เด็กคือ Role Model ของเลโก้

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : พิชญ์พจี สายเชื้อ

เด็กทุกคนต้องรู้จัก หรือเคยเล่นเลโก้ ตัวต่อของเล่นจากเดนมาร์ก ซึ่งก่อตั้งโดยช่างไม้ชาวเดนมาร์กชื่อ “โอเล่ เคิร์ก คริสเทนเซ่น” ซึ่งคุณคริสเทนเซ่น เป็นเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์มาก่อน และได้เริ่มทำตัวต่อทำด้วยไม้ในปี 1932 (เกือบ 100 ปีที่แล้ว) ชื่อ LEGO ในภาษาเดนิชแปลว่า “play well” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งภายหลังเขาจึงทราบว่าคำว่า LEGO ในภาษาละตินก็มีความหมายว่า “I assemble” อีกด้วย เรียกได้ว่าเหมาะเจาะพอดีกับคุณลักษณะของเลโก้เลย

กิจการเลโก้ดำเนินมาได้ดีเรื่อย ๆ จนมาถึงช่วงยุค 1990-2000 ที่ธุรกิจเริ่มตกต่ำ เนื่องจากการขยายงานมากไป การตัดสินใจผิดพลาด และการทำงานที่ไม่มี collaboration ในปี 2003 เลโก้ประกาศการขาดทุน 300 ล้านบาท และมีวี่แววว่าจะขาดทุนต่อเนื่อง จนทางครอบครัวคริสเทนเซ่นต้องตัดสินใจจ้างคนนอกครอบครัวมาเป็น CEO คนแรกในประวัติศาสตร์ของเลโก้เลยทีเดียว

จากนั้นทาง CEO ได้ทำการ transform เลโก้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างที่เดิม เป็น silo ก็ทำให้มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาสินค้า และการผลิตตลอดจนการปรับปรุงกกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

หลังจากการปรับเปลี่ยนหลายอย่างที่ว่าก็ทำให้เลโก้ พลิกฟื้นมาได้ จนปัจจุบันเป็นบริษัทผลิตของเล่นเด็กอันดับสามของโลก ด้วยการเติบโตของกำไร 11% ในปี 2022 อีกด้วย

ทั้งหลายที่กล่าวมามีเบื้องหลังความสำเร็จที่น่าสนใจสำหรับดิฉันคือการที่เลโก้ให้กำหนด value ของพนักงาน (ถึงกับใส่ไว้ใน job description) ว่า…เด็กคือต้นแบบ (role model) ของเรา ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity), ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และจินตนาการ (imagination) ของเด็กจะเป็นแรงบันดาลใจในทุกสิ่งที่เราทำ

ถ้าอ่านดูดี ๆ ความหมายคือเลโก้ให้ความสำคัญกับการคิดแบบเด็ก เพราะเด็กคือลูกค้าของเลโก้ แสดงให้เห็นว่าเลโก้ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง (customer centricity) และที่สำคัญคือ การที่พนักงานต้องคิดอย่างเด็กคือพนักงานต้องมีความอยากรู้อยากเห็น (ผู้ใหญ่เมื่อโตขึ้นความอยากรู้อยากเห็นมักหายไป เพราะมีประสบการณ์มากขึ้น)

ADVERTISMENT

การมีความอยากรู้อยากเห็นจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ (และจะทำให้เลโก้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้) และสุดท้ายคือการมีอิเมจิเนชั่น หรือจินตนาการหรือความฝัน (ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยมีอิเมจิเนชั่นเพราะกลัวทำไม่ได้จริง ความกลัวจะมาบล็อกจินตนาการ)

สรุปง่าย ๆ คือเลโก้ต้องการพนักงานที่มีจินตนาการ (ไร้ขอบเขต) ในการสร้างตัวต่อเลโก้ที่ทำได้ทุกรูปแบบ (พนักงานต้องมี Anything is possible mind-set ด้วย) เพราะเลโก้ต้องทำได้ทุกรูปแบบตามจินตนาการของเด็ก ๆ พนักงานเลโก้ต้องมีแรงบันดาลใจจากความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการแบบเด็ก ๆ เพื่อสร้างสินค้าที่สุดยอดสำหรับเด็กเท่านั้น

ADVERTISMENT

และนี่คือความหมายที่ว่าเด็กคือต้นแบบ (ของคนทำสินค้าสำหรับเด็ก) ของเลโก้นั่นเอง

นอกจากนี้ ทาง CHRO ของเลโก้ยังบอกว่าเลโก้มองเด็ก เป็น role model จริง ๆ (ไม่ใช่แค่พูดเอาหน้า ฮา) เลโก้ต้องการพัฒนาเด็ก เพราะเด็กคือผู้ใหญ่ในอนาคต เลโก้ถึงกับจัดตั้งมูลนิธิเลโก้ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ได้เน้นการสร้างกำไร แต่มีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างการเรียนรู้ของเด็กผ่านจินตนาการในการเล่น แหมฟังแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กจังค่ะ