ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ซีอีโอเบอร์หนึ่งค้าปลีกรถยนต์เมืองไทย เปิดประสบการณ์ มัดใจ “พาร์ตเนอร์-ลูกค้า-พนง.”

เวทีสัมมนาใหญ่แห่งปี “Beyond Experience พลิกประสบการณ์ พลิกเกมธุรกิจ” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันอังคารที่ 3 กันยายน 2562 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน “ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ” ซีอีโอ มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย รับเชิญขึ้นเวทีเล่าประสบการณ์และมุมคิดตลอดจนทริกต่าง ๆ 19 ปีในวงการรถยนต์ ที่เริ่มต้นจากแบรนด์ใบพัดสีฟ้าโชว์รูมเดียว ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจรถหรูในระดับอัลตราลักเซอรี่ โรลส์-รอยซ์, แอสตัน มาร์ติน, มาเซราติ, บีเอ็มดับเบิลยู, มินิ, ฮอนด้า และแบรนด์

ล่าสุดเปอโยต์ไปจนถึงเรือยอชต์หรูอะซิมุทจากอิตาลี โดยมี “ดร.วิทย์ สิทธิเวคิณ” พิธีกรชื่อดังรับหน้าที่ดำเนินรายการ

“ดร.สัณหวุฒิ” ฉายภาพกลับไปยังจุดเริ่มต้น ตอนนั้นอายุ 26 ปี เรียนหนังสือจบก็มีจังหวะได้เข้าไปช่วยธุรกิจของครอบครัว เดิมคุณพ่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้เคล็ดวิชาหลาย ๆ อย่างมาจากคุณพ่อและคุณแม่ ทั้งคติและแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งยึดถือปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งพี่สาวอีก 2 คนที่มาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ช่วยงานอยู่ได้สักพัก แต่ใจไม่ชอบธุรกิจอสังหาฯเท่าไหร่ ผมชื่นชอบรถยนต์อยากทำธุรกิจขายรถมากกว่า ตอนนั้นปี ค.ศ. 2000 ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจมีการเปลี่ยนมือกันเยอะ

กลุ่มผู้นำเข้าเดิมซึ่งเป็นเจ้าสัวในยุคเก่า ๆ ถูกลดอำนาจฝรั่งเข้ามาทำเองหมด ทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู ช่วงนั้นมีการเปลี่ยนมือกันเยอะมากในระดับผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย

ผมศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจรถยนต์มาพักใหญ่ ก็ปรึกษาคุณพ่ออยากขายรถยนต์ท่านก็ให้โอกาส ผมจึงนำแผนธุรกิจไปเสนอกับทางบีเอ็มดับเบิยู ตอนนั้นประธานคนแรกคือ คุณเยซุส คอร์โดบาเป็นชาวสเปน โชคดีแผนเราผ่านได้รับเลือกเป็นดีลเลอร์ เราเปิดบริษัทแรกและสาขาแรกชื่อ “มิลเลนเนียมออโต้” ขายทั้งรถบีเอ็มดับเบิลยู รถยนต์มินิ และตอนหลังบีเอ็มดับเบิลยู ทำตลาดจักรยานยนต์เราก็ได้สิทธิขายมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ราดเพิ่มเติมด้วย

วันนั้นต้องบอกว่าเราทำธุรกิจไปโดยที่ไม่รู้ตัว คือเรารู้อย่างเดียวว่า ทำให้สำเร็จ ช่วงก่อสร้างโชว์รูมผมต้องไปนั่งเฝ้าทุกวันลงทุกรายละเอียด ไปกับผู้บริหารของเราอีกท่านหนึ่งที่วันนี้ยังทำงานด้วยกันอยู่ “คุณสมปราชญ์ โบสุวรรณ” เป็นเพื่อนนักเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก

จำได้ว่าระหว่างนั่งทานก๋วยเตี๋ยวมองโชว์รูมไปด้วยยังพูดกับคุณสมปราชญ์ว่า ไม่ต้องเอาเยอะถ้าเราขายรถได้วันเว้นวัน เดือนหนึ่งเราได้ 15 คัน

ปีหนึ่งเราก็จะขาย 180-200 คัน แค่นี้ก็ดีใจแล้ว นึกไม่ถึงเหมือนกันครับว่าวันนี้ขายวันละ 15 คันยังไม่ดีใจเท่าตอนนั้น เพราะว่าสเกลของธุรกิจที่เราใหญ่มากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ของบีเอ็มดับเบิลยูที่มีหลากหลายจับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทั้งเครื่องยนต์ประเภทของรถที่ใช้งาน ทำให้ตอนนี้อัตราการเติบโตของประชากรรถบีเอ็มดับเบิลยูเยอะมาก เป็นโอกาสทำให้มิลเลนเนียม ออโต้ขยายไปได้เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องมี คือ ความรักและความทุ่มเท

ดร.วิทย์ : เอ็มจีซี-เอเชีย ค้ารถยนต์หลายแบรนด์ มีประสบการณ์ทำงานกับพาร์ตเนอร์อย่างไรบ้าง

ดร.สัณหวุฒิ : ใช่เราดีลกับเจ้าของแบรนด์หลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งแน่นอนย่อมแตกต่างกันไป อย่างรถยนต์ฮอนด้าต้องดีลกับญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องความแม่นยำของเอกสาร ถ้าเป็นฝรั่งส่วนใหญ่ยึดหลักกฎหมาย แต่สุดท้ายผมว่ารีเลชั่นชิปสำคัญสุด ซึ่งจะทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย การเจรจากับแต่ละเชื้อชาติจะไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเราผิดโปรโตคอล เรามีปัญหาแน่และจะดีลไม่จบทันที แต่ถ้าเราเข้าถูกทางเขารักและเอ็นดู ผมเชื่อว่าผ่านฉลุย อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ได้ดีลกับหลายเชื้อชาติ และถูกบ่มเพาะมาทั้งทีมงานเอง ทั้งครอบครัวผมเอง ทั้งคุณแม่และพี่สาวทั้ง 2 เราแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิดมาก ๆ

ดร.วิทย์ : วิธีเอาชนะและให้ได้มาซึ่งแต่ละแบรนด์

ดร.สัณหวุฒิ : อย่างแรกเลยผมว่า การสร้างเครดิตกับธุรกิจเราเอง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจจะต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับใครก็ตามที่อยู่กับเรา กับคู่ค้า อย่างสถาบันการเงินจะต้องมีความเชื่อมั่น มั่นใจไปกับเราและมองเห็นอนาคตไปกับเรา เขาถึงกล้ายื่นเงินให้กับเราเพื่อเอาไปขยายการลงทุน และเจ้าของแบรนด์เอง ก่อนที่เขาจะเอาแบรนด์มาให้เรารับผิดชอบ

อย่างแรกสิ่งที่ผมต้องทำ คือ เราต้องไปนั่งอยู่ในใจของเขา นั่งในดวงใจเขา เจ้าของแบรนด์จะมีคำถามในใจตลอดว่า ทำไมเขาจึงต้องให้ผมทำ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาต้องเชื่อใจเรา

ดร.วิทย์ : เทคนิคการเอาชนะคู่แข่ง

ดร.สัณหวุฒิ : เวลาเราดีลธุรกิจส่วนใหญ่จะไปในนามของเอ็มจีซี-เอเชีย สำหรับคู่ค้าต่างชาติจะรู้จักเรามากกว่ามิลเลนเนียม ออโต้ เขามองว่าเอ็มจีซี-เอเชียเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ได้รับความไว้วางใจ เรายังมีฟลีตรถเช่า ซึ่งปัจจุบันในพอร์ตเรามีรถเช่าอยู่ประมาณ 5,000 คัน มีทั้งระยะสั้นและยาว แบรนด์ซิกท์เราเป็นตัวแทนในภูมิภาคอาเซียน มาเลเซีย และลาว เรามีธุรกิจยูสคาร์ (รถมือสอง) สำหรับรถใหม่เรามีครบทุกเซ็กเมนต์ที่เราได้มีโอกาส และมีการขยายธุรกิจอินชัวรันซ์ ปัจจุบันเราเป็นพาร์ตเนอร์กับ “ฮาวเด้น” ใช้ชื่อ “ฮาวเด้น แม็กซี” เรายังมีธุรกิจอาฟเตอร์มาร์เก็ต เอ็มเอ็มเอส ธุรกิจไอที สารสนเทศ และธุรกิจดิจิทัล

ผมเล่าให้ฟังเป็นประสบการณ์อันหนึ่ง มีรถยนต์แบรนด์หนึ่งมาคุยกับเราในวันนั้น มีแคนดิเดตยื่นกันหลายราย ซึ่งอยู่ในวงการอุตสาหกรรมค้าปลีกรถยนต์เต็มไปหมด มีอยู่ชอตหนึ่งเรานั่งคุยกับทีมงานว่าเราต้องการได้แบรนด์นี้เพราะจะเป็นเบนช์มาร์กที่จะทำให้เราเติบโตได้อีกระดับหนึ่ง วันที่เรายื่นเอกสารผมมีจดหมายอีกหนึ่งฉบับแนบไปด้วย ผมเชื่อว่าที่ทุกคนเสนอไปไม่ต่างกัน โดยเฉพาะตัวเลขและผลประโยชน์ แต่ที่เราชนะเป็นเพราะจดหมายฉบับนั้น เนื้อหาในจดหมายเราระบุว่า ถ้าเราเลิกสัญญาเราจะยอมจ่ายค่าปรับให้เขาด้วย เรายอมจ่าย 5-10 ล้านยูโรต่างหากแถมให้อีกถ้าผมเลิกธุรกิจกับคุณ คือเป็นเครื่องยื่นยันว่าแต่งงานแล้วไม่มีทางเลิก ถ้าเลิกต้องจ่าย 10 ล้านยูโร ตอนนั้นนึกในใจไม่รู้จะจ่ายเขายังไงเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้น

ผมมารู้หลังเวลาผ่านไปปีครึ่ง ฝรั่งเขาเดินมาบอกว่า เพราะจดหมายฉบับนั้นมีการส่งต่อไปถึงนายใหญ่ที่เมืองนอก ทำให้เราถูกเลือก จริง ๆ แล้วเหมือนตายทั้งเป็นกับการยื่นจดหมายฉบับนั้น คนรอบข้างถามผมเยอะเลยโดยเฉพาะคุณพ่อ ถามว่าเรายื่นไปถ้าเราเจ๊งเราต้องทำต่อใช่ไหม? ผมเลยบอกว่า เงินลงทุนที่เราลงไปมันเยอะกว่า 10 ล้านยูโรนะ วันนั้นคิดเพียงว่าเราต้องตั้งใจทำ คำตอบของเราคือเราต้องการได้ อาจจะด้วยประสบการณ์ถ้าพวกสถาบันการเงินหรือนักลงทุนมาฟัง เขาอาจจะไม่กล้าลงทุนกับบริษัทผม รู้สึกว่าคนคนนี้เสี่ยงไป อันนี้คือประสบการณ์ที่ผมจะบอกว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญกับการดีลกับแบรนด์ต่างชาติ อย่างแรกเลยคือ “ความเชื่อใจ” มีอีกเคสหนึ่งผมต้องสั่งรถมาลอตใหญ่ลอตหนึ่งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเจ๊งแน่นอน และก็จริงด้วย เจ๊งไปหลายสิบล้าน แต่เราดีลกับลูกค้านั้นเราเป็นพ่อค้าเราบวก ลบ ไว้เรียบร้อยหมดแล้วเจ๊งเท่าไร มันเป็นธุรกิจ ทุกอย่างมันดูกันที่บรรทัดสุดท้าย ไม่ได้ดูกันที่มาที่ไป แต่งานนั้นเราได้ใจเขามาเยอะ และก็ได้รับการตอบแทนตามมาเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายจนมีมาวันนี้ อันนี้คือสิ่งที่เราเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับพาร์ตเนอร์ซึ่งมันจำเป็นต้องใช้คำว่า

“win-win strategy” บางอย่างต้องอธิบายและทำใจกับคนรอบข้างเหมือนกัน นี่คือการทำธุรกิจ

ดร.วิทย์ : แบรนด์ไหนดูแลยากสุด

ดร.สัณหวุฒิ : แต่ละแบรนด์มีความแตกต่าง มีความง่ายและความยากที่ไม่เหมือนกัน อย่างกลุ่มอัลตราลักเซอรี่ ถ้าพูดจริง ๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะสามารถซื้ออะไรก็ได้ คนซื้อรถระดับ 50-60 ล้านบาทส่วนใหญ่ซื้อเงินสดด้วย ต่างจากกลุ่มอื่นที่ต้องใช้สินเชื่อเนื่องจากลูกค้าเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปหยิบเงินหรือให้เขาควักเงิน 20-30 ล้านบาท เราต้องทำให้เขาพอใจ กลุ่มเศรษฐีพร้อมจะควักเงิน แค่ถูกใจเท่านั้น ดังนั้น เราต้องหาจุดที่เขาถูกใจคืออะไร เช่น ผ่านกิจกรรมและประสบการณ์ ทีมงานของเราต้องเรียนรู้โปรไฟล์ลูกค้า เราใช้ซอฟต์แวร์ประเมินพฤติกรรมของลูกค้า จากสถิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการขายทั้งหมด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ยกตัวอย่างลูกค้าโรลส์-รอยซ์ อีโมชั่นสำคัญสุดในการตัดสินใจ ชื่อเสียง สถานภาพ ภาพลักษณ์ สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เขาซื้อความสุขให้ตัวเขาเองสิ่งเหล่านี้มันบียอนด์กว่าเขาไปหมดแล้วเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา ส่วนกลุ่มลูกค้าบีเอ็มดับเบิลยู มินิเป็นกลุ่มที่ต้องขับเคี่ยว

กันที่เหตุและผล ด้วยผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้ เขายอมจ่ายเงินในระดับพรีเมี่ยมแล้วเขาได้อะไร นอกจากสินค้าที่มีคุณภาพมีสมรรถนะที่ดี เงินที่เขาจ่ายไปคุ้มค่าแค่ไหน บริการหรือการดูแลมาครอบคลุมแค่ไหน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนกลุ่มเจแปนิส และเปอโยต์ เช่นเดียวกัน คือการทำโปรแกรมต่าง ๆ ทำให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งแต่ละกลุ่มโปรไฟล์ลูกค้ามั่นใจว่าเขาซื้อของแล้วเขาคุ้มค่ามากที่สุด

ดร.วิทย์ : วิธีมัดใจกลุ่มลูกค้าอัลตราลักเซอรี่

ดร.สัณหวุฒิ : โปรแกรมพวกนี้จะเหมือนกับการไปสปา มีอโรมา คอร์สพิเศษ อยู่ดี ๆ ไปจ่ายค่านวดเป็นหมื่น มันต้องมีทีเด็ดลูกค้าโรลส์-รอยซ์, แอสตัน มาร์ติน, มาเซราติ ก็เหมือนกันจะมีวิธีการทรีตเมนต์แตกต่างกัน จำนวนคนน้อยกว่า ต้นทุนต่อหัวจะเยอะกว่าสำหรับการดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ สิทธิพิเศษรวมถึงโปรแกรมต่าง ๆ ที่มอบให้กับลูกค้ากลุ่มนี้จะเยอะและสูงเมื่อเทียบต่อหัว แต่จริง ๆ แล้วถ้าเปรียบเทียบทุกคนคือลูกค้าทั้งหมด โดยปรัชญาของเราลูกค้าไม่ว่าจะซื้อรถของเราตั้งแต่รถมือสองไปจนถึงโรลส์-รอยซ์ ปรัชญาและพื้นฐานเหมือนกันหมด คือ customer Centric คือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพียงแค่โปรแกรมแตกต่างกัน เช่น กลุ่มแมส ทั้งฮอนด้า และบีเอ็มดับเบิลยู เรามีแพลตฟอร์มเรื่องดิจิทัลเข้ามาดูแล เนื่องจากจำนวนค่อนข้างเยอะ เรามีเบอร์พิเศษ 1286 สำหรับลูกค้าบีเอ็มฯ มินิ มอเตอร์ราด เดือนหนึ่งมีคนโทร.เข้ามาเป็นหมื่น ๆ สาย หรือเบอร์ 1334 สำหรับลูกค้าฮอนด้า และเบอร์ 1798 สำหรับรถเช่า แต่ในกลุ่มอัลตราลักเซอรี่นั้นเขาต้องการดูแลแบบตัวต่อตัว จะเป็นอีกโปรแกรมหนึ่งไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายต้องตอบโจทย์คือ การดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุดให้ลูกค้าพึงพอใจ

ดร.วิทย์ : ในฐานะซีอีโอใช้หลักบริหารพนักงานอย่างไร

ดร.สัณหวุฒิ : เอ็มจีซี-เอเชีย มีพนักงาน 2,000 คน ผมคิดว่าทุก ๆ คนมีภาวะและมีเป้าหมายของตัวเอง ด้วยพื้นฐานทุกคนต้องการเติบโต ผมจะพูดเสมอว่า บางครั้งทำงานเก่งอย่างเดียวไม่ได้นะ เราต้องถูกใจนายด้วย เพราะนายมีหลายแบบ ผมจะแอบไปบอกลูกน้องระดับปฏิบัติการบ่อย ๆ ว่า นายมีหลายแบบ เพราะฉะนั้น เราเก่งอย่างเดียวไม่ได้ต้องถูกใจเขาด้วย ส่วนเวลาผมไปคุยกับระดับผู้บริหารจะบอกเขาว่า บางทีเราต้องปรับตัวหาลูกน้องด้วยเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือ การสร้างคน ถ้าเราสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับองค์กร ผมเชื่อว่าเขาจะเติบโตไปกับองค์กรของเรา นี่คือสิ่งสำคัญที่เอ็มจีซีฯ

ให้โอกาสกับบุคลากร เราใช้เงินกับตรงนี้ไปปีหนึ่งเยอะมากกับการพัฒนาบุคลากร กับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนของเราเพื่อให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโลกรถยนต์ นอกจากนั้น เรายังมีรีวอร์ดและอินเซ็นทีฟให้ มีโปรแกรมต่าง ๆ ทำให้บุคลากรส่วนใหญ่ชื่นชอบและพร้อมเติบโตไปด้วยกัน

ดร.วิทย์ : มองว่าตัวเองมีสไตล์ความเป็นผู้นำแบบใด

ดร.สัณหวุฒิ : บ่อยครั้งที่ผมจะถามทีมบริหารของผมว่า คุณต้องการอะไรจากผม แล้วคุณสามารถส่งมอบความสำเร็จกับงานที่เราได้คุยร่วมกันไว้อย่างไร เขาจะขอมา 1, 2, 3, 4, 5 ผมจะบอกว่า ให้สัก 3 ข้อแล้วกัน ส่วนที่เหลือคุณไปหาเอาดาบหน้า เพราะฉะนั้น พอจะบอกอะไรได้คือ การ give และการ take ในฐานะคนเป็นหัวหน้าถือเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นเราจะเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสให้กับเขาเสมอ สนับสนุนเขาอยู่เสมอ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้สำคัญและพยายามปลูกฝังกันตั้งแต่เริ่มต้นให้มีสิ่งเหล่านั้น ตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีผมเชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่มีตรงนั้น ทำให้เรามีโอกาสขยับขยายสร้างอัตราการเติบโตได้ทุกปี

ดร.วิทย์ : เอ็มจีซี-เอเชีย โดนดิสรัปต์ส่วนไหนบ้าง

ดร.สัณหวุฒิ : ผมไม่ทราบคนอื่นมีมุมมองอย่างไร แต่ส่วนตัวของผมสินค้าอื่น ๆ ลูกค้าจะช็อปผ่านออนไลน์ หาข้อมูลผ่านออนไลน์ ทำทรานแซ็กชั่นผ่านออนไลน์ แต่สำหรับรถยนต์ยังแตกต่างไป การตัดสินใจซื้อรถยนต์คันหนึ่ง ๆ โดยพฤติกรรมพื้นฐานมันต้องชัดเจน ลูกค้าส่วนใหญ่หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเยอะ แต่เราต้องไปกระตุ้นให้เขาเข้ามาเจอกับเราแล้วนำไปสู่การขาย นี่คือคอนเซ็ปต์ของเราง่าย ๆ แต่มีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โปรแกรมเอไอ เข้ามาช่วยทำให้ทีมเราทำงานง่ายขึ้น และเห็นข้อมูลที่แท้จริงชัดเจนขึ้น

ดร.วิทย์ : จัดการกับสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดอย่างไร

ดร.สัณหวุฒิ : ฟังมากกว่าพูด ถ้าอันไหนผมไม่รู้ผมจะฟังมากกว่าพูด เก็บข้อมูลแล้วถามผู้รู้มากกว่า

ดร.วิทย์ : ฝันต่อไปของเอ็มจีซี-เอเชีย

ดร.สัณหวุฒิ : เราต้องการเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้รถในอนาคต วันนี้คนมีความต้องการเป็นเจ้าของน้อยลง เขาต้องการเช่าเพื่อใช้ หรือ pay to use อย่างที่ทราบมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ในโลกมันเกิดขึ้นเยอะและข้อกฎหมายต่าง ๆ ในแต่ละประเทศมันแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เอ็มจีซี-เอเชียเราจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ พิจารณาเลือกมาใช้เพื่อตอบสนองกับลูกค้าคนไทยให้รู้สึกว่าเขาได้ประโยชน์สูงสุด

ดร.วิทย์ : อยากบอกอะไรกับผู้บริหารรุ่นใหม่

ดร.สัณหวุฒิ : อยากจะบอกว่าทำในสิ่งที่ชอบ อันนี้เป็นพื้นฐานมาก ซึ่งส่วนใหญ่คุณจะไม่ค่อยได้รับโอกาสคุณต้องเลือกอยู่กับคนที่เขาให้โอกาสคุณ คุณจะได้ทำในสิ่งที่ชอบ และเอ็มจีซี-เอเชียเราให้โอกาสกับคนที่รักรถยนต์ ชอบรถยนต์มาร่วมงาน