“รถยนต์ไฟฟ้า” บ้านเรา ต้องออกแรงกันอีกเยอะ

“รถยนต์ไฟฟ้า” (อีวี) ถูกชูโรงในฐานะรถยนต์แห่งอนาคต หลายค่ายทั่วโลก ทั้งหน้าเก่าและใหม่ ต่างกระโจนลงสนาม พัฒนา ผลิต แข่งขันเทคโนโลยี โนว์ฮาวกันสุดพลัง ประเทศไทยเองในฐานะประเทศฐานผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่สำคัญก็เปิดฉากด้านนโยบาย เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง ในงานสัมมนา “Next-generation Vehicles Symposium” ที่จัดโดยความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ผู้กำกับกฎหมายทั้งไทยและญี่ปุ่น รวมถึงตัวแทนจากค่ายรถยนต์ ได้นั่งลงพูดคุย ถกกันถึงการสร้าง “ความแพร่หลาย” ของรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดขึ้นได้จริง

โดยเฉพาะหากต้องการให้เกิดภายในระยะ เวลาอันใกล้ รัฐบาลไทยจะต้องสนับสนุนให้ครบทุกด้านเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ตั้งเต่สนับสนุนเงินอุดหนุนคนซื้อรถ โครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จไฟฟ้า ฯลฯ ส่วนตลาดส่งออกก็ต้องสนับสนุนประเทศปลายทางเพื่อให้ส่งออกได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่นโยบายส่งเสริมทางภาษีเท่านั้น

ญี่ปุ่นแนะรัฐอุดหนุนเงินซื้อรถ

“ซาโตชิ นิชิโนะ” ผู้อำนวยการกองนโยบายการค้ารถยนต์ระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่น กล่าวว่า

ไทย และญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันทางญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการส่งเสริมรถอีวี ของรัฐบาลไทยเช่นกัน ฐานการผลิตในเอเชียนั้น ไทยถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด ราวกับว่า “ไทยและญี่ปุ่นมีโชคชะตาร่วมกัน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องทำตอนนี้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมรถอีวีให้เกิดขึ้นคือ “การสร้างความแพร่หลาย” เนื่องจากปัจจุบันราคาขายยังแพงอยู่ ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญสำหรับการตัดสินใจซื้อ หากแพร่หลาย ผลิตมาก ราคาก็จะลดลงมามาก ดังนั้นสิ่งที่อยากจะแนะนำไทยก็คือ อยากให้รัฐช่วยอุดหนุนการซื้อ เหมือนที่ญี่ปุ่นมีนโยบายดังกล่าวส่งเสริมมากถึง

10% ของราคารถ และนอกจากการส่งเสริมภายในประเทศ ต้องมองไกลไปถึงการส่งเสริมในประเทศปลายทางส่งออกด้วย โดยเชื่อว่าหากทำกันอย่างจริงจังก็น่าจะทำให้รถอีวีเติบโตขึ้น เหมือนในญี่ปุ่นซึ่งตอนนี้มีรถอีวีมากกว่า 95,000 คัน หรือ 0.37% รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด คิดเป็น 0.22% และรถยนต์ไฮบริด คิดเป็น 30% และคาดว่าในปี 2030 ยอดใช้งานของรถอีวีและปลั๊ก-อินไฮบริดรวมกันมากถึง 20-30% หรือ 700,000-1 ล้านคันของรถทั้งหมด

ตัวโครงสร้างพื้นฐานก็ จำเป็นมาก ๆ ในญี่ปุ่นปี 2016 เราจะมีสถานีชาร์จไฟความเร็วสูงถึง 7,061 แห่ง และสถานีชาร์จไฟความเร็วปกติ 17,260 แห่ง และคาดว่าจะขยายสถานีชาร์จอิสระไปยังคอนโดฯหรืออาคารสำนักงานเพิ่มเติม ต่างจากประเทศไทยที่ระบุว่าปี 2036 จะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า 690 แห่งไม่เพียงพอแน่นอน ต้องไม่ลืมว่าเติมน้ำมันใช้เวลาเพียง 3 นาที แต่การชาร์จแบตฯ ความเร็วปกติ 8 ชั่วโมง และชาร์จแบตฯความเร็วสูงใช้เวลาราว ๆ 30 นาที ถ้าสถานีชาร์จไม่เพียงพอก็ไม่จูงใจให้ใช้

ก.อุตฯ พร้อมหนุนผลิต “อีวี”

ด้าน “ศิริรุจ จุลกะรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงการรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์อนาคตในประเทศไทยว่า ปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกแบบแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี สำหรับอุตสาหกรรมอนาคต โดยรัฐบาลได้เห็นชอบแล้ว เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทัน อุตสาหกรรมยังถือเป็นเซ็นเตอร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันเอง

สิ่งที่รัฐทำก็คือ ต้องผลักดัน สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อนาคต หรือรถยนต์ไฟฟ้า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำในปีนี้คือ ผลักดันให้มีการเริ่มต้นผลิต และพัฒนา มุ่งให้เกิดการลงทุนรถยนต์อนาคตขึ้นในไทย ขณะเดียวกันก็คือการออกมาตรการกระตุ้นความต้องการในตลาดต่อรถยนต์ไฟฟ้า เช่น นโยบายลดหย่อนภาษี และการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ

นอกจากนั้น รัฐบาลยังดูแลในเรื่องของซัพพลายเชน ซึ่งต้องเปลี่ยนไปตามระบบรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังดูแลเรื่องสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า มาตรฐานเต้ารับ-เต้าเสียบ ดูแลแผนสิ่งแวดล้อมในอนาคตว่า กรณีแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน จะดูแลต่อไปยังไง โดยใน 20 ปีข้างหน้าตั้งเป้าว่าในไทยจะมีการประกอบรถยนต์อนาคต 20% ของรถยนต์ทั้งหมด

อย่างไร ก็ตาม ข้อแนะนำเรื่องเงินอุดหนุนของทางรัฐบาลญี่ปุ่น ศิริรุจระบุว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์เรื่องนี้ เห็นได้จากนโยบายที่รถยนต์คันแรก ที่กลายเป็นดีมานด์เทียม ผู้ผลิตผลิตล้นตลาด เมื่อหมดโปรฯมีรถในสต๊อกเหลือเพียบ จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะอาจทำให้ผู้ประกอบการเกิดภาพลวงตา น่าจะต้องวิเคราะห์ถี่ถ้วนหากจะใช้นโยบายคล้ายกันนี้อีก แต่รัฐเองก็พยายามคิดว่าจะทำยังไงให้ผู้บริโภคหันมาซื้อรถไฟฟ้าเช่นกัน

เชื่อลูกค้าเลือกเทคฯที่ชอบ

นอกจาก รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว จำกัดความของ “รถยนต์อนาคต” ยังรวมถึงรถยนต์ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง “มาซาโตะ เอโนโมโตะ” ผู้จัดการทั่วไปแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโตโยต้า ระบุว่า การทำให้รถอีวีแพร่หลายในไทยได้ รัฐต้องช่วยให้ความรู้ว่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร ดีอย่างไร ซึ่งทางค่ายมองว่า “ลูกค้าจะเลือกเทคโนโลยีที่ตัวเองชอบ”

ด้าน “ทาคาชิ ฮิโระมัตสึ” ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกยุทธศาสตร์ ของมิตซูบิชิ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลต้องวิเคราะห์ว่ารถรุ่นไหนควรผลิตในจังหวะไหน แต่ละรุ่นต่างมีฟังก์ชั่นต่างกัน อาจจะให้มีการทดลองร่วมกันกับไทย เพื่อดูว่าลูกค้าชอบรถประเภทไหน และเทคโนโลยีแบบไหน เพื่อที่จะทำให้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ “ยูทากะ ซานาดะ” รองประธานระดับภูมิภาค และประธานนิสสันไทยแลนด์ แนะว่า รัฐบาลไทยอาจจะต้องลองริเริ่มเฟรมเวิร์กไว้ก่อน อาจจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสักจุด เพื่อพิสูจน์ว่าลูกค้าอยากได้รถอีวีหรือไม่ ถ้าลูกค้าต้องการจริง ราคาก็จะเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการผลิตและความแพร่หลายในที่สุด

แนะ “ญี่ปุ่น” แชร์ความรู้

ด้าน “อดิศักดิ์ โรหิตะศุน” ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ แนะเสริมว่า อนาคตเรื่องของคนจะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากทางญี่ปุ่นให้ความรู้ แชร์วิสัยทัศน์กับไทยว่า อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาซัพพอร์ตการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ควรมีหน้าตาแบบไหน ก็จะเป็นข้อมูลการเตรียมตัวที่ดี และคนที่จะมาทำงานส่วนนี้ในอนาคตต้องใช้ความรู้ซึ่งบูรณาการเทคโนโลยีมากมาย ทั้งไฟฟ้า ยานยนต์ ระบบอัตโนมัติ การร่วมพัฒนาบุคลากรน่าจะเป็นประโยชน์