บทบาท “ผู้นำ”

เศรษฐา ทวีสิน
Srettha Thavisin (Photo by TINGSHU WANG / POOL / AFP)
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ตั้งแต่สมัยที่ยังนั่งบริหารบริษัทเอกชน นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เคยให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทผู้นำประเทศในมุมมองของเขาว่า “ผู้นำสูงสุดจะต้องออกไปเจรจาค้าขายกับต่างชาติเอง และมีหน้าที่ต้องไปโฆษณาด้วยว่าประเทศเรามีดีตรงไหน”

ทำให้ตั้งแต่เดือนแรกที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย นายกฯเศรษฐา ก็มีคิวเดินทางไปต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์ ทั้งการเยือนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และการเข้าร่วมการประชุมในเวทีสำคัญระดับโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Summit 2023) ที่สหรัฐอเมริกา, การเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบ และเส้นทาง ครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

เดือน พ.ย.นี้ก็จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาอีกรอบ เพื่อประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ซานฟรานซิสโก

บทบาทดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากภาคธุรกิจอย่างมาก

“นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายกฯเป็นเซลส์แมนที่มีความมุ่งมั่น และได้พาภาคเอกชนไปพบซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ และทำบิสซิเนสแมตชิ่ง จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้า ซึ่งภาคเอกชนสนับสนุนให้มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันการส่งออกให้เติบโต และดึงการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ให้ต่างชาติมาลงทุนสร้างฐานการผลิตในไทย

Advertisment

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสต์ เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการ และประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม WHA มูลค่ากว่า 8 พันล้าน เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) บอกว่า การเดินทางไปประชุม Belt and Road 1 แถบ 1 เส้นทาง ที่ปักกิ่ง ของนายกฯเศรษฐา เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ว่าจะมีการสนับสนุนกันทั้งสองฝ่าย เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฉางอานตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ไทยเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์กับจีนมาเป็นเวลานับ 10 ปีต่อเนื่อง นอกจากเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีกำลังการผลิตอยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 10 ของโลก มีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน tier 1 กว่า 700 บริษัท มีความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับประเทศจีนที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลก”

แม่ทัพหญิง WHA “จรีพร จารุกรสกุล” กล่าวว่า ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

บนเวทีสัมมนา Thailand CEO ECONMASS Awards 2023 โดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นายกฯเศรษฐากล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ทำให้เมืองไทยน่ามาลงทุน เป็นฮับการสร้างโรงงาน ไม่ใช่แค่ทางผ่านการส่งออกสินค้า

Advertisment

“เรามีโรงงานผลิตอีวีจีนมากที่สุดในภูมิภาค แสดงถึงศักยภาพ ที่มีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี ทักษะ การบริหารจัดการ ทรัพยากรต่าง ๆ อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า น้ำ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของนักลงทุน แต่ต้องการโฆษณามากขึ้น ต้องมีทีมไทยแลนด์ออกไปดึงการลงทุน”

และกล่าวด้วยว่า “รัฐบาลไม่อายที่จะพานักธุรกิจไปเชิญนักลงทุนเข้ามา และจะเร่งเจรจา FTA ให้สัมฤทธิผล ในเดือน พ.ย.นี้ จะไปประชุมเอเปก และเชิญนักธุรกิจไทยไปด้วย ให้บีโอไอเชิญนักธุรกิจข้ามชาติมาทำ business matching เพื่อบอกว่าประเทศไทยเปิดแล้ว สำหรับรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง และระยะยาว” นายกฯเศรษฐาย้ำ