สรกล อดุลยานนท์ : แสงสว่าง

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
MARKET-think

สรกล อดุลยานนท์

 

เห็นตัวเลขยอดการฉีดวัคซีนของประเทศไทยแล้วเริ่มมี “ความหวัง”

เพราะ “วัคซีน” คือ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ถ้าสามารถฉีดวัคซีนได้ 70% เราจะสามารถเปิดประเทศได้

ตอนนี้ยอดการฉีดวัคซีนพุ่งขึ้นเป็นวันละ 4 แสนกว่าคน

แบบนี้มีหวังครับ

โดยเฉพาะใน กทม. การฉีดวัคซีนคึกคักมาก

ผมเชื่อว่าในเฟซบุ๊กของแต่ละคนจะเต็มไปด้วยเรื่องราวของคนที่ไปฉีดวัคซีน

ขอถ่ายรูปอวดหน่อย

บางคนก็รีวิวผลการฉีดวัคซีนเหมือนรีวิวอาหาร

เรื่องนี้มีผลในทางจิตวิทยามากนะครับ

ถ้ามีเพื่อน ๆ เริ่มรีวิวว่าตัวเองฉีดแล้ว และผลข้างเคียงไม่มากนักเราก็อยากฉีด

มีคิวแล้วก็อยากเร่งให้เร็วขึ้น

ใครที่กลัว ๆ ไม่กล้าฉีดก็จะรีบลงทะเบียนฉีดวัคซีน

ตอนนี้เวลาที่คนเจอกัน คำทักทายจะไม่ใช่ “ไปไหน-สบายดีไหม”

แต่เป็น “ฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง”

ถ้าฉีดแล้วก็จะถามต่อ

“ซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้า”

นึกดูสิครับ ถ้าเรายังไม่ได้ฉีด และเพื่อน ๆ ฉีดแล้ว

เราต้องตอบว่า “ยังไม่ได้ฉีด” บ่อย ๆ

เราจะรู้สึกอย่างไร

จิตวิทยาหมู่แบบนี้จะทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

ถ้า…

…วัคซีนที่สั่งซื้อไม่ขาดตอน

นโยบายของรัฐบาล คือ จะใช้ “แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นวัคซีนหลัก

“ซิโนแวค” เป็นวัคซีนรอง

และตัวอื่น ๆ เป็นวัคซีนทางเลือก

แต่อย่างที่ผมเคยเตือนไว้ว่าระวังเรื่องการผลิตและการส่งมอบของแอสตร้าฯ ในช่วงแรก ๆ

ตอนนี้ก็เริ่มเห็นปัญหาแล้ว เพราะยอดการส่งมอบในเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าจะต่ำกว่าที่สั่งไว้

และมีการเลื่อนการส่งมอบ

การสั่ง “ซิโนแวค” เข้ามาจำนวนมากสะท้อนให้เห็นปัญหาของ “แอสตร้า” ที่อยู่ในเงามืด

จะเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ หรือเป็นปัญหาที่ตั้งใจจะให้เป็นปัญหาเพื่อสั่ง
“ซิโนแวค” หรือเปล่า

ไม่มีใครรู้

แต่ไม่เป็นไรครับ สมมุติว่า “วัคซีน” ไม่ขาดตอน กทม.ที่โหมฉีดวัคซีนกันอย่างหนัก

ตั้งเป้าหมายสิ้นเดือนกรกฎาคมต้องได้ 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรใน กทม.

เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เปิดเมืองได้

ในมุมของคนทำธุรกิจ เราจะปักธงไว้เมื่อไรดี

ถ้าดูจากประสิทธิภาพของวัคซีน

“ซิโนแวค” ต้องหลังฉีดเข็ม 2 ประมาณ 2 สัปดาห์

“แอสตร้าฯ” เริ่มมีผลตั้งแต่เข็มแรก หลังฉีดประมาณ 4 สัปดาห์

ระดมฉีดตั้งแต่มิถุนายน ฉีดครบ 5 ล้านคนสิ้นเดือนกรกฎาคม

ถ้าคิดจากคนที่ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่จะเป็นแอสตร้าฯ

คนที่ฉีดเดือนมิถุนายนจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม

ระยะที่ธุรกิจเริ่มหายใจได้น่าจะเป็นกลางเดือนสิงหาคม

และหายใจเต็มปอดคือต้นเดือนกันยายน

5 ล้านคนมีภูมิคุ้มกัน

ครับถ้าใครยังอึดไหว อึดต่ออีกนิดนึงนะ

ผมชอบประโยคหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวันที่ “คิกออฟ” การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน

เขาบอกว่าวันนี้จะเป็นวันแรกที่เราจะ “ตีโต้” ไวรัสโควิด-19

เห็นภาพเลยครับ

นาน ๆ จะพูดอะไรที่คมคายสักที

ต้องขอชมสักหน่อย

ระหว่างที่ระดมฉีดวัคซีนอยู่นั้น ทีมเศรษฐกิจต้องเอาตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. มาดูให้ละเอียดว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” จะเกิดขึ้นเมื่อไร

เพราะแต่ละคนฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน

เริ่มสื่อสารเพื่อทำให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันว่าถ้าถึงวันนั้นจะเป็นอย่างไร

คนทำธุรกิจจะได้วางแผนได้

พอคนเห็นภาพในอนาคต เขาก็จะมี “ความหวัง”

อย่าลืมว่าคนกรุงนั้นแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนต่างจังหวัด

แต่คนกรุงเสียงดัง

ถ้าทุกคนพูดออกมาในแง่บวก

แรงกระเพื่อมแห่ง “ความหวัง” จะค่อย ๆ กระจายไปทั่วประเทศ

ครับ นานทีจะมี “ความหวัง” กับรัฐบาลชุดนี้สักที

ช่วยออกแรงอีกนิดนะครับ

ไหน ๆ ก็จะไม่ลาออกแล้ว

สงสัยแต่ว่าทำไมต้องรอให้มืดสนิทขนาดนี้

จึงค่อยสร้าง “ความหวัง”