ค่ายรถ-ชิ้นส่วนพร้อมลุยยูโร 5 มิตซู-มาสด้าขอ 2 ปี “ไมลด์ไฮบริด” ส่อแห้ว

ค่ายรถยนต์ขานรับ หลัง ครม.ไฟเขียวภาษีสรรพสามิตลดฝุ่นพิษ หั่นอีวีเหลือ 0% สำหรับรถที่ผลิตในปี 2563-2565 จากเดิม 2% ด้านปิกอัพยูโร 5 ใช้บี 20 ได้เสียภาษีต่ำลง “มิตซูบิชิ” พร้อมประเดิมปี 2564 มาสด้าขอเวลา 2 ปี วงในเผย “ไมลด์ไฮบริด” มีสิทธิ์แห้ว

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.คลอดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% เป็นระยะเวลา 3 ปี กระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนเร็วขึ้น โดยให้เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2563 ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลได้อานิสงส์เร่งยกมาตรฐานยูโร 5 มีส่วนลดภาษีลงจากเดิม

แหล่งข่าวระดับบริหารบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นดีด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยบริษัทจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ เทียบเท่ามาตรฐาน ยูโร 5 ทุกคัน ภายในปี 2564

ขณะที่นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ที่ประกาศออกมานั้นถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการช่วยส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวไปสู่มาตรฐานยูโร 5 ได้อย่างรวดเร็ว และมาสด้าพร้อมสนองตอบกับนโยบายรัฐบาล

โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ได้มีโจทย์ให้ภายในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะต้องมีการใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ซึ่งปัจจุบันในส่วนของรถยนต์นั่งมาสด้า 2 และมาสด้า 3 ได้ใช้มาตรฐานยูโร 5 ทั้งหมดแล้ว

ขณะที่รถปิกอัพ มาสด้า บีที-50 โปร ก็คาดว่าจะมีการพัฒนาให้รองรับได้ทันกับที่ทางภาครัฐกำหนด

“เป็นที่น่าสังเกตว่ายูโรสเต็ปที่ 5 นั้น ภาคอุตสาหกรรมหากได้รับการสนับสนุนตรงนี้ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากมาตรการ บี 20 ซึ่งยังต้องรอความพร้อมจากหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งเนื่องรถปิกอัพถือเป็นสินค้าที่มีรุ่นที่หลากหลาย แยกตามประเภทของการใช้งาน ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องใช้รายละเอียดที่แตกต่างกันพอสมควร ทั้งน้ำหนัก วัตถุประสงค์การใช้งาน

ก่อนหน้านี้ นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า รถยนต์หากใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นราคารถยนต์จะแพงขึ้น และหากรัฐบาลตัดสินใจว่าจะต้องใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว ค่ายรถยนต์จะต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ปิกอัพของอีซูซุนั้นได้ผ่านมาตรฐานยูโร 4 อยู่แล้ว

ปัจจุบันอีซูซุมีซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก บางชิ้นส่วนต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อจะรองรับมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งควรจะต้องปรับปรุงโครงสร้างน้ำมันก่อนว่า มาตรฐานน้ำมันของประเทศไทยพร้อมหรือยัง เพราะต้องมีการปรับปรุงโรงกลั่น

“ทุกอย่างยังต้องใช้ระยะเวลา หากจะให้คำตอบว่า 2 ปีนั้น เราตอบไม่ได้ ในเชิงเทคนิค อีซูซุมีเทคโนโลยีในการรองรับอยู่แล้ว เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ แต่ปัญหาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างบี 20 ใช้กับรถบรรทุกได้แล้ว สำหรับรถปิกอัพถ้ามีเวลาระดับหนึ่งให้เตรียมตัวก็สามารถทำได้ และเราคงจะต้องมาร่วมด้วยการแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อให้ผ่านไปได้ในทุก ๆ ภาคส่วน”

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไมลด์ไฮบริดที่ผลักดันโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

โดยในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีเพียงมาตรการจูงใจให้เร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะเสนอควบคู่กันไป ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้คงต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจ

“การส่งเสริมรถไมลด์ไฮบริดต้องตอบโจทย์ให้ได้ 2 ข้อ คือ ต้องไม่เป็นการส่งเสริมให้ค่ายรถยนต์ได้ประโยชน์เพียงรายเดียว และจะต้องพัฒนาไปเป็น BEV ต่อไปได้ แต่ที่ผ่านมาโจทย์ดังกล่าว ทาง สศอ.ยังตอบไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณา” แหล่งข่าวกล่าว