Double Materiality : เรื่องเก่า เล่าใหม่

คอลัมน์ : SD TALK
ผู้เขียน : ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา
GRI Certified Sustainability Professional

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนหลาย ๆ สถาบัน เริ่มพูดถึงแนวคิดการประเมินประเด็นที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนในลักษณะทวิสารัตภาพ หรือ Double Materiality โดยเริ่มมีการพูดถึงแนวคิดดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เมื่อ Global Reporting Initiatives (หรือ GRI) ประกาศการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนใหม่ หรือที่คนในแวดวงความยั่งยืนคุ้นเคยกันดีว่า GRI Standards 2021 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยให้รายงานประเด็นสำคัญที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร (Impact Materiality) และหลังจากนั้นไม่นาน GRI ยังได้เผยแพร่บทความ The Materiality Madness : Why definition matter ที่พูดถึงความสำคัญและการสนับสนุนให้บริษัทประเมินประเด็นสำคัญทั้งด้านการเงิน และประเด็นผลกระทบ (Double Materiality)

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน หลังจากที่ GRI Standards 2021 มีผลบังคับใช้ แบบประเมินความยั่งยืนองค์กร (Corporate Sustainability Assessment หรือ CSA) ของ S&P Global เมื่อปี 2023 ยังปรับคำถามในหมวด Materiality ใหม่ โดยเป็นตามแนวคิด Double Materiality จึงยิ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ และเห็นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว

SD Talk ครั้งนี้จึงจะมาชวนคุยเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของ Double Materiality ค่ะ

Global Reporting Initiatives หนึ่งในมาตรฐานสากลด้านการรายงานเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งได้รับความนิยมจากบริษัททั่วโลกระบุว่า Materiality คือปัจจัยสำคัญสำหรับการรายงาน เปรียบเหมือนตัวกรองข้อมูลเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบว่าประเด็นใดบ้างที่มีความสำคัญ ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจสำหรับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

Advertisment

อย่างไรก็ตาม Materiality ไม่ได้มีความหมายที่ถูกระบุไว้ชัดเจน และอาจแตกต่างไปตามการตีความของแต่ละบุคคลได้ แต่ความสำคัญของ Materiality คือกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียคือใคร เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจด้านการเงิน เช่น นักลงทุน หรือนักการเงินเท่านั้น หรือรวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนเสียกลุ่มอื่น เช่น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชน เป็นต้น

Double Materiality จึงเป็นการประเมินประเด็นที่สำคัญจาก 2 มุมคือ มุมด้านการเงิน (Financial Materiality) และมุมด้านผลกระทบ (Impact Materiality) โดยเมื่อเวลาผ่านไป ประเด็นสำคัญด้านผลกระทบอาจกลายเป็นประเด็นสำคัญด้านการเงินของบริษัทได้

ดังนั้น จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์และความเสี่ยงของประเด็นเหล่านี้ เพื่อสามารถวิเคราะห์และทราบถึงผลกระทบต่อการเงินของบริษัทได้อย่างแท้จริง

แล้วเพราะอะไรผู้เขียนถึงมองว่าเป็นเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่ ?

Advertisment

จากประสบการณ์ทำงานของผู้เขียน พบว่ามีหลาย ๆ บริษัทในประเทศไทยที่ประเมินประเด็นที่สำคัญในลักษณะ Double Materiality มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีการพูดถึงแนวคิดดังกล่าว โดยผู้เขียนพบว่าหลาย ๆ บริษัทเมื่อสอบถามผู้มีส่วนได้เสียถึงความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืนนั้น

มักจะมีการตั้งคำถามในลักษณะที่ว่า “ผู้มีส่วนได้เสียมีความสนใจ (Interest) มีความคาดหวัง (Expectation) หรือมีความกังวลใจ (Concern) ในประเด็นด้าน ESG ใดบ้างต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท”

การตั้งคำถามในลักษณะนี้ สำหรับมุมมองของผู้เขียนสามารถถือได้ว่าเป็นการประเมินประเด็นที่มีผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (สังคมหรือสิ่งแวดล้อม) เพราะหากประเด็นนั้น ๆ ไม่มีผลกระทบต่อตนเอง ผู้มีส่วนได้อาจไม่จำเป็นต้องสนใจ คาดหวัง หรือกังวลใจ เป็นต้น

ดังนั้น หากบริษัทใดยังมีความกังวลใจอยู่ว่าจะประเมิน Double Materiality อย่างไร ขอให้กลับไปตรวจสอบคำถามสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียดูก่อนนะคะ เพราะไม่แน่ว่าท่านอาจเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการประเมินในลักษณะนี้อยู่ก่อนแล้วก็ได้