เหตุผลที่ไม่ทำ

marketthink : สรกล อดุลยานนท์

“วอร์เรน บัฟเฟตต์” เคยบอกว่าเคล็ดลับความสำเร็จของเขา คือ คำว่า “ไม่”

ในฐานะนักลงทุนใหญ่ เขาจะมีบริษัทหรือโครงการที่น่าลงทุนจำนวนมากผ่านตาตลอด

ถ้าดูเผิน ๆ บริษัทต่าง ๆ ล้วนน่าลงทุนด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ “บัฟเฟตต์” จะใช้คาถา “ไม่” ของเขาในการเลือก

ไม่-ไม่-ไม่…

จนกว่าจะเจอบริษัทหรือหุ้นตัวไหนที่ดีจริง ๆ

เขาจึงตอบว่า “ใช่”

เคล็ดลับความสำเร็จของเขา คือ “การรอคอย”

ไม่รีบตัดสินใจเร็วเกินไป

ยอมทิ้งในสิ่งที่ใคร ๆ คิดว่าเป็น “โอกาส” ไปเรื่อย ๆ

จนพบ “โอกาสที่ดีที่สุด” แล้วค่อยตัดสินใจ

ถ้า “บัฟเฟตต์” ไม่มีคาถาคำว่า “ไม่” เป็นคาถาประจำตัว

เขาคงลงทุนแบบลูกปราย

อะไร ๆ ก็ดีไปหมด

แต่เหตุผลที่เขาร่ำรวยขนาดนี้ก็เพราะเขารอคอยและเลือกเก่ง

ยิงลูกโดด ใส่หนัก ๆ กับหุ้นที่เขามั่นใจว่าดี

ผลตอบแทนจึงกลับมามหาศาล

ในมุมนี้คำว่า “ไม่” จึงเป็นคำที่ดี

แต่ในเชิงการบริหาร คำว่า “ไม่” ต้องระมัดระวังในการใช้อย่างมาก

ผมเพิ่งคุยกับนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง

เขาวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นคนชอบหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมโครงการต่าง ๆ จึงทำไม่ได้

เริ่มต้นจาก “ปัญหา” ของตัวเอง

หรือข้อจำกัดในมุมของตัวเองก่อน

แทนที่จะคิดถึง “ปัญหา” ของคนที่เดือดร้อน

และคิดหาทางแก้ปัญหา

แต่ พล.อ.ประยุทธ์มักจะอธิบายเสมอว่าโครงการนี้ทำไม่ได้ เพราะเราไม่มีเงิน

ขึ้นค่าแรงไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน

ช่วยเกษตรกรมากไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน

หรือพอถามว่าทำไมการแก้ปัญหาช้าก็จะอธิบายขั้นตอนการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีการทำงานแบบระบบราชการที่เขาคุ้นเคย

ติดขัดโน่นนี่ตลอด

เป็นเรื่องของกระทรวงนั้น เป็นเรื่องของกระทรวงนี้

จนหลายคนเริ่มสงสัยว่าแล้วเราจะมี “นายกรัฐมนตรี” ไว้ทำไม

ถ้าไม่สามารถสั่งการกระทรวงต่าง ๆ ได้

อีกประโยคหนึ่งที่คุ้นชิน คือ การอธิบายวิธีคิดว่าต้องคิดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คิดทั้งระบบ

เพื่อจะอธิบายว่าที่งานล่าช้าเพราะเหตุนี้

ผมฟังนักธุรกิจใหญ่วิจารณ์อย่างเมามัน

ในใจก็ท่องคาถาของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เป็นระยะ ๆ

ไม่-ไม่-ไม่

ไม่จริง

ผมไม่เห็นด้วยเลย

จริง ๆ นะครับ

นักธุรกิจคนนั้นบอกว่าถ้าเราเป็น “ซีอีโอ” แล้วมอบหมายโครงการอะไรให้ลูกน้องทำ

แต่ลูกน้องเดินมาบอกว่าทำไม่ได้ เพราะอะไรทุกครั้ง

หาเหตุผลที่ไพเราะมาอธิบาย เพื่อที่จะไม่ทำ

แทนที่จะเริ่มต้นคิดว่าเราจะทำโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างไร

หรือถ้ามีปัญหาจริง ๆ ก็ต้องคิดหา “โซลูชั่น” ที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเพื่อให้โครงการเดินไปได้

หรือเสียหายน้อยที่สุด

เราต้องเริ่มต้นคิดก่อนว่าทำได้ และจะทำอย่างไร

“ใช่ไหม” เขาถาม

เขาบอกว่าเราไม่ได้ขอร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์อาสามาเอง

เมื่ออาสาก็ต้องทำให้ได้

พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้อย่างไร

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก็ต้องรับผิดชอบ

ต้องพยายามทำให้ได้

ไม่ใช่หาเหตุผลว่าทำไมถึงทำไม่ได้

เขาย้อนถามซ้ำอีกครั้งว่าถ้าเราเป็น “ซีอีโอ” แล้วลูกน้องทำตัวแบบนี้

พยายามอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้

เราจะทำอย่างไรกับลูกน้อง

…ให้ออกใช่ไหม

หลังจากสวมวิญญาณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์มานาน

ไม่-ไม่-ไม่

อยู่ดี ๆ เหมือนเห็นหุ้น “แอปเปิล” ลอยผ่านมา

ผมพยักหน้า

…ใช่