ทัพบิ๊กไบก์ผุดโรงงาน ใช้ไทย “ฮับ” มั่นใจสิทธิประโยชน์เพียบ-ซัพพลายเชนปึ้ก

ตลาดบิ๊กไบก์ระอุ ทัพสองล้อแห่ปักธงใช้ไทยเป็นฐานผลิตรับความต้องการทั้งในและนอก ปท. “รอยัล เอนฟิลด์” จ้องผุดโรงงานนอกอินเดียเป็นครั้งแรก “ไทรอัมพ์-บีเอ็มฯ มอเตอร์ราด” เตรียมเพิ่มไลน์ประกอบอีกหลายรุ่น ด้านผู้ผลิต

ชิ้นส่วนแย้ม “เคทีเอ็ม” มาแน่

นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ช่วงนี้ดุเดือดมาก นอกจากในตลาดมีผู้เล่นเพิ่มขึ้น แต่ละค่ายยังพยายามมองไทยเป็นฮับและฐานผลิตที่สำคัญในภูมิภาค ส่งผลให้ให้ทำตลาดได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะมีราคาที่ต่ำลง

สำหรับไทรอัมพ์เองมีแผนจะขยายการลงทุนโรงงานไทรอัมพ์ สตรัคเจอร์ ประเทศไทย ในนิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยจะเพิ่มไลน์ผลิตรองรับการเติบโตของตลาดทั้งในประเทศและส่งออกมีการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มเติม ปัจจุบันไทรอัมพ์มียอดผลิต 65,000 คันทั่วโลก โดย 70% มาจากโรงงานในไทย ส่วนอีก 30% เป็นโรงงานในประเทศอังกฤษ

“รุ่นคลาสสิกเครื่องยนต์ 900-1,200 ซีซีเราผลิตจากโรงงานประเทศไทยทั้งหมดแล้วส่งออกไปขายทั่วโลก ดังนั้น ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของไทรอัมพ์”

เช่นเดียวกับ นายสิทธัตถะ ลาล ประธานบริหาร รอยัล เอนฟิลด์ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ “รอยัล เอนฟิลด์” จากประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย เตรียมขึ้นไลน์ประกอบรถจักรยานยนต์รอยัล เอนฟิลด์ และถือเป็นครั้งแรกที่ตั้งโรงงานผลิตนอกอินเดีย

“เราน่าจะเปิดสายการประกอบได้ในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคมนี้ และภายในสิ้นปีจะเริ่มดำเนินการประกอบได้ 100%”

สำหรับรุ่นที่จะขึ้นไลน์ประกอบในประเทศไทยนั้น มี 3 แพลตฟอร์ม คือ รุ่นโกลบอลโมเดล ที่ใช้เวลาพัฒนามาถึง 5 ปี ประกอบด้วยรุ่นทวินส์ เทอร์โบ 500 ซีซี, รุ่นคลาสสิกเครื่องยนต์ 500 ซีซี และหิมาลายัน 410 ซีซี ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยสนับสนุนและมีพันธมิตรที่เข้มแข็งอย่างไทยซัมมิท ที่ผลิตชิ้นส่วนแฟรมป้อนในอินเดียทำให้ตัดสินใจเข้ามาขยายฐานการผลิตในไทย

“โรงงานที่ฉะเชิงเทรา เราเช่ายูไนเต็ดออโต้ รง.ประกอบของแบรนด์ตงฟง ตอนนี้กำลังเร่งเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ขณะที่ราคาขายไม่น่าจะถูกลงมาก เพราะช่วงแรกของการเปิดตลาด เรากำหนดราคาไว้ต่ำมาก ดังนั้นการขึ้นไลน์ผลิตครั้งนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องราคา”

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายโชว์รูม และเซอร์วิสเซ็นเตอร์แบบครบวงจร ตั้งเป้า 1 ปีจะเปิดเพิ่มอีก 12 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 แห่ง และให้ครอบคลุมพื้นที่ 25 แห่งภายใน 1 ปี

“ผลประกอบการที่ผ่านมาเราทำได้ดี ส่งผลให้ติดท็อป 5 ยอดขายรอยัล เอนฟิลด์ นอกประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในกลุ่ม 250-750 ซีซี ตอนนี้บ้านเราทำตัวเลขอยู่ราว 15,000 คัน เมื่อเทียบกับยอดขายตลาดรวมที่มีอยู่กว่า 1.7 ล้านคัน เรามองว่ายังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ส่วนปีนี้มั่นใจว่าจะมียอดขายโตสูงขึ้นกว่า 1,400 คัน”

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตอยู่ที่อินเดีย 3 แห่ง มีกำลังผลิตกว่า 800,000 คันโดยแบ่งเป็นตลาดส่งออก 30,000 คัน

ก่อนหน้านี้ นายคริสเตียน วิดมานน์ ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ความสำเร็จของรถจักรยานยนต์

บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม เป็น 3,077 คัน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดใหญ่ คือ ตลาดเอเชีย และอาเซียน อาทิ จีน, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และมาเลเซีย

“โรงงานที่ระยองเรามีกำลังผลิตสูงสุดถึง 30,000 คันต่อปี ในส่วนของรถยนต์และจักรยานยนต์อีก 15,000 คันต่อปี ซึ่งปัจจุบันถือยังไม่เต็มคาพาซิตี้ ปีนี้เราโฟกัสไปที่ตลาดจีน ส่วนหนึ่งเป็น

ผลมาจากการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี”

แหล่งข่าวจากแวดวงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้มีกระแสข่าวรถจักรยานยนต์สัญชาติออสเตรเลีย “เคทีเอ็ม” ที่เพิ่งประกาศยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายและผู้นำเข้า กับบริษัท เบิร์นรับเบอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานั้น มีแผนเข้ามาลงทุนขึ้นไลน์ประกอบในประเทศไทย โดยเริ่มมีการเจรจากับผู้ผลิตชิ้นส่วนไปบ้างแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

“ไม่นานจากนี้ตลาดบิ๊กไบก์คงจะคึกคักมากขึ้น เพราะเกือบทุกค่ายมีโรงงานประกอบในบ้านเราทั้งหมด ทั้งฮาร์ลีย์ ดูคาติ ไทรอัมพ์ เป้าหมายตลาดใหญ่อยู่ในประเทศกลุ่มอาเซียน รวมทั้งจีน บ้านเราใคร ๆ ก็สนใจ เพราะความแข็งแกร่งด้านซัพพลายเชน คุณภาพฝีมือแรงงาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ”