ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ “รถดี-ปกป้องโลก” ความท้าทายใหม่โลกยานยนต์

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ

บนเวทีสัมมนา ESG : Game Changer ในหัวข้อ “เปลี่ยนให้ทันโลก” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ในฐานะตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ พูดถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ที่ให้ความสำคัญกับ (environment, social และ governance)

โดยยอมรับว่า วันนี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นยังให้ความสำคัญน้อย

เธอยอมรับว่า ผู้ผลิตยานยนต์คือหนึ่งในตัวร้ายของโลกใบนี้ ด้วยการฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันยานพาหนะในกรุงเทพฯ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคการขนส่งเป็นอันดับหนึ่งที่ 26%

หากดูจากสนธิสัญญาปารีส อุตสาหกรรมยานยนต์ถูกมอบหมายให้ต้องลดคาร์บอนให้ได้ 30% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบจากปี 2019 แต่หากปล่อยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ลดเองตามสภาพน่าจะได้แค่ 19% ยังห่างไกลเป้าหมายมาก ต้องหาตัวช่วย

และที่เลวร้ายคือ เรายังถูกกดดันทั้งเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง Climate, Circular Economy, การใช้วัตถุย่อยสลายได้ง่าย Resources & Biodiversity ทำให้ซัพพลายเชนถูกบังคับให้ต้องทำเรื่อง ESG ด้วย รวมทั้งความกดดันที่จะต้องหัดใช้ดิจิทัลเข้ามาเพื่อควบคู่กับความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์

ท่ามกลางความกดดันต่าง ๆ เหล่านี้ กลายเป็นว่าการลงทุนเกี่ยวกับ ESG ในอุตสาหกรรมยานยนต์กลับน้อยลงทุกปี และบริษัทขนาดใหญ่กลับมีการลงทุนน้อยกว่าบริษัทขนาดเล็ก

ทั้งนี้มาจาก 2 เหตุผลหลัก คือ 1.ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ทำให้การลงทุนที่ไม่ได้เกิดผลตอบแทนทางด้านการเงินถูกผลักออกไปก่อน

2.อุตสาหกรรมยานยนต์ยังประสบปัญหาการขาดแคลนชิป หรือชิ้นส่วนยานยนต์ในการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการยังวุ่นวายอยู่กับการจัดสรรการผลิตในแต่ละวันไม่ให้ติดขัด ดังนั้นผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์จึงยังไม่มีเวลาเข้ามาดูแลเรื่องของ ESG

หากลงรายละเอียดจะเห็นว่า ผู้ผลิตรถยนต์ หรือ OEM นั้นมีการลงทุนด้าน ESG น้อยกว่า ซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หรือจะมองอีกแง่หนึ่ง คือผลักภาระต้นทุน ESG ให้กับซัพพลายเออร์นั่นเอง

แต่ทั้งผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ESG ทั้งในแง่ของการวางแผนกลยุทธ์และการนำไปปฏิบัติใช้ สถานการณ์ในวันนี้ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยังไม่มีการดำเนินการทั้งสองส่วน

“ชนาพรรณ” กล่าวติดตลกว่า “ค่อนข้างอายนิดหน่อย ท่ามกลางความท้าทายใหม่ท่ามกลางความกดดันต่ออุตสาหกรรมยานยนต์มากขนาดนี้ ในฐานะของคนในอุตสาหกรรม ที่ทำได้วันนี้คือ การ เฝ้ารอ…และนี่คือความจริง”

การจะยกระดับมาตรฐาน ESG ของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้นั้น จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การประกอบรถยนต์หนึ่งคันนี้ มีการนำวัตถุดิบจากทั่วโลกมาผลิตผ่านกระบวนการมากมาย กว่าจะเป็นรถยนต์หนึ่งคัน จะเห็นได้ว่าการผลิตรถยนต์ 1 คัน มาจากทุกภาคส่วนทุกภูมิภาคทั่วโลก แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาหนึ่งบริษัทหรือหลาย ๆ บริษัทให้มาทำ ESG แล้วจะสำเร็จ แต่ความสำเร็จนี้จะต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกคนในอุตสาหกรรมมายกระดับขึ้นไปพร้อมกัน

“ชนาพรรณ” ได้เสนอแนวคิดปรัชญาการทำธุรกิจยุคใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ 1.รถยนต์ที่ดี great vehicles 2.ปกป้องโลก protect our planet และ 3.ต้องเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรง sustain and strong business โดยทั้ง 3 ส่วนข้างต้นจะต้องมีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

โดยต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการการออกแบบรถยนต์ ไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายของการใช้หรือรถจบชีวิตลง

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ

จุดแรกคือ นวัตกรรม คือ จุดแรกที่เราเชื่อว่า รถยนต์จะสามารถเปลี่ยนผ่าน จากเครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ EV ได้ ต้องเริ่มต้นจากการออกแบบจะใช้วัตถุดิบแบบใด ช่วยให้รถยนต์แต่ละคันเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานจะสามารถแยกธาตุ แยกสารประกอบได้ ทั้งรถยนต์ และแบตเตอรี่ เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น

การผลิตแบตเตอรี่ 40% อยู่ที่การทำเหมือง ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่า 60% จากนวัตกรรมการผลิตรถยนต์จะช่วยลดมลพิษได้

การออกแบบ ตัวซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์จากเดิมเป็นลักษณะเส้นตรงยาว เริ่มต้นจากวัตถุดิบ เข้าไปสู่โรงงานประกอบที่ 1, 2, 3 ออกมาเป็นรถและส่งไปดีลเลอร์ แต่พอพัฒนามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า “ซัพพลายเชน” ที่เป็นเส้นตรงจะถูกแตกออกเป็นลักษณะของดาวกระจาย แต่ละวงกลมจะมีคลัสเตอร์ของตัวเอง เช่น คลัสเตอร์แบตเตอรี่ 1 เส้น, คลัสเตอร์การประกอบรถ 1 เส้น และคลัสเตอร์อื่น ๆ

แต่ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของมูลค่ารถยนต์กลับไปอยู่ในเส้นอื่น ๆ คือ “ซัพพลายเออร์” และนี่คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ซัพพลายเออร์ต้องมีส่วนร่วมเรื่อง ESG เช่น ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จะต้องทำรายงานเรื่อง ESG ของซัพพลายเออร์เป็นรายงานร่วมไว้ในรายงานของแต่ละบริษัท การผลิตและการใช้วัสดุแบบย่อยสลายได้ง่ายนั้น มีราคาค่อนข้างแพง แต่ลูกค้าจะยอมรับราคาที่แพงกว่าได้โดยเฉลี่ยแค่ 8.5-8.7% เท่านั้น

เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดไปให้ลูกค้าได้ สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือการเพิ่ม value chain ให้กับลูกค้า ทำให้วันนี้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีใครได้กำไร ทุกค่ายขาดทุน ต่างจากรถที่ใช้เครื่องยนต์นั้นผลิตแล้วมีกำไร ด้วยนวัตกรรมและอีโคโนมีออฟสเกล

“ชนาพรรณ” พยายามเปรียบเทียบ รถ EV กับรถที่ใช้เครื่องยนต์ ว่าใครสะอาดกว่ากัน ซึ่งถ้าแยกออกเป็นส่วน ๆ ตั้งแต่การผลิต โดยเฉพาะตัวแบตเตอรี่ ที่มาจากการทำเหมืองแร่ซึ่งมีทั้งฝุ่นควันมลพิษ ทำให้รถใช้เครื่องยนต์ยังชนะ

ถัดมาระหว่างการใช้งาน รถ EV ก็ยังไม่ชนะรถน้ำมัน เพราะไฟฟ้า (พลังงาน) ที่เติมเข้าไป ส่วนใหญ่ยังมาจากฟอสซิลไม่ใช่พลังงานทดแทน

รถ EV จึงไม่ได้สะอาดเพียงเพราะว่าไม่มีควันพิษออกจากปลายท่อไอเสียเท่านั้น แต่ถ้าพลังงานที่เติมเข้าไปเป็นแบบผสม ก็จะทำให้ รถ EV ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่ารถยนต์แบบสันดาปถึง 50% ขณะที่การซ่อมบำรุงรักษาถือว่าสูสีกัน ส่วนการทำลายมากกว่า 95% ของแบตเตอรี่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ทำให้โดยรวม ๆ แล้ว รถยนต์ไฟฟ้า ยังสะอาดกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป 55%

ถามต่อว่าจะสามารถทำให้สะอาดกว่านี้ได้อย่างไร มี 2 อย่าง คือ 1.การทำลาย การ recycling ในปัจจุบัน ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่แพร่หลายได้ ถ้าทำได้ก็จะช่วยได้มากขึ้น 2.ต้องพยายามออกแบบให้รถขนาดกลางมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อนาคตผู้ผลิตอาจจะต้องรับซื้อรถคืน ไม่ใช่แค่ขายรถแล้วจบ ต้องรับซื้อแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนส่วนต่าง ๆ คืน และที่ยากจะปฏิเสธคือ ต่อให้มีรถยนต์ไฟฟ้า แต่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปก็จะยังคงอยู่ไปอีกนาน

เพราะฉะนั้น ผู้เล่นในตลาดทดแทน ต้องหาวิธีการผลิตแบบใดที่จะสามารถลดคาร์บอนให้ได้ ใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่สามารถปฏิเสธเรื่อง ESG

โจทย์ที่ทุกคนตั้ง ถ้าต้องการให้รถทุกคันสะอาดควรจะต้องเปลี่ยนไปสู่รถ EV อย่าลืมว่ารถที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีทั้งสิ้น 1,400 ล้านคัน 90% ยังใช้เครื่องยนต์สันดาป ถ้าต้องเปลี่ยนให้หมด เราจะต้องใช้แร่ลิเทียม 15% ของแร่ทั้งหมดบนโลกนี้ ยังไม่รวมแร่อื่น ๆ นี่ก็จะหมดโลกแล้ว และในทางกลับกันการกำจัดรถ 1,400 ล้านคันทิ้งจะทำลายอย่างไร

ชนาพรรณมองการเปลี่ยนผ่านว่า รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ ๆ ระยะสั้นในปี 2030 ผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อประกาศชัดว่าจะเลิกขาย เลิกผลิตเครื่องยนต์สันดาป ระยะแรกเป็นการโปรโมต คาร์บอน อีมิสชั่น ที่เข้มงวดมากขึ้น ความพยายามโปรโมตรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องทำให้ครบ เช่น การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ใช้ ยังมีความจำเป็น ถัดมาระยะกลาง เมื่อได้มาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว ตอนนี้จะกลายเป็นบทลงโทษ สิทธิประโยชน์หายไป ใครไม่ใช้รถ EV จะถูกลงโทษ และในขณะเดียวกันเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ต้องปรับปรุงไปสู่ระยะยาวได้

ส่วนระยะยาว คือ ต้นทุนที่ส่งผ่านไปยังราคาขาย ดังนั้นราคาขายรถเครื่องยนต์สันดาปกับรถอีวีจะต้องเท่ากัน ในราคาและสเป็กที่เท่ากัน และระยะนี้จะเป็นการทำให้ผู้บริโภคมั่นใจที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ผู้เล่นในอุตสาหกรรมทั้งหมดจะต้องเป็นผู้ค้นหานวัตกรรมเข้ามาให้ตัวเอง ผู้ผลิต-ผู้ขาย-ผู้ซื้อ ต้องรวมตัวกันเพื่อให้เกิดมาตรฐานใหม่

ราคากับนวัตกรรม 2 สิ่งนี้จะทำให้เราได้ตลาดใหม่ shape market ส่วนผู้เล่นทุกคนต้องขีดสี ตีเลนของตัวเอง ให้รถยนต์ของตัวเองและบริษัทของตัวเองวิ่งไปบนถนนสายใหม่นี้ให้ได้