“ทางลัด” ท่องเที่ยว

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

ไม่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะออกมาดีแค่ไหน

แต่ความรู้สึกของชาวบ้านหรือคนค้าขายรายย่อยกลับสวนทางกับตัวเลข

คนจำนวนไม่น้อยก็งง ๆ กับความรู้สึกย้อนแย้งแบบนี้

“รวยกระจุก-จนกระจาย” คือ คำจำกัดความดีที่สุด

เราเห็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ใกล้ชิดรัฐบาลขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ซื้อ-ซื้อ-ซื้อ ทุกอย่างที่ขวางหน้า

ในขณะที่ตัวเลขหนี้เสียจากธุรกิจเอสเอ็มอียังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อมูลบัญชีเงินฝากจากแบงก์ชาติเมื่อเดือนตุลาคมก็ยิ่งชัดเจน

คนที่มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท

มีประมาณ 1.7% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด

แต่จำนวนเงินรวมกันของคนยอดพิระมิดกลุ่มนี้กลับสูงถึง 9.2 ล้านล้านบาท

จากเงินในบัญชีทั้งหมด 12 ล้านล้านบาท

สรุปง่าย ๆ ว่าคนรวยจำนวน 1.7% ของเมืองไทยมีเงินเท่ากับ 75% ของเงินฝากในเมืองไทย

ในขณะที่คนไทยอีก 98% มีเงินฝากรวมกันแค่ 25%

…น่ากลัวไหมครับ

ผมเชื่อว่ารัฐบาลก็รู้ดีว่าสภาพเศรษฐกิจเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

ช่องว่างระหว่าง “คนรวย-คนจน” ถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

และถ้าปล่อยต่อไปนานเข้าจะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหม่

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จะลงมาเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ยิ่งตอนนี้เขาได้อำนาจเต็มมือ

เป็น “ขุนพลเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลอย่างเต็มตัว

กลไกแรกที่ “สมคิด” เข้ามาเร่งการกระจายรายได้ ก็คือ การท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

จาก “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” เป็น “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์”

แนวคิดของ “สมคิด” กับ “วีระศักดิ์” คล้ายกัน

นั่นคือ การเร่งกระจายรายได้เข้าชุมชน

รายได้จากการท่องเที่ยวนั้นคิดเป็น 20% ของ GDP

เป็นเครื่องจักรที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกระจุกในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ เช่น กทม. เชียงใหม่ และภูเก็ต

รายได้ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ

ทั้งที่นักท่องเที่ยวต้องการสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ

และทุกคนมีเงินเตรียมจ่าย

ขอเพียงให้มีสินค้าที่เขาพอใจเท่านั้นเอง

แนวคิดเรื่องการแก้ไขการเหลื่อมล้ำ

ด้านการท่องเที่ยวของ “วีระศักดิ์” เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง “สมคิด” ก็เห็นด้วย

เขาบอกว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ คือ จากเมืองท่องเที่ยวหลักไปเมืองท่องเที่ยวรอง จะช้าเกินไป

แก้ปัญหาที่เป็นอยู่ไม่ทันท่วงที

ต้องมี “ทางลัด”

แค่แนวคิดของรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีที่คุมการท่องเที่ยวคิดตรงกัน

ผมเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะกลายเป็นจริงไม่ยาก

เพราะหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยเก่งมากนะครับทั้งภาครัฐและเอกชน

ต่อให้การเมืองไทยปั่นป่วนเพราะ “ม็อบ” หรือการรัฐประหาร ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่ตกลง

มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาของวันนี้ต้องดูตัวเลขให้ละเอียดขึ้น

จะดู “ตัวเลขรวม” จำนวนนักท่องเที่ยว หรือ เงินที่ใช้จ่ายในประเทศเหมือนในอดีตอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

ต้องเข้าไปดูละเอียดลึกลงไปว่าเงินก้อนนี้ได้กระจายไปจังหวัดต่าง ๆ และกระจายไปถึงมือชาวบ้านหรือไม่

เพราะปัญหาของเมืองไทยวันนี้คือ “รวยกระจุก จนกระจาย”

GDP ขึ้นมาเท่าไรก็ไม่ทำให้เศรษฐกิจแท้จริงดีขึ้น

รัฐบาลต้องทำให้ GDP กระจายไปหาคนไทยมากที่สุด

เพราะถ้าเงินในกระเป๋าชาวบ้านไม่เพิ่ม

เศรษฐกิจก็ไม่มีวันดี