ปีทองปั๊มเบี้ยสุขภาพโต 20% หลายค่ายจัดโปร-ไทยประกันชูส่วนลดเบี้ย

สมาคมประกันชีวิตไทยประเมินเบี้ยประกันสุขภาพปีนี้โต 20% รับอานิสงส์คนใส่ใจสุขภาพ-ลดหย่อนภาษี-คปภ.เข้มคุมฉ้อฉล “ไทยประกันชีวิต” เตรียมออกแบบประกันใหม่ให้ส่วนลดเบี้ยพิเศษตั้งแต่ปีแรก ฟาก “โตเกียวมารีน” ไม่ยอมแพ้เข็นโปรดักต์ใหม่ลูกค้าเลือกซื้อรายชิ้นได้ พร้อมวอนรัฐเจรจาโรงพยาบาลคิดค่ารักษาเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพบริษัทประกันภัย ช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2561) พบว่า เบี้ยประกันสุขภาพของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ 17,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.68% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันสุขภาพที่ 2,823 ล้านบาท เติบโต 4.99% จากปีก่อน โดยบริษัทประกันภัยที่มีเบี้ยสูงสุด 5 อันดับแรก ในฝั่งประกันชีวิต ได้แก่ เอไอเอ, ไทยประกันชีวิต, อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต, เมืองไทยประกันชีวิต และกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต ส่วนฝั่งประกันวินาศภัย ได้แก่ เอ็ทน่าประกันสุขภาพ, ซิกน่าประกันภัย, กรุงเทพประกันภัย, ทิพยประกันภัย และแอกซ่าประกันภัย

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 สมาคมคาดการณ์เบี้ยประกันสุขภาพภาพรวมจะเติบโตที่ 20% หรือกว่า 80,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเบี้ยโต 71,057 ล้านบาท โดย 85% จะมาจากประกันชีวิต และอีก 15% มาจากประกันวินาศภัย

โดยแนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ประเมินว่า ธุรกิจยังคงได้รับอานิสงส์จากการที่ประชาชนตระหนักเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพและวางแผนชีวิตในวัยเกษียณ และการซื้อประกันสุขภาพนำไปลดหย่อนภาษีช่วงปลายปี รวมถึงปีนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้วางแนวทางจัดการปัญหาข้อมูลฉ้อฉลประกันภัยในการส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจจับการฉ้อฉล และปรับปรุงกติกาบทลงโทษให้เข้มข้นขึ้น

“กระแสที่คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ทำให้บริษัทประกันเข้ามาจับตลาดนี้มากขึ้น โดยการแข่งขันจะเน้นในด้านการให้บริการเป็นหลัก” นางนุสรากล่าว

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทประกันชีวิตหันมาเน้นประกันสุขภาพและความคุ้มครองกันมากขึ้น จึงอาจทำให้เบี้ยประกันลดลง ส่งผลกระทบต่อเบี้ยรายใหม่ในครึ่งปีหลังนี้ที่อาจเห็นตลาดประกันชีวิตโดยรวมเติบโตแค่ตัวเลขหลักเดียว แต่ประกันสุขภาพจะขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทได้พัฒนาทีมงานคุณภาพ “MTL Smile Care” 520 ชีวิต เพื่อให้บริการลูกค้าตั้งแต่ก่อนการเสนอขาย ระหว่างการเสนอขาย และหลังการขาย ซึ่งจะเริ่มในไตรมาส 3 ปีนี้

นายปราโมทย์ ศักดิ์กำจร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ปีนี้อาจจะเห็นบริษัทที่มีแพลตฟอร์มสนใจการประกันสุขภาพกระโดดเข้ามา เนื่องจากกระแสใส่ใจสุขภาพ (เฮลท์เทรนด์) ไม่ใช่แค่การประกันเท่านั้น โดยประกันเองทำหน้าที่เป็นเพียงผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงคาดว่ายิ่งมีผู้เล่นมากขึ้นจะยกระดับให้ตลาดสุขภาพขยายตัวดี

“ผู้เล่นในธุรกิจประกันวินาศภัยต่างสนใจบุกตลาดนี้ แต่อาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการสะสมขีดความสามารถในการรับประกัน และเชื่อว่าภายใน 2-3 ปี เฮลท์เทรนด์จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นดาวเด่นในตลาดโลก” นายปราโมทย์กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าว บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขออนุมัติโปรดักต์สุขภาพตัวใหม่จากทาง คปภ. ซึ่งจะเป็นแบบประกันที่มีส่วนลดเบี้ยพิเศษตั้งแต่ปีแรกให้กับลูกค้าที่ดูแลสุขภาพดี โดยคาดว่าจะออกขายในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ขณะเดียวกันเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา บริษัทก็เพิ่งเปิดตัวโปรดักต์สุขภาพโกลด์เหมาจ่ายเจาะลูกค้ากลุ่มบนไปแล้ว โดยขยายครอบคลุมอายุของเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี จากเดิมที่คุ้มครองตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะให้วงเงินเหมาจ่ายสูงถึง 5 ล้านบาท

นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทมีแผนออกประกันสุขภาพตัวใหม่ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อเป็นรายชิ้นได้เอง เช่น ค่าห้อง ค่าชดเชย เป็นต้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพอร์ตประกันสุขภาพ 7% เป็น 20% หรือมีเบี้ยประกันสุขภาพมากกว่า 200 ล้านบาท เนื่องจากตลาดประกันสุขภาพแข่งขันรุนแรง จากการที่ประชาชนกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล จึงอยากให้ภาครัฐ สมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงาน คปภ. หารือร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อหาความเหมาะสมที่เป็นธรรมกว่านี้ เพื่อไม่จำเป็นต้องเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพ