Market-think : เร็ว-ช้า-หนัก-เบา

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ช่วงแรกที่คุณเศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินสายไปต่างประเทศอย่างถี่ยิบ

เวลาที่มีคนวิจารณ์ว่า นายกฯไปเมืองนอกบ่อย

ผมจะอธิบายในมุมของคนที่ติดตามวิธีคิด-วิธีทำงานของคุณเศรษฐา และพอเข้าใจการเมืองบ้าง

ตอนหาเสียงเลือกตั้ง คุณเศรษฐาประกาศว่า เขาจะเป็นเซลส์แมนประเทศไทย

เดินทางไปต่างประเทศเพื่อช่วยขายสินค้าและดึงการลงทุนเข้าประเทศ

เขาบอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยหายไปจากเรดาร์โลก

ยิ่งเห็นตัวเลข GDP ของไทย หรือการลงทุนจากต่างชาติ เทียบกับประเทศในอาเซียน

จะรู้เลยว่าประเทศอื่นไปไกลมาก

โดยเฉพาะเวียดนาม

ไม่แปลกที่คุณเศรษฐาจะเริ่มงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการเดินสายไปต่างประเทศ

ไปพบผู้นำและนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ

เพื่อดึงการลงทุนเข้าประเทศไทย

เหตุผลที่ต้องเดินสายไปต่างประเทศตั้งแต่วันแรก ๆ ของการทำงาน เพราะเรื่อง “การลงทุน” ใช้เวลาการตัดสินใจนาน

กว่าจะเห็นผลแบบเป็นรูปธรรม มีเม็ดเงินเข้ามาจริง ๆ ต้องใช้เวลา 1-2 ปี

งานแบบนี้เริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี

ส่วนเศรษฐกิจในประเทศก็ให้ความสำคัญกับ “การท่องเที่ยว” เพราะเป็นการดึงเงินจากต่างประเทศที่ง่ายที่สุด

เป็นงาน “ควิกวิน”

แค่ประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวก สร้างกิจกรรมที่น่าสนใจกว่าเดิมก็ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แล้ว

เพราะประเทศไทยมี “จุดแข็ง” เรื่องการท่องเที่ยวมายาวนาน

ช่วงที่ผ่านมาการเดินสายต่างประเทศของคุณเศรษฐา เจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า ไปบ่อยมากจนเกิน “ความพอดี” หรือไม่

ตอนแรกผมก็ช่วยอธิบายในมุมที่เข้าใจ

แต่พอนานวัน ผมกลับเริ่มคล้อยตามเสียงวิจารณ์

เพราะรู้สึกเหมือนกันว่า นายกฯไปต่างประเทศมากเกินไป

อย่าลืมว่า “นายกรัฐมนตรี” คือ ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเพียงแค่งานหนึ่งของนายกฯ

เช่นเดียวกับงานด้านความมั่นคง การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ

ต้องหา “ความพอดี” ให้ได้

แม้เรื่องเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเร่งด่วน

แต่การลงมาลุยในเรื่อง “ระยะยาว” มากไป จะทำให้คนที่ได้รับผลกระทบด้านอื่นเกิดความรู้สึกด้านลบกับนายกฯ

ไม่เชื่อลองถามคนเชียงใหม่ที่เจอ PM 2.5 ในวันนี้ดูสิครับ

เขารู้สึกอย่างไรกับการไปต่างประเทศของคุณเศรษฐา

รู้สึกอย่างไรที่คุณเศรษฐาไปโชว์แฟชั่น “ผ้าขาวม้า” พันคอที่ยุโรป เพื่อโปรโมต “ซอฟต์พาวเวอร์” ของเมืองไทย

แม้โลกวันนี้จะบริหารจากส่วนไหนของโลกก็ได้ แต่การโชว์ตัวให้เห็นตัวเป็น ๆ ในวันที่เขากำลังมีความทุกข์ เป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง

“การเมือง” ไม่ใช่เรื่องของ “เหตุผล” อย่างเดียว

แต่ต้องบริหาร “ความรู้สึก” ของประชาชนด้วย

ไป 3 จังหวัดชายแดนโปรโมตเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่พูดคุยเรื่อง “ความมั่นคง” ที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนในพื้นที่เลย

แม้จะเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจดี จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลง

แต่ผมเชื่อว่าทีมงานความมั่นคงก็รู้ว่าไม่มีทาง

ถ้าไม่แก้ปัญหาทั้ง 2 ด้านพร้อมกัน

วันนี้ คุณเศรษฐาอาจต้องยึดหลักของคุณเทียม โชควัฒนา ของสหพัฒน์

“เร็ว-ช้า-หนัก-เบา”

อะไรควรเร็ว ควรช้า ควรจะหนัก ควรจะเบา

ต้องประเมินให้ดี

สำหรับตอนนี้ ผมคิดว่ากระแสเรื่องการไปเมืองนอกของคุณเศรษฐาจุดติดแล้วครับ

คนเริ่มรู้สึกว่าไปมากเกินไป

เรื่องนี้ต้องระวังให้ดี

คุณเศรษฐาอาจรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่

แต่ในทางการเมือง ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกแบบเดียวกัน
เราก็ต้องปรับโหมดการทำงานใหม่

เพราะการเมืองไทยนั้น “ความเชื่อ” คือ “ความจริง”

บางทีช่วงนี้ คุณเศรษฐาอาจต้องพักการเดินทางไปต่างประเทศไว้ก่อน

เลือกที่ “ช้า” และ “เบา” ลง

ไม่ “เร็ว” และ “หนัก” เหมือนที่ผ่านมา

อาจต้องอยู่เมืองไทยให้มากขึ้น

มีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ “เทกแอ็กชั่น” แบบถึงลูกถึงคนบ้าง

การแอบไปตรวจเยี่ยมสนามบินสุวรรณภูมิแบบไม่บอกล่วงหน้าเป็นเรื่องดี

แต่บางทีก็ควรแอบไปตรวจสถานีขนส่งหมอชิตของ “คนจน” บ้าง

หรือไปแอบดูการดับไฟป่าที่ภาคเหนือของหน่วยงานต่าง ๆ บ้าง

บางครั้ง “ผู้นำ” ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า เรากำลังร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน วันที่เขาเดือดร้อน

ในทางการเมือง เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องจำเป็นครับ

คุณเศรษฐาเคยบอกว่า คนเป็น “ผู้นำ” ต้องฟัง “เสียงที่ไม่อยากได้ยิน” บ้าง

นี่คงเป็น “เสียงที่ไม่อยากได้ยิน” ที่อยากบอกนายกฯเศรษฐาครับ