อุตฯเร่งมือไฟเขียว 6 ค่ายรถ ลั่นปี”79 ไฮบริด-อีวีกวาดสัดส่วน 25%

บอร์ดบีโอไอไฟเขียว 6 ค่ายรถยนต์ลุยไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริดและอีวี พร้อมแผนส่งเสริมบูรณาการ กำหนดปี 2579 ดันสัดส่วนรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสูงถึง 25% ชี้เฉพาะเบนซ์-โตโยต้า ผลิตแล้วเฉียดแสนคัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เดือน มิ.ย. 2561 ที่จะถึงนี้ วาระสำคัญคือการพิจาณาเพื่ออนุมัติโครงการที่ได้ยื่นขอลงทุนในมาตรการสนับสนุนการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) โดยมีนักลงทุน 8 ค่ายรถยนต์ยื่นขอบีโอไอไปเมื่อปลายปี 2560 ในกลุ่มประเภทไฮบริด (HEV) และรถแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV)

“สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เรียกผู้บริหารแต่ละกรมเข้าประชุมหารือ และติดตามความคืบหน้าในส่วนของงานกระทรวง ทั้งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้ออกมาตรการส่งเสริมหรือแพ็กเกจสำหรับการลงทุนไปแล้ว เช่น รถอีวี เอกชนมีแผนขับเคลื่อนลงทุนอย่างไรต่อจากนี้”

สำหรับค่ายรถยนต์ 8 รายที่เคยยื่นขอลงทุนทั้งไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริดไปแล้วก่อนหน้านี้มี 2 ราย คือโตโยต้าและเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว ส่วนอีก 6 รายที่เหลือ คือนิสสัน มาสด้า ฮอนด้า บีเอ็มดับเบิลยู ซูซูกิ และเอ็มจี

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สสอ.) ได้รายงานเพื่อสรุปความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน/มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างฐานรถยนต์ทั้ง 3 กลุ่ม (ไฮบริด, ปลั๊กอิน-ไฮบริด และอีวี) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงเอกชนที่ต้องเตรียมแผนการลงทุนและหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการดำเนินงานอย่างบูรณาการ

ครอบคลุมทุกด้าน โดยปี 2579 เป้าหมายของรถยนต์ทั้ง 3 กลุ่มนี้จะอยู่ที่ 25% ของการผลิตทั้งหมดซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินไปแล้ว ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างความต้องการด้านอุปทาน ซึ่งหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันมีผู้ได้รับการส่งเสริมแล้ว 2 ราย จำนวนการผลิต 78,700 คัน

และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 6 ราย ยังคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ปี 2564 จำนวน 150,000 คัน ขณะที่กรมสรรพสามิตได้ออกประกาศลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้ง 3 กลุ่มนี้แล้ว และกรมศุลกากรออกประกาศยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) แบบมีเงื่อนไข ทั้งหมดได้ดำเนินการแล้ว

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าและจัดทำมาตรฐานเต้ารับ-เต้าเสียบและมาตรฐานระบบประจุไฟฟ้า (EMC) ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือ ในปี 2560-2561 สถาบันยานยนต์เริ่มพัฒนาบุคลากร 340 คน และสถาบันยานยนต์ยังทำ Center of Excellence เน้นถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการวิจัยต้นแบบแบตเตอรี่ และขณะนี้ได้มีการรวบรวมเพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการอีวีโลกเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ยังคงเหลือมาตรการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกหลายส่วน คือมาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ โดยสำนักงบประมาณกำหนดบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ขณะที่ภาครัฐใช้ในพื้นที่ EEC หรือพื้นที่อุทยานพัฒนาวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณานำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน/มอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้งาน

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงเร่งดำเนินโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ขึ้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้ประเทศไทยใช้ศูนย์ดังกล่าวทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์และยางล้อของภูมิภาคอาเซียน จูงใจนักลงทุน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการพัฒนา และส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ลดการพึ่งพาการส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้น

ส่วนการจัดทำมาตรฐาน (มอก.) แบตเตอรี่ยังคงอยู่ระหว่างการร่างรายละเอียดให้ทันพร้อมกับการเกิดของรถยนต์อีวี เพราะหากมีรถใช้ในประเทศจึงต้องมีแบตเตอรี่รองรับตามมาตรฐานสากลและต้องเพียงพอ ขณะเดียวกันจะต้องบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เตรียมพิจารณาเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว

จากนั้นจะประกาศและบังคับใช้ในสเต็ปที่แผนงานยังคงดำเนินไปตามแต่ละส่วน สถาบันยานยนต์ได้พัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับอีก 250 คน ที่คาดว่าปี 2562 จะครบตามจำนวน ควบคู่ไปกับจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ที่เน้นถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการ วิจัยต้นแบบการถอดแยกชิ้นส่วน และสิ่งสำคัญคือการมีฐานข้อมูลผู้ประกอบการอีวีไทย เพื่อจะได้ประเมินศักยภาพ ความสามารถผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต