
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
ขณะที่การตอบโต้และถกเถียงว่าเศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ ยังเป็นประเด็นร้อน
โดยเฉพาะเมื่อล่าสุดโฆษกรัฐบาลชิงปล่อยข้อมูล (ลับ) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 ของสำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาก่อน
ซึ่งวันต่อมา สศค.ก็ออกมายืนยันข้อมูลว่า ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 เติบโตแค่ 1.8% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% เรียกว่าต่ำกว่าทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ
แปลกตรงที่ดูเหมือนรัฐบาลอยากจะนำเสนอ ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2566 ย่ำแย่กว่าที่คิด ตอกย้ำถึงความวิกฤตโดยไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบจากบรรยากาศการลงทุน เรียกว่าต่างกับรัฐบาลทั่วไปที่จะต้องการโชว์ผลงานการเติบโตตัวเลขเศรษฐกิจ
ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาอีกมาก และทุกสำนักตอกย้ำตรงกันว่า “เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่ทั่วถึง” เป็นลักษณะ K-shaped คือมีทั้งคนที่รอดและไม่รอด
ข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส (ธนาคารกรุงไทย) ระบุว่า มีเพียง 56% ของจำนวนธุรกิจขนาดใหญ่ และ 44% ของธุรกิจ SMEs ที่รายได้ในปี 2565 สูงกว่าช่วงก่อนโควิด
และอีกราว 50% ทั้งเล็กและใหญ่ยังเผชิญความเสี่ยง ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง บางส่วนรายได้น้อยกว่าปกติ ประสบความยากลำบากในการจัดการต้นทุนทางการเงิน
ขณะที่ปี 2567 ปัจจัยความ “ไม่แน่นอน” สูงขึ้น ทั้งปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก ทั้งท่องเที่ยวและส่งออกสะดุดลงได้
โดยเฉพาะภาคส่งออกที่ปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้เข้าสู่ภาวะชะลอตัว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงเช่นกันที่ฉุดรั้งกำลังซื้อ
นี่คือความกังวลของภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าปี 2567 คงไม่ใช่ปีที่สดใส
เรื่องนี้ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และฟื้นตัวไม่ทั่วถึง
โจทย์สำคัญในการปลดล็อกเศรษฐกิจไทย คือการผัน “เศรษฐกิจนอกระบบ” ให้เข้ามาอยู่ในระบบ
ทั้งนี้ “เศรษฐกิจนอกระบบ” ตามความหมายของ OECD คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีการบันทึกไว้ในระบบบัญชีประชาชาติ และไม่อยู่ในระบบภาษี และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
“ผยง” อธิบายว่าประเทศไทยมี “เศรษฐกิจนอกระบบ” ขนาดใหญ่เกินไป ซึ่งเป็นต้นตอของหลายปัญหา นำไปสู่การก่อ “หนี้นอกระบบ” และ “ความเหลื่อมล้ำ” มากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ
จากข้อมูล “เศรษฐกิจนอกระบบ” ของไทยมีขนาดใหญ่ถึง 47.6% ต่อจีดีพี เทียบกับมาเลเซีย 29.3% อินโดนีเซีย 17.9% เวียดนาม 14% และฟิลิปปินส์ 38.1%
นอกจากนี้ ไทยมีแรงงานนอกระบบมากถึง 51% ของแรงงานทั้งหมด
เมื่อธุรกิจอยู่นอกระบบก็ทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก เช่นกรณีโรงแรมขนาดเล็กที่เผชิญปัญหาช่วงโควิด แต่เมื่อไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็ทำให้เข้าถึงเงินกู้แบงก์ได้ยาก
หากรัฐบาลผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบได้ ก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และทำให้ประเทศมีฐานข้อมูลถูกต้อง ทำให้ภาครัฐสามารถดำเนินมาตรการดูแล ช่วยเหลือได้ตรงจุด
ดังนั้น ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำนโยบายให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยรัฐอาจใช้มาตรการสวัสดิการมาเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือบางธุรกิจอาจมีการบังคับใช้กฎหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบมากขึ้น
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่คือโจทย์สำคัญเพื่อปลดล็อกเศรษฐกิจไทย