เปิดแผนยักษ์จีนยึดไทยฮับผลิต EV เดินเครื่องต้นปี’65 “ดีลเลอร์-ลูกค้า”เชฟโรเลตป่วน

“เกรท วอล มอเตอร์ส” รุกเปิดศักราชรถจีนในไทย หลังทุ่มซื้อ รง.จีเอ็ม ระยอง ใช้เป็นฮับอาเซียนส่ง “HAVAL-WEY-ORA-GWM” ลุยตลาด รมต.สุริยะเผยยักษ์จีนเข้าหารือเตรียมเดินเครื่องต้นปี’65 ปูทางฐานผลิต “รถอีวี” ด้านแบรนด์ “เชฟโรเลต” ป่วนหนัก ดีลเลอร์รวมพลังขอค่าชดเชยทำธุรกิจเสียหาย กรุงศรี ออโต้เบรกปล่อยสินเชื่อชั่วคราว วงในเผยจีเอ็มเตรียมระบายสต็อกทุบราคารถเอสยูวี “แคปติวา” เหลือ 4.99 แสนบาท

ช็อกวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ เมื่อ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” (จีเอ็ม) ตัดสินใจถอนการลงทุนและการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทยทั้งหมด พร้อมประกาศบรรลุข้อตกลงขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ประเทศไทย ในจังหวัดระยองให้กับ “เกรท วอล มอเตอร์ส” (GWM)ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากจีน โดยกำหนดส่งมอบทุกอย่างภายในปี 2563

ดีลเลอร์จวกยับ “ไม่ส่งสัญญาณ”

แหล่งข่าวดีลเลอร์เชฟโรเลตรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพิ่งทราบการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จากสื่อ ซึ่งในฐานะคนทำธุรกิจมองว่าเป็นวิธีการที่แย่มาก เพราะบริษัทจะเปลี่ยนแปลงอะไรควรส่งสัญญาณกันบ้างในฐานะคู่ค้า

เช่นเดียวกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคกลางกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนจากบริษัทแม่ว่าจะมีมาตรการความช่วยเหลือดีลเลอร์อย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนอีก 2-3 วันจากนี้ และการตัดสินใจครั้งนี้ของจีเอ็มถือว่าเกินความคาดหมายมาก

อย่างไรก็ตาม มีการหารือกันภายในกลุ่มดีลเลอร์ถึงมาตรการเยียวยา จะต้องหารือลงลึกแบบวันต่อวัน เนื่องจากตอนนี้แบรนด์เชฟโรเลตได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะราคาขาย ล่าสุดได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่าจะมีการปรับลดราคาลงกว่า 50% โดยรถเชฟโรเลต แคปติวา ราคาเริ่มต้นที่ 499,000 บาท ซึ่งในมุมดีลเลอร์มองว่า ก็จะเป็นผลดีทำให้จะได้ระบายสต๊อกง่ายขึ้น ที่สำคัญบริษัทควรจะรับประกัน 1 แสนกิโลเมตร 5 ปี เหมือนเดิม

“ผมมีโชว์รูม 2-3 แห่ง มีสต๊อกในมือ 60-80 คัน ถ้าบริษัทแม่ลดราคาประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค ที่ผ่านมาเชฟโรเลตมีความสัมพันธ์ที่ดีกับดีลเลอร์ ผลตอบแทนดีกว่าบางค่ายแต่วันนี้เราได้แต่รอความชัดเจน ซึ่งทางบริษัทแจ้งว่าจะมีการเรียกเจรจาทีละราย เพื่อจะพิจารณาว่าใครจะได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนเพื่อดูแลบริการหลังการขาย”

สำหรับการเข้ามาของเกรท วอล มอเตอร์ส มองว่าเป็นเรื่องดี เป็นโอกาสและหากจะมีการคัดเลือกดีลเลอร์ โชว์รูมเชฟโรเลตเพื่อเข้าร่วมดำเนินธุรกิจก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ป่วนลูกค้าขอคืนใบจอง

ขณะที่ดีลเลอร์เชฟโรเลตในพื้นที่เขตภาคเหนือระบุว่า หลังมีข่าวออกมา ลูกค้าที่จองรถไว้โทร.เข้ามาสอบถามถึงรายละเอียดและขอคืนใบจองเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทได้ชี้แจงและขอให้ลูกค้ารอดูความชัดเจนจากบริษัทแม่ก่อน เพราะเชื่อว่าน่าจะมีการจัดเงื่อนไขที่ดีให้กับลูกค้าแน่นอน ซึ่งลูกค้าส่วนหนึ่งเข้าใจ แต่หากบริษัทแม่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา เชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

“เรายังงงกับเรื่องที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะได้ยินข่าวนี้มาบ้างแต่ไม่ได้มีการคอนเฟิร์มจากบริษัทแม่ ทุกคนตกใจและสถานการณ์วันนี้ คือ ต้องพยายามตอบคำถามของลูกค้าให้ชัดเจนที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากบริษัทแม่ ว่าจะชดเชยให้ผู้ประกอบการอย่างไร ซึ่งถ้าไม่เป็นที่พอใจก็อาจจะต้องฟ้องร้อง พึ่งบารมีศาลต่อไป”

PNA เปลี่ยนป้าย “มิตซู-นิสสัน”

ด้านนายธวัชชัย จึงสงวนพรสุข กรรมการบริหาร กลุ่มพระนครยนตรการ (พีเอ็นเอกรุ๊ป) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท พระนคร เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นไปตามไซเคิลของธุรกิจมีขึ้นมีลง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น 50 กว่าปีในธุรกิจยานยนต์ พีเอ็นเอเผชิญมาทุกปัญหา ทางกลุ่มมีแบรนด์รถยนต์ในมือมากกว่า 10 ยี่ห้อ ดังนั้น หากเชฟโรเลตยุติการทำธุรกิจในไทย บริษัทก็พร้อมจะเปลี่ยนโชว์รูมไปสู่ยี่ห้ออื่น ซึ่งตอนนี้มีเจรจากันไปบ้างแล้ว ทั้งมิตซูบิชิ นิสสัน และอื่น ๆ ส่วนการดูแลลูกค้าเชฟโรเลตยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ปัจจุบันบริษัทมีโชว์รูมรถยนต์เชฟโรเลต 7 แห่ง

กรุงศรีฯหยุดปล่อยสินเชื่อ

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรณีที่จีเอ็มประกาศยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 ขณะนี้ กรุงศรี ออโต้ ได้หยุดให้บริการสินเชื่อรถยนต์เชฟโรเลตเป็นการชั่วคราว โดยจะมีการพิจารณานโยบายให้บริการสินเชื่ออีกครั้ง เมื่อมีความชัดเจนด้านการขายและการตลาดจากจีเอ็ม ประเทศไทยต่อไป

ขณะที่นายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับข่าวเรื่องที่เชพโรเลตจะเลิกทำตลาดในประเทศไทย ก็ได้ขอนัดประชุมกับทางเชฟโรเลต เมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันว่าบริษัทมีนโยบายดูแลบริการหลังการขายให้กับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไปแล้วกว่า 5-7 แสนคัน โดยจะมีการให้อินเซ็นทีฟและแคมเปญการตลาดต่าง ๆ ให้กับศูนย์บริการลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่าเชฟโรเลตยังคงดูแลลูกค้าไปอีกสักระยะดังนั้น ธนาคารธนชาตยืนยันว่าจะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ซื้อรถยนต์เชฟโรเลตเหมือนเดิม โดยจะพิจารณาวงเงินตามการประเมินจากราคารถยนต์เป็นหลัก ปัจจุบันธนชาตมีพอร์ตเชฟโรเลตพอสมควรตามส่วนแบ่งตลาด

“จีเอ็ม” ลั่นพร้อมดูแล

ขณะที่นายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจยุติการผลิตในประเทศไทยเป็นนโยบายของบริษัทแม่ ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ถึงแผนธุรกิจโครงการรถยนต์ใหม่ในอนาคตและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตทั่วโลกของจีเอ็ม โดยบริษัทจะดูแลช่วยเหลือและมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด

สำหรับดีลเลอร์เชฟโรเลตจะได้รับการเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างเหมาะสม หลังจากที่ร่วมเป็นคู่ค้ากันมายาวนาน

ยอดขายในไทยร่วงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลดำเนินการของจีเอ็มในตลาดประเทศไทย เริ่มสายการผลิตเมื่อปี 2543 ผลิตรถกระบะและรถอเนกประสงค์มาแล้วกว่า 1.4 ล้านคัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคเพื่อการส่งออก สำหรับรถกระบะขนาดกลาง รถอเนกประสงค์ และเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปี มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง

ปี 2558 บริษัทประกาศยุติสายการผลิตรถยนต์นั่งเชฟโรเลต พร้อมรีดไขมันเพื่อกระชับองค์กรด้วยการลดพนักงานลง 30% รวมถึงทำแผนงานควบรวมจีเอ็ม ประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และโฟกัสธุรกิจไปที่กลุ่มรถปิกอัพและรถเอสยูวีเท่านั้น

ส่วยยอดขายเชฟโรเลต ย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ ปี 2553 มียอดขาย 20,026 คัน, ปี 2554 มียอดขาย 31,595 คัน, ปี 2555 มียอดขาย 75,461 คัน, ปี 2556 มียอดขาย 56,389 คัน, ปี 2557 มียอดขาย 25,791 คัน, ปี 2558 มียอดขาย 17,456 คัน, ปี 2559 มียอดขาย 14,931 คัน, ปี 2560 มียอดขาย 18,771 คัน, ปี 2561 มียอดขาย 20,313 คัน และปี 2562 มียอดขาย 15,161คัน ทั้งนี้ จากที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 5.25% ในปี 2555 เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 1.50% ขณะที่ยอดขายในเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 643 คัน มีส่วนแบ่ง 1.3%

เปิดศักราชรถจีนในไทย

ขณะที่รายงานข่าวจากเกรท วอล มอเตอร์ส (GWM) เปิดเผยว่า การรุกตลาดประเทศไทยครั้งนี้เป็นไปตามแผนขยายตลาดของบริษัท ออกนอกประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการเจาะตลาดรัสเซีย รวมถึงซื้อโรงงานที่อินเดีย จนลุล่วงไปแล้ว ทั้งนี้ GWM ถือว่าเป็นผู้ผลิตรถอเนกประสงค์และรถกระบะที่มีชื่อเสียงระดับโลก จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ มีบริษัทในเครือมากกว่า 70 บริษัท และพนักงานกว่า 60,000 คน ในปีที่ผ่านมามียอดขายรถยนต์ราว 1.06 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อส่งออกราว 65,175 คัน

ตลาดนอกประเทศจีนดำเนินการครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เช่น รัสเซีย แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทย GWM มองเห็นความพร้อมและเชื่อมั่นว่าแบรนด์รถยนต์จากจีนจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวไทย โดยมีตัวอย่างให้เห็นจากกลุ่มเอสเอไอซี มอเตอร์ ที่จับมือกลุ่ม ซี.พี. ภายใต้แบรนด์ “เอ็มจี” (MG) และเกรท วอลฯ พร้อมนำแบรนด์ที่มีอยู่ในเครือทั้ง “Haval-WEY-ORA และ GWM Pickup” เข้ามาบุกตลาด

นายหลิว เซียงชาง รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลก เกรท วอล มอเตอร์ส กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โลกของ GWM เริ่มเป็นรูปธรรมหลังจากพัฒนามากว่า 10 ปี โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แผนงานก้าวหน้าไปเร็วมาก เมื่อปี 2562 โรงงานของเกรท วอล มอเตอร์ส ในประเทศรัสเซีย เริ่มเดินสายการผลิต และต้นปี 2563 บริษัทก็บรรลุข้อตกลงกับ “จีเอ็ม” ในการซื้อโรงงานทาเลกอน ในอินเดีย

การเข้าซื้อศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ที่จังหวัดระยอง จะช่วยพัฒนาธุรกิจของเกรท วอล มอเตอร์ส ในตลาดประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย

“เรามองตลาดรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา มีศักยภาพสูง การเข้าสู่ตลาดประเทศไทยเป็นก้าวแรกของGWMในการเข้าสู่ตลาดอาเซียน และเป็นก้าวสำคัญในกลยุทธ์ระดับโลก และการลงทุนของ GWM จะสร้างงานในท้องถิ่น อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาระบบซัพพลายเชน การวิจัยพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมรายได้ให้กับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ในจังหวัดระยองและในประเทศไทย” นายหลิว เซียงชางกล่าว

GWM ดันยอดผลิตเพิ่มเท่าตัว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรณี GWM เข้าซื้อโรงงานจีเอ็มถือเป็นกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อวางแผนการผลิตและการจำหน่ายยานยนต์ในสาขาทั่วโลก เช่น ยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศไทย GWM ได้เข้ามาหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดย GWM เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) และรถปิกอัพรายใหญ่ที่สุดของจีน มียอดขายในจีนเฉลี่ย 1 ล้านคันต่อปี

สำหรับการลงทุนในประเทศไทย GWM วางแผนการผลิตรถยนต์ SUV และรถปิกอัพ รวมถึงรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 100,000 คันต่อปี จากปัจจุบัน GM ผลิตประมาณ 50,000 คันต่อปี โดยตามแผน 50% จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในไตรมาส 1 ปี 2565 จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและซัพพลายเชน และการจ้างแรงงาน

ปูทางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ GWM ยังมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และเยอรมนี ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน และเทคโนโลยี fuel cell ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนต่อนโยบายสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยให้มีการสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์สะอาด ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ควรเร่งปรับตัวเพื่อรักษาการเป็นฐานผลิตยานยนต์ในอาเซียน และโลก

ไทยซัมมิทอ้าแขนรับเกรท วอลฯ

ด้านนางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นไปตามนโยบายบริษัทแม่จีเอ็ม พื้นที่ที่ไม่ทำกำไรก็ต้องยกเลิกถือเป็นแนวทางปกติ เนื่องจากในเมืองไทย เชฟโรเลตยอดขายน้อย ขณะยอดส่งออกยังต้องเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกรท วอล มอเตอร์ส เข้ามาดำเนินธุรกิจและลงทุนในประเทศไทย ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และน่าจะทำให้มียอดผลิตมากกว่าที่จีเอ็มผลิตแน่นอน และอาจจะเป็นการเพิ่มยอดผลิตรถยนต์ในไทยให้มากกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำหรือไม่

“ซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับเชฟโรเลต รวมถึงไทยซัมมิท ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องการจัดการออกมาอย่างเป็นทางการ คาดว่าน่าจะมีหลังจากนี้้”

ขณะที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรายอื่น ๆ ยอมรับว่าตกใจเพราะไม่เคยมีสัญญาณใด ๆ ส่งมาให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวล่วงหน้า ตอนนี้ปัจจัยลบเยอะมาก ทั้งค่าเงินบาท และคำสั่งซื้อที่ลดลง ทำให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ซีอีโอจีเอ็มระบุต้องการกำไร

ด้านนางแมรี ที. บาร์รา ประธานและซีอีโอของจีเอ็ม ระบุในแถลงการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า จีเอ็มพุ่งเป้าไปที่ตลาดที่สามารถให้ผลตอบแทนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเป็นการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของยานยนต์ในอนาคต โดยเฉพาะยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ