“โตโยต้า” ลั่นอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยฟื้นเร็ว ยันกอดแชร์ 33%

ถือเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทาย และความยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความแข็งแกร่ง สำหรับผู้ประกอบการชาวไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านมาครึ่งทาง แม้ผลงานจะดูย่ำแย่ด้วยตัวเลขที่หดตัวไปเกือบครึ่ง

แต่ในมุมมองของบิ๊กเพลเยอร์ “มิจิโนบุ ซึงาตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มองว่า ประเทศไทยยังโชคดีที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีความแข็งแกร่ง มั่นใจว่า น่าจะฟื้นได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ และไม่ใช่แค่ภูมิภาค แต่เป็นในทวีปเอเชียด้วยซ้ำไป

โควิด-19 ทุบตลาดแรง

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและระดับโลก ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศและส่งออกหดตัวในช่วง 2 ไตรมาส ตัวเลขยอดขายตลาดรวมไตรมาสแรกอยู่ที่ประมาณ 200,000 คัน ลดลง 24.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และโตโยต้ามียอดขายอยู่ที่ 56,200 คันลดลง 35% จากยอดขายในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนในช่วงไตรมาส 2 ขายได้ 128,500 คัน หดตัวลง 51% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยโตโยต้ามียอดขายอยู่ที่ 38,100 คัน หดตัวลงมากกว่า 55% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เป็นผลตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมาที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการของตลาดลดลงอย่างฉับพลัน

ส่วนตลาดส่งออกก็หดตัวลงไม่แพ้กันเพราะสถานการณ์โควิดทั่วโลกรุนแรงกว่าบ้านเราโดยครึ่งปีแรกประเทศไทยส่งออกได้เพียง 970,000 คัน ลดลงมากถึง 30%

ลั่นกอดแชร์ 33%

เดิมเราเชื่อว่าปีนี้ตลาดรวมจะมียอดขายอยู่ที่ 940,000 คัน ส่วนยอดขายโตโยต้าประเมินทั้งปีไว้ 310,000 คัน ถึงวันนี้เห็นชัดแล้วไปไม่ถึงแน่ เต็มที่คงจะทำได้แค่ 660,000 แสนคัน ซึ่งทำให้โตโยต้าได้ตัดสินใจปรับเป้ายอดขายปีนี้ลงเหลือ 220,000 คัน มีส่วนแบ่งทางการตลาด 33.3%

รถยนต์นั่งร่วงหนักสุด

สำหรับยอดขายรถยนต์ 6 เดือนแรก ทุกยี่ห้อทำได้ 328,604 คัน ขายลดลง 37.3% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 119,716 คัน ลดลง 42.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 208,888 คัน ลดลง 34.2%

ส่วนของโตโยต้าเองขายได้ทั้งสิ้น 94,222 คัน ลดลง 45.1%มีส่วนแบ่งตลาด 28.7% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 29,926 คัน ลดลง 50.4% ส่วนแบ่งตลาด 25.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 64,296 คัน ลดลง 42.2% มีส่วนแบ่งตลาด 30.8%

ยันไทยผู้นำการฟื้นตัว

สิ่งที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญนั้นยังถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน และการฟื้นตัวของประเทศไทยดูจะรวดเร็วกว่า แม้อาจจะยังไม่ควรที่จะประเมินสถานการณ์ให้สูงจนเกินไป แต่โตโยต้าเห็นว่าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไทยน่าจะไปในทิศทางที่ดี และสถานการณ์จะไม่แย่เท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ ครึ่งปีแรก โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวนทั้งสิ้น 97,000 คัน ลดลง 30% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากในภูมิภาคโอเชียเนียและบางประเทศในทวีปเอเชีย

ส่วนถ้ารวมครึ่งปีหลัง โตโยต้าน่าจะส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ถึง 194,000 คัน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งโตโยต้าส่งออกได้ถึง 264,775 คัน และคิดเป็นจำนวนการผลิตทั้งตลาดในประเทศและส่งออก 408,000 คัน ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งผลิตได้ 570,850 คัน

สุดท้าย “ซึงาตะ” ขอบคุณทุกภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะลูกค้าที่ไว้วางใจโตโยต้ามาตลอด แม้ในช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้

และโตโยต้ายังคงยืนหยัดที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการผลิตและส่งออกรถยนต์ในระดับภูมิภาค ตลอดจนเดินหน้าสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทย