ESG Premium : เครื่องวัดมูลค่าความยั่งยืนของกิจการ

คอลัมน์ : SD Talk
ผู้เขียน : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ปัจจุบันการประเมินข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance) หรือ ESG Rating ของกิจการกลายเป็นชุดข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ลงทุน นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ในการใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

ด้วยเหตุที่การประเมิน ESG แทบทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณภาพ (Qualitative) เพื่อให้คะแนน (Scoring) และจัดระดับ (Rating) ตามระเบียบวิธีที่กำหนดขึ้น ซึ่งมีการให้น้ำหนักคะแนนที่มีความเอนเอียงตามการออกแบบระบบประเมิน หรือต้องอาศัยดุลพินิจของผู้ที่ทำการประเมิน และมีโอกาสเบี่ยงเบนไปตามความรู้สึก (Subjective) ของผู้ประเมิน

ดังนั้น เพื่อช่วยลดข้อจำกัดของระเบียบวิธีที่ใช้ประเมิน และความเบี่ยงเบนในผลการประเมิน การพัฒนาระบบประเมิน ESG โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative) เสริมการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการคำนวณและเปรียบเทียบข้อมูลที่เป็นตัวเลขทางการเงินโดยตรงตามที่ปรากฏ จะให้ผลลัพธ์เดียวกันตามวัตถุประสงค์ (Objective) โดยไม่มีโอกาสผันแปร แม้จะเปลี่ยนผู้ที่ทำการประเมิน

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยการตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อจัดทำชุดข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่อิงกับมาตรฐานสากล และเป็นผู้ริเริ่มการประเมินข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จึงพัฒนาเครื่องมือ ESG Premium ขึ้นมา สำหรับใช้วัดมูลค่าความยั่งยืนของกิจการในเชิงปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลในกระบวนการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์สำหรับการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครื่องมือ ESG Premium ที่พัฒนาขึ้น ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยข้อมูลเชิงปริมาณที่ใช้ประกอบด้วย ยอดการลงทุนสีเขียว (Green Investments) มูลค่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Value) และผลการดำเนินธุรกิจ (Business Conduct) ที่ใช้เกณฑ์อ้างอิงตามมาตรฐาน ISAR ขณะที่ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ใช้

ประกอบด้วย ตัววัดด้าน ESG จำนวน 30 รายการ ที่เป็นไปตาม WFE ESG Metrics ซึ่งสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลกแนะนำให้ใช้ชุดตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นข้อมูลฐาน (Baseline) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้แก่ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ในการคำนวณ ESG Premium จะใช้ข้อมูล ESG Score ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ มาดำเนินการทางคณิตศาสตร์กับข้อมูล ESG Portion ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อหาส่วนล้ำทางมูลค่า (Premium) ในผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ค่า ESG Premium ในการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดจากปัจจัย ESG ในรูปของตัวเลขทางการเงินระหว่างกิจการที่ไปลงทุนได้

ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีตัวเลข ESG Premium อยู่ที่ 6% และบริษัท B มีตัวเลข ESG Premium อยู่ที่ 4% หมายความว่า ในมูลค่าการลงทุน 100 บาท บริษัท A และบริษัท B มีส่วนล้ำทางมูลค่าจากปัจจัย ESG อยู่จำนวน 6 บาท และ 4 บาทตามลำดับ ทำให้ผู้ลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่ยั่งยืน สามารถใช้ตัวเลข ESG Premium พิจารณาเลือกลงทุนในหุ้น A มากกว่าหุ้น B เนื่องจากผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่สะท้อนในผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท A มีมูลค่าที่สูงกว่าบริษัท B

การพัฒนาเครื่องมือ ESG Premium ถือเป็นมิติใหม่แห่งการประเมินมูลค่าความยั่งยืนของกิจการ ที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ในการเปรียบเทียบว่าหลักทรัพย์ตัวใดในพอร์ตการลงทุน ที่ให้ Premium จากปัจจัย ESG ได้สูงกว่าหรือต่ำกว่าหลักทรัพย์ตัวอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถปรับสัดส่วนและน้ำหนักการลงทุนระหว่างหลักทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ต ตามวัตถุประสงค์การลงทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีการดูแลบริหารกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน สามารถนำเครื่องมือ ESG Premium ไปใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ และคัดเลือกหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและตอบสนองต่อเป้าหมายที่กองทุนรวมต้องการบรรลุ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลลัพธ์เชิงบวกจากการลงทุน ทั้งผลจากการบริหารจัดการลงทุนอย่างยั่งยืน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ในการนี้ สถาบันไทยพัฒน์จะจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “ESG Premium : Care to Earn” ในวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ภายใต้งานแถลงทิศทาง “ESG in 2024 and Beyond : Who Cares Earns” ให้แก่องค์กรที่สนใจ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากช่องทางติดต่อของสถาบันไทยพัฒน์