สรกล อดุลยานนท์ : โรงแรม “ระยะยาว”

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

แม้โควิดยังไม่คลี่คลาย แต่ก็มีคนเริ่มคิดถึง “โลกหลังโควิด” ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

อย่าลืมว่าเราอยู่กับ “โควิด” มานานถึงปีครึ่งแล้ว

“โควิด” บังคับให้เราเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนทั้งวิธีคิดและวิถีชีวิต

ใครจะไปนึกว่าโลกที่เราโหยหา คือ ความปกติธรรมดาที่เราเคยชิน

เมื่อวันก่อนที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ให้คนนั่งกินในร้านอาหารได้

เชื่อไหมครับ ว่าคนจำนวนมากยอมให้ทางร้านแหย่จมูกตรวจ ATK เพื่อจะได้นั่งกินในร้าน

เพราะโหยหาการกินอาหารที่ร้าน

เหมือนกับที่คนไทยอิจฉาคนอังกฤษที่ได้ดูฟุตบอลในสนามโดยไม่ต้องใส่หน้ากาก

แค่ไม่ต้องใส่หน้ากากในที่สาธารณะ เราก็มี “ความสุข” แล้ว

ความปกติธรรมดาในอดีตกลายเป็น “ความสุข” ที่เราโหยหา

ผมเชื่อว่าระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่เราต้องปรับตัวรับสถานการณ์โควิดทำให้เรามีมุมมองในชีวิตใหม่

เริ่มรู้สึกว่า “ความตาย” อยู่ใกล้ตัวเรามาก

“โควิด” สอนเรื่อง “มรณานุสติ” ให้เราทุกวัน

ผมไม่กล้าสรุปว่า “โควิด” ทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไปอย่างไร แค่ไหน

แต่เชื่อว่าเปลี่ยนแน่นอน

นอกจากนั้น ช่วงเวลาที่ยาวนานทำให้เราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

เช่น เวิร์กฟรอมโฮม หรือการใช้ zoom ประชุม

ตอนแรกก็ดี แต่ตอนนี้คนทำงานเริ่มโหยหาการกลับไปทำงานมาก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ทำงานที่บ้านนาน ๆ ก็เบื่อเหมือนกัน

อยากเจอเพื่อนร่วมงานแบบตัวเป็น ๆ บ้าง

แต่ขณะเดียวกันการทำงานที่บ้านทำให้เราค้นพบว่าการทำงานแบบนี้มีประสิทธิภาพใหม่บางอย่างเกิดขึ้นเช่นกัน

และรู้ว่าเราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้

“ความเคยชิน” ใหม่นี้เอง น่าจะทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปหลังจากโควิดคลี่คลาย

ยิ่งคนรุ่นใหม่ยิ่งชอบ

ผมเจอน้อง ๆ หลายคนที่เบื่อทำงานที่บ้าน และเลือกไปทำงานในโรงแรมริมทะเล

เช่าห้องพักเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน

บางคนก็ย้ายที่พักไปเรื่อย ๆ

บางคนไปทำงานริมทะเล 1 สัปดาห์ แล้วกลับมาทำงานใน กทม.

พฤติกรรมใหม่เช่นนี้น่าจะเกิดทั่วโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทย

คุยกับ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ครั้งก่อน “เจ้าสัว ซี.พี.” ก็มองแบบนี้
เหมือนกัน

เขาบอกว่า “ลูกค้าใหม่” ที่น่าสนใจของธุรกิจท่องเที่ยว คือ กลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้

โดยเฉพาะพวกสตาร์ตอัพ

นั่งทำงานริมทะเล เท่จะตายไป

เมืองไทยมีเสน่ห์ในเรื่องนี้ ใคร ๆ ก็อยากมา

คุณธนินท์มองว่า ถ้าเราดึงสตาร์ตอัพมาพักระยะยาว นอกจากขายห้องพักได้แล้ว

สตาร์ตอัพ 1 คน ก็ต้องจ้างคนทำงาน จ้างคนขับรถ

เงินเข้าประเทศมากกว่านักท่องเที่ยวธรรมดา

คุณธนินท์มองใหญ่ แต่ผมมองแบบเล็ก ๆ

คิดแทนคนทำโรงแรม

นี่คือ “กลุ่มลูกค้าใหม่” ที่น่าสนใจ

แทนที่จะไปแย่งกลุ่มนักท่องเที่ยวกับโรงแรมอื่น ๆ

ถ้ามีโรงแรมไหนปรับสถานที่รับกลุ่มคนทำงานที่เข้าพักระยะยาว

มี co-working space มีระบบอินเทอร์เน็ตดี ๆ มีห้องประชุมเล็กให้เช่า ฯลฯ

ลองหาข้อมูลว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร

บางทีจะเป็น “โอกาสใหม่” ทางธุรกิจได้

และที่สำคัญ อาจไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติเท่านั้นที่ใช้บริการ

“คนไทย” ที่เคยชินกับระบบการทำงานที่ไหนก็ได้

โดยเฉพาะเจ้าของกิจการ

คนไทยกลุ่มนี้อาจเป็นลูกค้าใหม่ของเราด้วย

ครับ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น

เราภาวนาให้เมืองไทยพ้นจากโควิดก่อนดีกว่า