รัฐบาลเศรษฐา ปักธงแลนด์บริดจ์ โรดโชว์ทั่วโลก ร่วมลงทุน 1 ล้านล้าน

แลนด์บริดจ์

ความเร่งด่วนในการพัฒนาโครงการลงทุนยักษ์ ต่อยอดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เห็นโอกาสเป็นโครงการแรก คือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์

โดยหวังว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงถูกบรรจุในแฟ้มการเจรจาของนายกฯเศรษฐา ทั้งในเวทีพบนักลงทุน-ผู้นำระดับโลก ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เริ่มจากการเปิดภาพโรดโชว์กับนักลงทุนจีน ในเวทีประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง รวมถึงเวที Thailand-China Investment Forum

ในหลายเวที นายกรัฐมนตรีได้โชว์ภาพกราฟิกของโครงการ รวมทั้งวาดรูปภูมิทัศน์การพัฒนาบนกระดาษเพื่อสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจ โชว์เส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า การพัฒนาอุตสาหกรรม เฉพาะอย่างยิ่งกับจีน นายกรัฐมนตรีชี้ให้ผู้ประกอบการรถไฟจีน เห็นภาพของโครงการสองท่าเรือแต่นับรวมเป็นหนึ่ง และโอกาสการขนส่งสินค้าออกไปทั่วโลก

โน้มน้าวจีน-ซาอุดีอาระเบีย-ไทย

ผู้บริหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่เห็นภาพที่นายกรัฐมนตรีโชว์ให้เห็น อาทิ บริษัท CRRC Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งบริษัท CHEC เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน และ EVE Energy เป็นบริษัทผู้พัฒนา ผลิต และจำหน่ายแบตเตอรี่ ลำดับที่ 3 ของจีน

ต่อมานายกรัฐมนตรีเดินทางไปซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ กับภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบีย เช่น นายยาเซอร์ บิน อุสมาน อัล-รูมัยยาน ประธานกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund : PIF) ซึ่งตอบรับและสนใจโครงการนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีนำเสนอ

ขณะที่เวทีสัมมนาใหญ่ในประเทศ นายกรัฐมนตรี เปิดการแสดงวิสัยทัศน์ว่า “ถ้าหากเรามีแลนด์บริดจ์จะลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไป 6-9 วัน โดยไม่ใช่การเป็นคู่แข่งกับมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ในอนาคตการขนส่งที่จะผ่านช่องแคบมะละกาจะมีความแออัดมากขึ้น เราก็จะเป็นทางออกในการขนส่งสินค้า รัฐบาลนี้จึงจะลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

เปิดพิมพ์เขียวอภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน

หลักการและเหตุผลที่กระทรวงคมนาคม ขออนุมติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยสนับสนุนระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค

เปิดไทม์ไลน์การลงทุน 2566-2573

– พฤศจิกายน 2566-มกราคม 2567 รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม road show นักลงทุนต่างประเทศ
– มกราคม-ธันวาคม 2567 จัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) หรือ พ.ร.บ.แลนด์บริดจ์
– ธันวาคม 2567 จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
– เมษายน-มิถุนายน 2568 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน วันที่ดำเนินการ มกราคม 2568-ธันวาคม 2567 ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
– กรกฎาคม-สิงหาคม 2568 เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติลงนามในสัญญา
– กันยายน 2568-กันยายน 2573 ดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์
– ตุลาคม 2573 เปิดให้บริการ

นายกรัฐมนตรีวาดวิชั่นโชว์นักลงทุน

ภาพโครงการแลนด์บริดจ์ ที่นายกรัฐมนตรีวาดโชว์นักลงทุน มาจากแผนลงทุนที่ระบุว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทร 2 ด้าน คือ ฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกติดกับมหาสุมทรแปซิฟิก ฝั่งอันดามันด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยจึงมีความได้เปรียบทางที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะทางกายภาพ สามารถเปิดสู่สะเลทั้งสองด้าน

มีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก

ภายในโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์และโรงแรม รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง และร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ

เป้าหมาย แลนด์บริดจ์ บรรจุวิสัยทัศน์การพัฒนาไว้ว่า “เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำในระดับภูมิภาคและระดับโลก”

“พัฒนาสะพานเศรษฐกิจรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งและการเชื่อมโยงด้วยระบบขนส่งสินค้าด้วยระบบรางและมอเตอร์เวย์ และสร้างพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและของภูมิภาค”

กลุ่มประเทศลูกค้าเป้าหมาย

กลุ่มประเทศที่มีโอกาสขนส่งสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ อาทิ กลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย เช่น ออสเตรเลีย ฟิจิ นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน รวมทั้งกลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศแอฟริกา

ดันจ้างงาน 280,000 ตำแหน่ง

การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็น จังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 350,000 ตำแหน่ง และรวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ที่ 4.0% ต่อปี เพิ่มเป็น 5.5% ต่อปี

ยอดลงทุน 4 เฟส 1 ล้านล้าน

โครงการแลนด์บริดจ์ ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร

เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

สำหรับโครงการลงทุน 4 เฟส ประกอบด้วย เฟสแรกวงเงินลงทุนสูงสุด ประมาณการ 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 118,519.50 ล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 141,716.02 ล้านบาท, เส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,212.00 ล้านบาท

เฟส 2 ประมาณการลงทุนโครงการ 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 45,644.75 ล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 73,164.78 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 21,910.00 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 23,952.30 ล้านบาท

เฟส 3 ประมาณการลงทุน 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 115,929.76 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจำนวน 39,361.04 ล้านบาท

เฟส 4 ประมาณการลงทุนโครงการ 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท