ตลาดปิกอัพทรุด 4 เดือนติด NPL แซงเก๋ง ไฟแนนซ์เข้มสินเชื่อ

ปิกอัพ

ตลาดปิกอัพวูบหนักยอด 4 เดือนแรกหายไป 3 หมื่นคัน ปัญหาใหญ่โลจิสติกส์ SMEs หดตัว-ลีสซิ่งเข้มปล่อยสินเชื่อ ดันกันสุดตัวจน NPL ขยับแซงหน้ารถเก๋ง ค่ายรถดิ้นผนึกแคปทีฟไฟแนนซ์ขยายเวลาผ่อนชำระ อัดแคมเปญผ่อนต่องวดต่ำกระตุ้นตลาดไตรมาส 2 สภาอุตฯ ชี้ยอดขายหล่น 4 เดือนติด

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มทยอยฟื้นตัว ประกอบกับอีเวนต์หาเสียงของพรรคการเมือง เพื่อการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศในช่วงที่ผ่านมาจะคึกคัก แต่ปรากฏว่ายอดขายรถปิกอัพในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 กับหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุุตสาหกรรมฯ รายงานยอดขายรถปิกอัพ 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) พบว่ามียอดรวม 105,119 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 135,586 คัน หรือตลาดหดหายไปกว่า 3 หมื่นคัน

โลจิสติกส์ชะลอตัว

นายเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดปิกอัพในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีความต้องการในตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลกระทบมาจากภาคการขนส่งในระดับ SMEs ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่เชื่อว่ากำลังจะปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ

เออิอิชิ โคอิโตะ
เออิอิชิ โคอิโตะ : กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

“ตลาดปิกอัพมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดรถยนต์ทั้งหมดในไทย และยังมีศักยภาพการเติบโตที่สูงมาก เนื่องจากรถปิกอัพเป็นที่นิยมในวงกว้าง เพราะตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้หลากหลาย ทั้งในกลุ่มรถส่วนตัวและรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เลือกซื้อรถปิกอัพในทุกเซ็กเมนต์ ล้วนให้ความสำคัญกับสมรรถนะการขับขี่ อัตราการประหยัดเชื้อเพลิง ห้องโดยสารสะดวกสบาย และดูแลรักษาง่ายไม่จุกจิก”

ซึ่งมิตซูบิชิ มอเตอร์ส เตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวรถปิกอัพ ไทรทัน รุ่นใหม่ ที่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะของเครื่องยนต์ให้แกร่งทนทาน ทรงพลังมากขึ้น ประหยัดน้ำมันกว่าเดิม พร้อมตัวถังห้องโดยสารที่กว้างขึ้น และกระบะบรรทุกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จุของได้มากกว่า และยังมีแผนที่จะจับมือกับพาร์ตเนอร์ในการเสริมโครงสร้าง เพื่อการบรรทุกเชิงพาณิชย์อย่างมืออาชีพ ซึ่งเราเชื่อว่าจะกระตุ้นตลาดปิกอัพได้ดีอย่างแน่นอน

ไฟแนนซ์เข้มสินเชื่อ

เช่นเดียวกับนายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และประธานนิสสันอาเซียน เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในปีนี้ว่า เดิมนิสสันประเมินยอดขายรถยนต์โดยรวมน่าจะไปถึง 900,000 คันแต่ปรากฏว่าผ่านมาแล้ว 4 เดือนสถานการณ์โดยรวมไม่เป็นอย่างคาดการณ์ โดยเฉพาะตลาดปิกอัพซึ่งเป็นตัวไดรฟ์ตลาดหดตัว เดิมสัดส่วนตลาดปิกอัพกับตลาดรถยนต์นั่งจะพอ ๆ กัน แต่ 4 เดือนแรกที่ผ่านมาปิกอัพลดลงเหลือแค่ 40% เท่านั้น

ขณะนี้นิสสันและค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ และจับตาปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อตลาด โดยเฉพาะสถานการณ์ซัพพลายชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้ารุ่นต่าง ๆ ออกสู่ตลาด”

นายเซคิกุจิกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตลาดหดตัวเป็นผลมาจากมาตรการความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ การควบคุมด้านไฟแนนซ์ของสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดมียอดปล่อยสินเชื่อลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

“ตอนนี้เราเองก็อยู่ระหว่างการเฝ้าจับตาสถานการณ์ของตลาดรถยนต์โดยรวม แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน รวมถึงความเข้มงวดของไฟแนนซ์ด้วย ซึ่งคงจะต้องรอดูภาพรวมในช่วงกลางปีอีกครั้งหนึ่ง อีกหนึ่งปัจจัยที่ยังต้องจับตาคือ มาตรการการลงทุนของภาครัฐที่จะมีผลและสามารถดึงดูดนักลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาได้มากน้อยเพียงใด”

ทำให้นิสสันคาดว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมน่าจะปรับลงมาที่ 850,000 คัน ในจำนวนนี้ต้องดูว่าตลาดปิกอัพจะกลับมาอยู่ในระดับ 45-50% ได้หรือไม่

ผนึกแคปทีฟไฟแนนซ์กระตุ้น

สอดคล้องกับนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวถึงสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาว่า ตลาดโดยรวมมีการเติบโตลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการความเข้มงวดทางด้านไฟแนนซ์ของสถาบันการเงินต่าง ๆ หลังจากปีที่ผ่านมามีการอนุมัติสินเชื่อไปจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกอย่างมาก ประกอบกลับทิศทางการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทำให้มีการสต๊อกรถและมีเงินหมุนเวียนน้อยลง ขณะที่ต้นทุนโดยรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

“ปี 2565 มีการชี้นำตลาดโดยการใช้แคปทีฟไฟแนนซ์ตัวเอง เพื่อเพิ่มวงเงิน อีกทั้งสถาบันการเงินเองก็ร่วมลงมาเล่นในตรงนี้ด้วย ทำให้ NPL มากขึ้น และส่งมาทำให้เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมามีการเข้มงวดและปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ขณะที่ตลาดรถปิกอัพของเอ็มจีที่ผ่านมาประสบปัญหาด้านซัพพลายและการผลิตด้วย แต่หลังจากนี้สถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้น ก็น่าจะทำให้ เอ็มจีกลับมาทำตลาดปิกอัพได้ดีขึ้น”

นายศุภกร รัตนวราหะ : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะกลับมาเติบโตตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการทยอยส่งมอบรถที่ได้รับจองในช่วงงานมอเตอร์โชว์ และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาบูม ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจต่างๆ

สำหรับตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ไตรมาสแรกมีตัวเลขการขายสะสมน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าเป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของลูกค้า หลังจากที่มียอดสั่งซื้อจำนวนมากในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตอนนี้บรรดาค่ายรถยนต์รวมถึงตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ พยายามจับมือกับไฟแนนซ์กระตุ้นตลาดด้วยการเพิ่มเงื่อนไขยืดระยะเวลาการผ่อน เพื่อให้การชำระต่องวดต่ำลงป้องกันหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ฟอร์ดโต 30% สวนตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ตลาดปิกอัพหดตัว มีเพียงค่ายฟอร์ดที่ยังผลักดันยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง หลังปรับเปลี่ยนไลน์อัพสินค้ามาเป็นรถในตระกูล “เน็กซ์เจน” และมีสินค้าครบทุกไลน์อัพ ตั้งแต่ฟอร์ด เรนเจอร์, ฟอร์ด เอเวอเรสต์ และฟอร์ด แรพเตอร์ ทำให้สามารถมียอดขายขยับขึ้นมาอยู่เป็นอันดับ 4 ของตลาด แซงหน้าค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง มิตซูบิชิ,มาสด้า

สอดคล้องกับนายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย ที่กล่าวว่า ฟอร์ดยังใช้นโยบายมุ่งเน้นสานต่อความสำเร็จหลังจากเปิดตัวรถยนต์ฟอร์ด เน็กซ์เจน ทั้ง 3 รุ่น โดยตั้งเป้าว่าปีนี้ฟอร์ดจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์สูงสุดเป็นอันดับ 5 หรือมีการเติบโตไม่น้อยกว่า 30%

ลีสซิ่งเข้มสินเชื่อ SMEs

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มรถปิกอัพยังทำได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดอนุมัติสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 70-80% อย่างไรก็ดี มองว่าปัจจัยการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มรถปิกอัพอาจเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น แรงกดดันจากดอกเบี้ยขาขึ้น เกณฑ์กำกับดูแลของทางการ รวมถึงคุณสมบัติของลูกค้าเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อน้อยลง อาทิ กลุ่มอาชีพ เป็นต้น

ดังนั้น แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในกลุ่มลูกค้าเช่าซื้อรถปิกอัพส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่ม SSMEs ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน แม้ว่าเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว แต่จะอยู่ในกลุ่มภาคบริการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเซ็กเตอร์เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวไม่ได้ฟื้นตัวตาม ทำให้รายได้ไม่มั่นคง และส่งผลต่อการชำระหนี้ได้

และหากดูตัวเลขหนี้ NPL ของกลุ่มรถปิกอัพ ยอมรับว่ามีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยรถยนต์กลุ่มทั่วไป โดยตัวเลขหนี้ NPL ของรถยนต์ใหม่ต่ำกว่า 1% ซึ่งกลุ่มรถกระบะจะสูงกว่า 1% เล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ และคาดว่าตัวเลขทั้งระบบสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน

“เราไม่ได้ปรับ policy การอนุมัติจนทำให้ยอดรีเจ็กต์เพิ่มขึ้น แต่ลูกค้ารถปิกอัพอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะตอนแรกเราหวังเรื่องท่องเที่ยวดีขึ้น แม้จะดีขึ้น แต่การใช้จ่ายและจำนวนการพักของนักท่องเที่ยวน้อย หรือการเลือกตั้งที่คาดว่าเงินจะสะพัด ยอดขายดีขึ้น ก็ไม่ได้ดีตามคาด ทำให้กลุ่มลูกค้ารถปิกอัพที่อยู่ในเซ็กเตอร์ที่ฟื้นตัวอาจจะเหนื่อย และการอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น เพราะรายได้กลุ่มนี้จะอยู่ที่ 1.5-2 เท่าของค่างวด”

ขายปิกอัพฮวบ 4 เดือนติด

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หอการค้าญี่ปุ่น เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรก พบว่ามียอดขาย 276,563 คัน อันดับ 1 โตโยต้าขาย 40,903 คัน, อีซูซุ 47,532 คัน, ฟอร์ด 9,510 คัน, มิตซูบิชิ 5,229 คัน, นิสสัน 1,197 คัน, เอ็มจี 380 คัน และมาสด้า 368 คัน

ขณะที่ยอดขายปิกอัพรายเดือนพบว่าในเดือน ม.ค. มียอด 26,295 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขายได้ 30,201 คัน เดือน ก.พ. ขายได้ 27,328 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 35,722 คัน เดือนมีนาคม ขายได้ 27,328 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำได้ที่ 40,593 คัน และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาทำได้ 29,622 คัน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนทำได้ 40,593 คัน