เดิม
Q : ตอนนี้หลายธุรกิจกำลังถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี กระแสนี้ส่งผลสู่ธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือยัง
ปัจจุบันสมาร์ทโฟนกลายเป็นช่องทางหลักของการสื่อสาร ซึ่งการเติบโตของสมาร์ทโฟนทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งดูหนังออนไลน์แบบฟรี หรือเสียเงิน แต่หากจะตอบคำถามว่าโรงหนังจะตายหรือไม่จากการเติบโตของเทคโนโลยี ก็ต้องย้อนกลับไปดูที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตเร็วมาก ด้วยจุดเด่นที่สินค้ามีราคาถูก สะดวกสบายกว่า ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องหายไป ในทางกลับกัน ธุรกิจโรงหนังในจีนก็ยังโตขึ้นทุก ๆ ปี ปัจจุบันมีถึง 51,000 โรงทั่วประเทศ
นั่นแสดงว่าแม้เทคโนโลยีจะโตขึ้น แต่ธุรกิจบันเทิงอย่างโรงหนังก็ยังโต เพียงแต่ว่าการโตของโรงหนัง ต้องโตไปพร้อม ๆ กับการปรับตัว สำหรับในไทย เมเจอร์ฯถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะบริษัทปรับตัวมาต่อเนื่อง
Q : การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะช่องทางดูหนังออนไลน์อย่าง เน็ตฟลิกซ์ ไอฟลิกซ์ กระทบต่อธุรกิจโรงหนังหรือไม่
หัวใจของโรงหนัง คือ ภาพยนตร์ ซึ่งผู้สร้างหนังฮอลลีวูดก็สร้างหนังที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับหนังซึ่งหลังจากออกโรงและกระจายไปสู่ช่องทางต่าง ๆ ถูกกำหนดด้วยระยะเวลา ถึงจะถูกเผยแพร่สู่ช่องทางอื่น ๆ แต่หนังคือ ของสด คือ ประสบการณ์ที่ผู้ชมต้องดูทันที ซึ่งถ้าเป็นหนังที่ผู้ชมอยากดูก็คงจะไม่รอ ขณะที่เน็ตฟลิกซ์ ไอฟลิกซ์
ไม่ได้มีแค่หนัง แต่มีซีรีส์ สารคดี ซึ่งกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่สมาชิกของผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ความสนใจมากกว่าหนัง ทำให้ธุรกิจหนังและโรงหนังยังโต สะท้อนจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่าง ดิสนีย์ ที่ทุ่มงบฯซื้อลูคัสฟิล์ม และล่าสุดได้ซื้อฟ็อกซ์ เพื่อต่อยอดธุรกิจภาพยนตร์ ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 5.24 หมื่นล้านเหรียญ แสดงให้เห็นว่า ถ้าคนไม่ดูหนัง หรือดูหนังผ่านโรงลดลงธุรกิจนี้ก็คงไม่โต
สำหรับบริษัทก็พยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ชม อาทิ ไอแมกซ์ ซึ่งเมเจอร์ฯมีไอแมกซ์อยู่ 8-9 โรง และปีนี้จะเปิดอีก 1 แห่งที่ไอคอนสยาม โดยที่ทั่วโลกมีอยู่ 1,000 โรง ล่าสุดซีอีโอของไอแมกซ์เพิ่งมาไทย
Q : ตามศูนย์การค้าใหญ่ต่าง ๆ มีรายงานว่าคนซื้อของน้อยลง แต่คนดูหนังไม่ได้ลดลง
สำหรับศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ ก็ถือว่ามีคนเข้ามาใช้บริการเรื่อย ๆ โดยเฉพาะศูนย์กลางเมืองกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยว ขณะที่ศูนย์การค้าต่างจังหวัดจำนวนคนเข้ามาใช้บริการอาจจะไม่มาก แต่เติบโตตามจำนวนของประชากรและกำลังซื้อ แต่สำหรับโรงหนังแล้ว คนดูไม่ได้ลดลง เพราะไม่ว่าจะศูนย์เล็กหรือใหญ่จะมีโรงหนังแค่ 1 แบรนด์ ทำให้ไม่มีคู่แข่ง และหนังก็เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่คนต่างจังหวัดสัมผัสได้ในราคาไม่แพง
Q : ธุรกิจโรงหนังเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของคนดูที่เปลี่ยนไปอย่างไร
ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว วันนี้คนรับข่าวสารจากสมาร์ทโฟนซึ่งธุรกิจโรงหนังกับไลฟ์สไตล์ถือว่าเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ถ้าไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน แนวทางการทำตลาดของโรงหนังก็ต้องเปลี่ยน ดังนั้น เมเจอร์ฯจึงได้เก็บฐานข้อมูลของลูกค้า และถือเป็นโรงหนังเจ้าแรก ๆ ของโลกที่เก็บข้อมูลในส่วนนี้ เพราะยุคนี้การมีฐานข้อมูลกลายเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการมีข้อมูลของลูกค้าก็ทำให้เมเจอร์ฯไม่เคยหลุดเทรนด์ เพราะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และสร้างแคมเปญการตลาดที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชม เรียกว่าเราเป็นเมเจอร์ 5.0 มานานแล้ว
ที่ผ่านมาเราเองปรับตัวหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนเทคโนโลยีการฉายจากฟิล์มเป็นดิจิทัล เป็นเลเซอร์ โปรเจ็กเตอร์ และอนาคตในระบบแอลอีดี อีกทั้งเปลี่ยนรูปแบบการขายบัตรชมภาพยนตร์ จากเดิมขายตั๋วด้วยมือเป็นอีทิกเก็ต โดยลูกค้าสามารถซื้อตั๋วจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ เพิ่มความสะดวก ตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ตามด้วยแนวทางการทำตลาด ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะดูหนังเป็นใคร และสื่อสารให้ตรงกับคนกลุ่มนั้น ถือเป็นความท้าทายของเมเจอร์ฯ เพราะจะทำการตลาดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจับพฤติกรรมผู้ชม และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงกลุ่ม
ล่าสุดอยู่ระหว่างทดลองบัตรมูฟวี่พาส (movie pass) เฉพาะกับกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ มีค่าธรรมเนียม 200 บาทต่อเดือน สามารถดูหนังฟรีได้เรื่องละ 1 ที่นั่ง กี่เรื่องก็ได้ตลอด 30 วัน ซึ่งหากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายต่อไปยังลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ
“วิธีคิดของบัตรมูฟวี่พาสก็ง่าย ๆ ดึงฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ เช่น ปัจจุบันมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเมเจอร์ รัชโยธิน อยู่ 30,000 คน โดย 8,000 คน เป็นสมาชิกบัตรเอ็มเจนเนอเรชั่น และดูหนังเฉลี่ยปีละ 6 เรื่อง เท่ากับว่าแต่ละปีจะมีรายได้จากคนกลุ่มนี้ 1,200 บาทต่อคน แต่ถ้าทำให้คนกลุ่มนี้มาสมัครมูฟวี่พาส ก็จะมีรายได้เพิ่มเป็นปีละ 2,400 บาททันที”
Q : วางเป้าหมายการขยายธุรกิจปี 2561 อย่างไร
สำหรับในประเทศจะเปิดอีก 70 โรง ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ใหญ่ที่สุด คือ ไอคอน สยาม ในเดือนตุลาคม ขณะที่ต่างประเทศเดินหน้าขยายต่อเนื่อง เตรียมเปิดที่ลาว 1-2 สาขา กัมพูชา 1 สาขา จากปัจจุบันมี 131 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล 41 สาขา ต่างจังหวัด 85 สาขา และต่างประเทศ 5 สาขา ทั้งในกัมพูชา และลาว ซึ่งตลาดลาวและกัมพูชานี้ บริษัทถือเป็นผู้นำตลาด โดยมีส่วนแบ่ง 70-80%
Q : กลยุทธ์หลักของการขยายโรงหนังในประเทศเป็นอย่างไร
จากประสบการณ์การขยายสาขาในต่างจังหวัดก็ไม่ต้องใหญ่มาก เพราะโอเวอร์ไซซ์กับจำนวนและความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งบริษัทอาจจะลดเหลือแค่ 6 โรงต่อสาขา ซึ่งโมเดลนี้ตอบโจทย์ที่สุด ทั้งแง่ของการลงทุนและความต้องการในการดูหนัง ขณะที่จังหวัดใหญ่ก็จะเปิดไซซ์ 6 โรงไปเลย ส่วนสาขาระดับอำเภอ ตำบล ที่ขยายไปกับเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี จะเป็นไซซ์เล็กมี 1-2 โรง ใช้เงินลงทุนไม่สูง คืนทุนเร็ว และรองรับผู้ชมได้ดี ซึ่งการขยายไปต่างจังหวัดคงใช้สูตรนี้ เพราะไม่ได้มีหนังที่ทำรายได้ตลอดทั้งปี และหนังก็เปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งแต่ละปีมีหนังเข้าฉายไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง
Q : การขยายสาขาไปต่างประเทศ นอกจากทำให้มีเครือข่ายโรงหนังเพิ่มขึ้น ตอบโจทย์อะไรให้อีก
การขยายโรงไปต่างประเทศ คือ การสร้างสะพานให้ตลาดหนังไทย กลายเป็นโอกาสสำคัญให้หนังไทยเติบโตในตลาดต่างประเทศ ทั้งในแง่รายได้และจำนวนผู้ชม อีกทั้งยังทำอุตสาหกรรมหนังในประเทศโตขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อมีโรงเยอะ คนก็อยากดูหนังพิ่มและผู้สร้างหนังก็อยากเข้ามาในอุตฯนี้เพิ่มขึ้นตาม ที่ผ่านมาก็มีผู้สร้างหนังรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ทั้งซีเจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จากเกาหลีใต้ ขณะเดียวกันเมื่อหนังไทยได้รับความนิยมในลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ในอนาคตก้าวเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีการเติบโตที่ดี
ยกตัวอย่าง “ฉลาดแกมโกง” ที่เข้าไปจุดกระแสหนังไทย และเร็ว ๆ นี้ เมเจอร์ฯเตรียมนำแอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย “ก้าวศาสตรา” เข้าไปฉายในจีน
ทั้งหมดถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างโอกาสให้หนังไทยได้โตในตลาดต่างประเทศ และทำให้ผู้ผลิตหนังไทยฉีกกรอบเดิม ๆ ในการทำหนัง ที่ไม่ได้ทำหนังแค่คนในประเทศดู แต่ต้องทำหนังให้คน 10 ประเทศอาเซียนดูด้วย
Q : ตอนนี้มีโรงหนังในลาว และกัมพูชาแล้ว ทำไมยังไม่ตัดสินใจลงทุนในเมียนมา
เมียนมาจะเป็นสเต็ปต่อไปแน่นอน ปัจจุบันก็พูดคุยกับพันธมิตรตลอด เพียงแต่ว่ายังรอจังหวะและต้องศึกษาดี ๆ เนื่องจากประเทศนี้ไม่อนุญาตให้ประชาชนขี่มอเตอร์ไซค์ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำให้การเดินทางและการเคลื่อนตัวของประชากรจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจึงทำได้อยาก และสภาพการจราจรที่ติดขัด กลายเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ศูนย์การค้าในเมียนมา
ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งที่มีประชากรจำนวนมากและมีกำลังซื้อที่ดี ทำให้เมียนมาก็ยังเป็นโจทย์ที่บริษัทกำลังตามหาอยู่
Q : สาขาที่ทำรายได้หลักอย่างเมเจอร์ รัชโยธิน จะมีการปรับอะไรหรือไม่ หลังจากมีสถานีรถไฟฟ้า
อนาคตสถานีเมเจอร์ รัชโยธิน จะกลายเป็นสถานีที่มีเสน่ห์ เพราะตัดกับถนนรัชดาฯ เป็นสถานีที่มีคนเดินผ่านจำนวนมาก กลายเป็นโอกาสของร้านค้าภายในศูนย์ ซึ่งบริษัทเตรียมสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเอสซีบีพาร์ค ตัดผ่านสตาร์บัคส์ ชั้น 2 เพื่อเชื่อมเข้ามายังศูนย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่เปิดท้ายขายของ ซึ่งอนาคตอาจจะพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
“เราคงไม่รีบ เพราะแถวนี้ดีมานด์เยอะ รอให้รถไฟฟ้าสร้างเสร็จ ให้ทุกอย่างพีกก่อนแล้วค่อยสร้างก็ได้ เพราะถ้ารีบทำก่อนเดี๋ยวผิด เนื่องจากต้องดูการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีไอเดียคร่าว ๆ อยู่ในใจแล้ว”
Q : ผลประกอบการปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และปีนี้วางแผนการเติบโตไว้อย่างไร
ผลประกอบการ 9 เดือน (ม.ค-ก.ย. 60) มีรายได้ 1,118 ล้านบาท แต่ถ้าภาพรวมทั้งปี 2560 เมเจอร์ฯคาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ขณะที่ภาพรวมตลาดหนังปี 2560 ตัวเลขอาจไม่ดีนัก เนื่องจากมีหนังไทยเข้าฉายน้อย ประกอบกับผู้ชมไม่ได้อยู่ในบรรยากาศของการสังสรรค์
อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่าภาพรวมตลาดหนังจะโตเป็นตัวเลขสองหลัก เนื่องจากมีหนังไทยจ่อคิวเข้าฉายหลายเรื่อง อีกทั้งมีหนังฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศที่เตรียมเข้าฉายด้วย เฉพาะดิสนีย์ฯมีถึง 10 เรื่อง ซึ่งเมเจอร์ฯก็ตั้งเป้ารายได้ไว้ค่อนข้างสูงเช่นกัน
Q : เมเจอร์ฯจะมีอะไรมาฝากคนดูหนังในปี 2561
ในมุมมองของโรงหนังก็อยากจะสร้างให้อุตสาหกรรมหนังแข็งแรงไปด้วย เพราะหนังกับโรงหนังก็เหมือนไก่กับไข่ ซึ่งปีนี้ก็มีหนังไทยหลายเรื่องที่เตรียมจะเข้าโรง ซึ่งแต่ละเรื่องก็ใช้ทุนสร้างจำนวนมาก ซึ่งภาพรวมตลาดหนังปีนี้จะเติบโตอีกครั้ง เพราะมีหนังไทยและหนังต่างประเทศดี ๆ หลายเรื่องที่เตรียมจะเข้าฉายตลอดทั้งปี